กองกิจการนักศึกษา มหิดล
การดูแลตนเอง (self-care)
การจัดการความเครียด (Stress management)
- ความเครียด เป็นการตอบสนองต่อร่างกายที่มากระตุ้น มีผลให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสรีรวิทยา ในลักษณะสู้หรือหนี (Fight or flight) เพื่อรักษาภาวะสมดุล ซึ่งแต่ละคนตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสิ่งแวดล้อม
- ปฏิกิริยาเครียดและวิธีการจัดการ
ปฏิกิริยาเครียด |
วิธีการจัดการ |
ขั้นที่ 1 มีความเครียดต่ำๆ การรับรู้ดี ตื่นตัว มีการแสดงออกทางบวก กระตือรือร้น | รักษาระดับความเครียดต่ำไว้ ไม่เพิ่มตัวกระตุ้น หรือสิ่งที่จะทำให้เครียดเพิ่มมากขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอและระบายออกอย่างเหมาะสม |
ขั้นที่ 2 เริ่มพลังถดถอย เครียด ปวดศีรษะ มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน | พยายามรู้เท่าทัน เลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เครียด พูดคุยกับคนรอบข้าง ช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้น โดยทำกิจกรรมที่ชอบเพื่อให้อาการเหล่านั้นลดลง หรือใช้เทคนิคการผ่อนคลาย |
ขั้นที่ 3 เพิ่มมีปฏิกิริยาตอบสนองที่ไม่เหมาะสม หงุดหงิด วิตกกังวล สมาธิไม่ดี กลัวอะไรที่บอกไม่ได้ เริ่มต่อต้าน | สังเกต และพยายามควบคุมอาการ หรือลดอาการลง ถ้าไม่ดีขึ้นควรพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยเหลือต่อไป |
ขั้นที่ 4 ฮอร์โมน adrenaline หลั่ง ใจเต้นแรงและเร็ว เหงื่อออกชุ่ม ตัวสั่น อ่อนล้า ในที่สุดควบคุมอารมณ์ไม่ได้ | ควรพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมิน อาจต้องใช้ยา ควบคู่กับการบำบัดทางจิตใจ หรือฝึกการผ่อนคลายความเครียด |
ขั้นที่ 5 หมดความอดทน (burn out) รู้สึกด้อยค่า ขมขื่น ไร้ความสามารถ มีอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ หอบหืด ใจสั่น เจ็บหน้าแก ความดันโลหิตสูง ท้องผูก ท้องเสีย | จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา รวมถึงฟื้นฟูสภาพจิตใจ |
- วิธีการจัดการความเครียด
วิธีการ |
ตัวอย่าง |
ด้านความคิด | ปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ |
ด้านอารมณ์ | หาคนให้กำลังใจ สนับสนุน เป็นที่ปรึกษา สร้างอารมณ์ขัน |
ด้านพฤติกรรม | เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อลดความเครียด เช่น บริหารจัดการเวลาให้ดี |
ด้านร่างกาย | ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อน ฝึกการผ่อนคลาย นั่งสมาธิ หรือกินยาตามแพทย์สั่ง |
ดนตรีบำบัด (music therapy)
- ดนตรีบำบัด (music therapy) คือ ?
การใช้กิจกรรมทางดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการฟังหรือเล่นดนตรี การร้องเพลง แต่งเพลง เพื่อบำบัดความเจ็บป่วย ฟื้นฟูสภาพร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญา
- ดนตรีเป็น “mind medicine”
ธรรมชาติของดนตรีที่ไร้พรมแดน มีได้หลากหลายรูปแบบ ทำให้เข้ากับคนได้อย่างไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชาติและศาสนา ดนตรีช่วยในการรักษาปัญหาทางร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าท่านจะฟังดนตรีประเภทใด
ดนตรีกระตุ้นสมองเกือบทุกส่วน เช่น ส่วน auditory (การได้ยิน), motor cortex (เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของแขน ขา ใบหน้า) limbic system (อารมณ์ จิตใจ การตระหนักรู้ ความเข้าใจ และความจำ)
- ดนตรีบำบัดช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น
- ช่วยเพิ่มความมั่นใจและการกล้าแสดงออก
- ช่วยในการฝึกควบคุมอารมณ์ของตนเอง
- ช่วยให้เกิดจินตนาการ และการฝึกคิดวิเคราะห์
- ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ
- ช่วยผ่อนคลายทางด้านจิตใจ
- การใช้ดนตรีบำบัดจะให้ผลดีมากน้อยเพียงใด
ขึ้นอยู่กับความชอบดนตรี และสภาวะทางร่างกายและจิตใจของแต่ละบุคคล ซึ่งมีความแตกต่างกัน ทำให้การตอบสนองต่อการใช้ดนตรีบำบัดแตกต่างกันไปด้วย
เอกสารอ้างอิง :
“ดนตรีบำบัด” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. จิรภรณ์ อังวิทยาธร คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
ฟังดนตรีบำบัด
- ดนตรีที่ช่วยผ่อนคลาย (relaxing music)
- ดนตรีที่ช่วยในการทำสมาธิ (meditation music)
- ดนตรีที่ช่วยให้หลับ (sleeping music) **เหมาะสำหรับการนอนในเวลากลางคืน**
การนอนงีบ (napping)
- การนอนงีบ (napping)
การนอนหลับในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อชดเชยเวลานอนไม่เพียงพอ หรือรู้สึกง่วงระหว่างเวลาตื่น ซึ่งการนอนงีบจะช่วยเพิ่มพลังให้กับสมอง และระบบภายในร่างกายของเรา ทำให้รู้สึกตื่นตัวได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดความตึงเครียด ทำให้จิตใจสดชื่นแจ่มใส ก็จะกลับมาเป็นปกติ
- ประโยชน์ของการงีบ
- ผ่อนคลาย
- ปรับอารมณ์
- ลดความเหนื่อยล้า
- เพิ่มความกระฉับกระเฉง
- เพิ่มการตอบสนองที่เร็วขึ้น
- ทำให้ความจำดีขึ้น
- เมื่อไรที่ควรงีบ
- รู้สึกพักผ่อนไม่เพียงพอ
- รู้สึกเหนื่อยล้าติดต่อกันมานาน
- วิธีที่ดีที่สุดในการ “งีบ”
- ใช้เวลานอน เพียงแค่ 10-20 นาที
- (การใช้เวลานอนมากกว่านี้ เช่น 30 นาที หลังจากตื่นขึ้นมาแล้ว จะมีอาการมึนงง ร่างกายยังคงง่วงอยู่ หรือบางคน)อาจจะรู้สึกปวดหัวเล็กน้อยด้วย
- นอนในช่วงบ่าย (หากนอนหลัง 15.00 น. อาจมีผลกระทบต่อการนอนหลับในเวลากลางคืนได้)
- นอนในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น มืด เงียบ ไร้สิ่งรบกวน อากาศปลอดโปร่ง
Napping Music
การเมตตากรุณาต่อตนเอง (Self-compassion)
“ไม่ต้องใจร้ายกับตัวเองมากนักก็ได้นะ”
self compassion นี้ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ ๆ คือ
- ใจดีกับตัวเราเอง (self kindness) คือ การที่เราปฏิบัติกับตัวเราเอง เหมือนกับที่เราปฏิบัติกับเพื่อนที่เรารัก คนหนึ่ง หลายครั้งเวลาที่เพื่อนเราทุกข์ หรือทำอะไรผิด เราพร้อมที่จะให้ยกโทษให้ บอกว่าไม่เป็นไร และให้กำลังใจ แต่กับตัวเราเองบางครั้งก็เป็นการยากเหลือเกิน ที่เราจะบอกคำว่า “ไม่เป็นไร” กับตัวเรา
- เห็นความเป็นมนุษย์ในตัวเรา (common humanity) ความเป็นมนุษย์ในที่นี้ หมายถึง ความไม่สมบูรณ์แบบ (to be imperfect) เพราะบนโลกใบนี้ไม่มีทุกคนสมบูรณ์แบบ และทุกคนเคยมีทำผิดพลาด หรือมีข้อผิดพลาด
หากเราเห็นได้ว่า ความผิดพลาด หรือความไม่สมบูรณ์แบบนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องมี เวลาที่เราทุกข์ หรือเรารู้สึกว่าเราไม่ดีพอ หากเรายอมรับความจริงได้ ใจเราก็จะสบายขึ้นไม่น้อย
- การมีสติรู้อยู่กับปัจจุบัน (mindfulness) การมีสติ คือการกลับมาตระหนักรู้อยู่กับกายใจในปัจจุบันขณะ ทำให้เราเห็นได้ว่า ความทุกข์ที่ผ่านเข้ามา เป็นเพียงสิ่งที่ผ่านมา และผ่านไป หลายครั้งความทุกข์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เราทุกข์ คือ ความคิดของเราที่วนเวียนอยู่กับเรื่องที่ทำให้เราทุกข์อยู่อย่างนั้น เช่น เราถูกคนอื่นต่อว่าเมื่อวานนี้ เรื่องที่เค้าต่อว่ามันก็จบไปตั้งแต่เมื่อวานนี้ แต่สิ่งที่ทำให้เราทุกข์ เพราะว่า เรายังคิดถึงเรื่องนั้นซ้ำไปซ้ำมา คนอื่นว่าเราครั้งเดียว แต่ที่เหลือเป็นครั้งที่ฉายภาพนั้นซ้ำไปซ้ำมาในหัวเรา