COVID-19
ดูแลตนเองอย่างไร ?
รศ.นพ.ธีระศักดิ์ แก้วอมตวงศ์ สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชาอายุรศาตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายให้ฟังว่า " ภาวะ Long Covid " เป็นอาการต่อเนื่องหรืออาการที่หลงเหลือหลังจากติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งแม้จะรักษาหายไปแล้ว ไม่มีไวรัสในร่างกายแล้ว แต่ผู้ป่วยก็ยังรู้สึกว่าร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนเดิม แม้จะทิ้งช่วงเวลานานหลายสัปดาห์ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกันไป เช่น อ่อนเพลียเหนื่อยล้า, หายใจไม่อิ่ม, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดข้อ, ไอ, ปวดหัว, นอนไม่หลับ, เจ็บหน้าอก, ท้องเสีย, ผมร่วง และการรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง เป็นต้น
นอกจากนี้อาการ Long Covid ยังส่งผลกระทบกับสภาพจิตใจผู้ป่วย โดยพบว่าบางรายมีความเครียดวิตกกังวล สมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่อในสิ่งที่ทำได้เหมือนเดิม หรือมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะพบอาการ Long Covid นั้นสามารถพบได้ทุกกลุ่มวัย แต่สำหรับในรายที่มีโรคประจำตัวแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน อาการเหล่านี้อาจจะกำเริบได้ ส่งผลทำให้มีอาการภาวะ Long Covid นานกว่าคนอื่น
“เชื้อโควิด-19 เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไม่ได้ทำลายเฉพาะแค่ปอดเท่านั้น แต่มันไปยังเข้าไปทำลายอวัยวะสำคัญต่างๆ ด้วย เช่น ระบบประสาทและสมอง ระบบหัวใจ ระบบไหลเวียนเลือด การทำงานของตับและไต ซึ่งหากเกิดขึ้นที่สมองก็จะทำให้รู้สึกมึนหัว คิดช้า อ่อนเพลียไม่มีแรง โดยภาวะ Long Covid อาจจะเกิดขึ้นได้หลังจากการรักษาโควิดหายไปแล้ว 4-12 สัปดาห์ โดยอาการเกิดได้ตั้งแต่ศรีษะจรดเท้า มีทั้งเบาๆ ปวดเมื่อยไปจนถึงขั้นหายใจลำบากเพราะปอดถูกทำลาย ซึ่งผู้ป่วยทุกกลุ่มมีความเสี่ยงทั้งสิ้น และมีโอกาสเจอภาวะ Long Covid ได้ถึง 30 - 70% เลยทีเดียว” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กล่าว
สำหรับแนวทางการปฏิบัติเพื่อลดภาวะ Long Covid รศ.นพ.ธีระศักดิ์ แนะนำว่า
1. หากมีอาการผิดปกติให้พบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง อย่าเพิ่งไปสรุปว่าเป็น Long Covid เนื่องจากบางรายอาจเป็นผลจากตัวยาที่ใช้ในการรักษา หรือบางรายอาจจะมีโรคอื่นอยู่ก่อนแล้ว เช่น เบาหวาน จึงต้องมีการตรวจเพิ่มเติมและทำการรักษาอาการให้ตรงจุด
2. ควรวางแผนรับการฉีดวัคซีน เพราะหลังจากหายจากโควิดแล้ว แม้ร่างกายจะมีภูมิต้านทานแต่ผ่านไประยะหนึ่งจะค่อยๆ ลดลง จึงควรฉีดวัคซีนเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อซ้ำ
3. ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด เช่น ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% และไม่ไปในแหล่งชุมชนแออัด ผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 แล้ว ควรให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองเพื่อฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรง โดยเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และหากมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ สสส. และภาคีเครือข่าย ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านช่วงสถานการณ์โควิด-19 ไปได้อย่างปลอดภัย
โดย รศ.นพ.ธีระศักดิ์ แก้วอมตวงศ์
สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต
ภาควิชาอายุรศาตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล