กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.)
ด้วยรัฐบาลมีนโยบายในการลดข้อจำกัดของการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาชั้นสูง คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 ให้ดำเนินการโครงการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต(กรอ.) ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 โดยให้ทุนการศึกษาแบบต้องใช้คืนสำหรับนิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาชั้นสูง และเพิ่มความช่วยเหลือเป็นค่าครองชีพระหว่างศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ที่ศึกษาในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาชั้นสูงในหลักสูตร สาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักและมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและให้ผู้รับทุนเริ่มใช้คืนเงินกู้ โดยจะยึดโยงกับความสามารถในการหารายได้ในอนาคต
คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์กู้ยืมเงิน
1) ผู้ขอรับทุนต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(1) มีสัญชาติไทย
(2) อายุไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 มกราคม 2557
(3) มิได้เป็นผู้รับทุนรายเก่าของกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต(กรอ.)
(4) เป็นนิสิตหรือนักศึกษารายใหม่ที่ขอรับทุนเพื่อเข้าศึกษาในชั้นปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2556 ที่มิใช่ผู้กู้ยืมเงินรายเก่าของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) หรือเป็นนิสิตหรือนักศึกษาที่เป็นผู้กู้ยืมเงินรายเก่าของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ที่เปลี่ยนระดับจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าทั้งสายสามัญและสายอาชีพเป็นระดับอาชีวศึกษาชั้นสูงหรือเทียบเท่าระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า ในปีการศึกษา 2556
(5) เป็นนิสิตหรือนักศึกษาในสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนในระดับการศึกษาระดับอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) หรือเทียบเท่าระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตอบรับให้เข้าศึกษา โดยผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
2) นิสิตหรือนักศึกษาผู้มีสิทธิขอรับทุนจะต้องศึกษาอยู่ในสถานศึกษาที่มีรายชื่อเข้าร่วมโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคตตามประกาศของสำนักงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
3) นิสิตหรือนักศึกษาผู้มีสิทธิขอรับทุนจะต้องศึกษาในระดับการศึกษาและหลักสูตร/ประเภทวิชาและสาขาวิชา ดังนี้
(1) ระดับการศึกษา ระดับอนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) หรือเทียบเท่า ระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(2) หลักสูตร/ประเภทวิชาและสาขาวิชา เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกองทุนเพื่อการศึกษา เรื่อง กำหนดหลักสูตร/ประเภทวิชาและสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักและมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคน สำหรับนิสิตหรือนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการปีการศึกษา 2556 พ.ศ. 2556
4) นิสิตหรือนักศึกษาสามารถขอรับทุนได้เพียงหนึ่งหลักสูตรในแต่ละปีการศึกษาไม่เกินอัตราค่าเล่าเรียนที่สถานศึกษาเรียกเก็บ ตามจำนวนปีที่กำหนดไว้แต่ละหลักสูตรกรณีที่ผู้ขอรับทุนมีสิทธิเบิกค่าเล่าเรียนจากหน่วยงานของรัฐให้ผู้ขอรับทุนขอรับทุนได้เฉพาะค่าเล่าเรียนส่วนต่างเท่านั้น ทั้งนี้ ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนด
5) นิสิตหรือนักศึกษาที่มีสิทธิได้รับค่าครองชีพ ต้องเป็นผู้มีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี และให้ได้รับค่าครองชีพในอัตราเดือนละ 2,200 บาท
การพิจารณารายได้ครอบครัว ให้ผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณากลั่นกรองข้อมูลตามหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) รายได้รวมของนิสิตหรือนักศึกษาผู้ขอรับทุนรวมกับรายได้ของบิดาและมารดากรณีที่บิด มารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองไม่ใช่บิดา มารดา
(2) รายได้รวมของนิสิตหรือนักศึกษาผู้ขอรับทุนรวมกับรายได้ของผู้ปกครองในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองไม่ใช่บิดา มารดา
(3) รายได้รวมของนิสิตหรือนักศึกษาผู้ขอรับทุนรวมกับรายได้ของคู่สมรสในกรณีที่ผู้ขอรับทุนสมรสแล้ว
6) นิสิตหรือนักศึกษาผู้ใดประสงค์จะขอรับทุนให้ยื่นคำขอกู้ผ่านระบบที่สำนักงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจัดทำไว้ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่คณะกรรมการจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
7) กองทุนเพื่อการศึกษา จะจ่ายทุนการศึกษาแบบต้องใช้คืนให้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) ค่าเล่าเรียน จ่ายให้สถานศึกษาที่ผู้รับทุน(ผู้กู้ยืมเงิน)โดยตรงโดยโอนเข้าบัญชีชื่อ “กรอ.(ระบุชื่อสถานศึกษา)” ของกองทุนเพื่อการศึกษา กระทรวงการคลัง ตามประกาศคณะกรรมการกองทุนเพื่อการศึกษาเรื่อง การกำหนดหน้าที่ วิธีปฏิบัติ และความรับผิดชอบของสถานศึกษาที่เข้าร่วมกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต(กรอ.) ปีการศึกษา 2555 พ.ศ. 2555
(2) ค่าครองชีพ จ่ายให้นิสิตหรือนักศึกษาที่มีสิทธิได้รับค่าครองชีพผู้รับทุน(ผู้กู้ยืมเงิน) โดยโอนเข้าบัญชีของผู้รับทุน(ผู้กู้ยืมเงิน) ตามที่ได้แจ้งให้แก่กองทุนเพื่อการศึกษา
ขั้นตอนการขอกู้ยืม กรอ.
นักเรียน/นักศึกษา ต้องยื่นขอกู้ยืมผ่านระบบ e-studentloan ทาง www.studentloan.or.th ตามปฏิทินเวลาที่กองทุนฯ กำหนด โดยต้องดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
1) นิสิต นักศึกษาตรวจสอบคุณสมบัติและสาขาวิชาที่สามารถกู้ยืมเงินกองทุน กรอ. ในประกาศสาขาวิชาที่เป็น
ความต้องการหลัก และมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนทางเว็บไซต์ของกองทุนฯ
2) นักเรียน/นักศึกษาลงทะเบียนรับรหัสผ่าน นักเรียน/นักศึกษาที่มีความประสงค์ขอกู้ยืมสามารถลงทะเบียนเพื่อรับรหัสผ่านในระบบ e-studentloan โดยกองทุนจะนำข้อมูลที่ได้ไปตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นกับกรมการปกครอง หลังจากนักเรียน/นักศึกษาลงทะเบียนรับรหัสผ่านแล้วต้องรอประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อที่กองทุนนำข้อมูลที่ได้ไปตรวจสอบกับกรมการปกครองถึงจะทำขั้นตอนที่ 3 ได้
3) นักเรียน/นักศึกษายื่นแบบคำขอกู้ยืมเงิน นักเรียน/นักศึกษายื่นแบบคำขอกู้ยืมเงินกองทุน กรอ. ผ่านทางระบบ e-studentloan พร้อมพิมพ์แบบคำขอกู้ยืม และแนบเอกสารประกอบเพื่อส่งให้กับสถานศึกษาที่ตนเองจะเข้าศึกษา
4) สถานศึกษาสัมภาษณ์ และคัดเลือก คณะกรรมการของสถานศึกษาจะเรียกนักเรียน/นักศึกษาสัมภาษณ์ และตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อพิจารณาคำขอกู้ยืมเงิน และอนุมัติสิทธิ์การให้กู้ยืม
5) สถานศึกษาบันทึกกรอบวงเงิน(กรณีอนุมัติ) ผู้ปฎิบัติงานกองทุนของสถานศึกษาบันทึกกรอบวงเงินค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ในแต่ละภาคการศึกษาของผู้ขอกู้ยืมเงินเป็นรายคน แต่เมื่อรวมจำนวนทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินขอบเขตตามที่กองทุนกำหนด ผ่านทางระบบ e-studentloan
6) สถานศึกษาประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์กู้ยืมเงิน ผู้บริหารของสถานศึกษาประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์กู้ยืมเงินผ่านทางระบบ e-studentloan และปิดประกาศให้นักเรียน/นักศึกษาทรบผลการอนุมัติ
7) นักเรียน/นักศึกษาตรวจสอบผลการอนุมัติ นักเรียน/นักศึกษาตรวจผลการอนุมัติจากประกาศของสถานศึกษา หรือตรวจผลการพิจารณาอนุมัติผ่านทางระบบ e-studentloan
8) นักเรียน/นักศึกษาเปิดบัญชีธนาคาร นักเรียน/นักศึกษาเปิดบัญชีออมทรัพย์ ณ สาขาของธนาคารกรุงไทยหรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยที่ตนเองประสงค์จะใช้บริการ ถ้ามีบัญชีออมทรพัย์ธนาคารกรุงไทยหรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยที่สามารถใช้งานได้อยู่และประสงค์จะใช้ก็ไม่ต้องเปิดบัญชีใหม่
9) นักเรียน/นักศึกษาทำสัญญากู้ยืมเงิน นักเรียน/นักศึกษาบันทึกข้อมูลในสัญญาผ่านทางระบบ e-studentloan และพิมพ์สัญญา 2 ชุด และจัดหาเอกสารประกอบสัญญาพร้อมลงลายมือชื่อให้ครบถ้วนแล้วนำส่งสถานศึกษาที่ตนเองศึกษา
10) สถานศึกษาตรวจสอบสัญญากู้ยืมเงิน ผู้บริหารของสถานศึกษาตรวจสอบสัญญาของผู้กู้ยืมเงิน ถ้าสัญญาถูกต้องและเอกสารประกอบครบถ้วนแล้ว ให้ยืนยันผลการตรวจสอบผ่านทางระบบ e-studentloan
11) ผู้กู้ยืมบันทึกจำนวนเงินค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ตามที่สถานศึกษาเรียกเก็บจริง ผ่านระบบ e-Studentloan
12) กองทุนฯ ยืนยันค่าครองชีพให้กับผู้ที่ขอรับทุนค่าครองชีพ
13) สถานศึกษาลงทะเบียนค่าเล่าเรียน ผู้ปฏิบัติงานกองทุนของสถานศึกษาบันทึกเงินค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาของภาคเรียนนั้น ๆ ตามที่ผู้กู้ยืมเงินขอกู้จริงแต่ไม่เกินจำนวนเงินที่บันทึกกรอบวงเงินไว้ พร้อมพิมพ์ใบลงทะเบียนให้ผู้กู้ยืมเงินตรวจสอบความถูกต้องและลงนามในเอกสาร
14) นักเรียน/นักศึกษายืนยันจำนวนเงินกู้ยืมในแบบลงทะเบียนค่าเล่าเรียน นักเรียน/นักศึกษาตรวจสอบความถูกต้องและลงนามในเอกสารแบบลงทะเบียนค่าเล่าเรียน
15) สถานศึกษาตรวจสอบใบลงทะเบียน ผู้บริหารของสถานศึกษาตรวจสอบใบลงทะเบียนของผู้กู้ยืมเงินผ่านทางระบบ e-studentloan
16) นักเรียน/นักศึกษารับเงินกู้ยืมค่าครองชีพ(สำหรับผู้ที่ขอรับทุนค่าครองชีพ)
17) สถานศึกษารวบรวมเอกสารสัญญาฯ และเอกสารประกอบ สถานศึกษารวบรวมสัญญา แบบลงทะเบียน และเอกสารประกอบของผู้กู้ยืมเงินในภาคการศึกษานั้น ๆ
18) สถานศึกษาจัดทำใบนำส่งเอกสารสัญญา กรอกข้อมูลในใบนำส่งเอกสารสัญญาแล้วให้ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อ (ห้ามใช้ตรายางลายมือชื่อ) พร้อมประทับตราสถานศึกษา
19) สถานศึกษานำส่งเอกสาร รวบรวมเอกสารเพื่อนำส่งธนาคารกรุงไทย / ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
ผู้ค้ำประกันในสัญญากู้ยืมเงิน
1. บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
2. กรณีบิดามารดาเสียชีวิต ให้ผู้ปกครองที่รับอุปการะเลี้ยงดูลงนามแทน
3. บุคคลที่ประกอบอาชีพมีรายได้น่าเชื่อถือ
4. กรณีคู่สมรสของผู้ค้ำประกันไม่ให้ความยินยอมให้ผู้ค้ำประกันลงนามฝ่ายเดียวได้
5. กรณีไม่มีบุคคลค้ำประกัน ให้ใช้หลักทรัพย์แทน
การลงนามค้ำประกันในสัญญากู้ยืมเงิน
ให้ผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อค้ำประกันในสัญญากู้ยืมต่อหน้าสถานศึกษา หากผู้ค้ำประกันมีที่อยู่ห่างไกลจากสถานศึกษาให้จัดส่งสัญญาให้ผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อค้ำประกันได้ และต้องให้เจ้าพนักงานทะเบียนท้องที่ (อำเภอ) หรือเจ้าพนักงานทะเบียนท้องถิ่น (เทศบาลหรือสำนักงานเขต) ในเขตพื้นที่ที่ผู้ค้ำประกันอาศัยอยู่ ลงนามรับรองลายมือชื่อของผู้ค้ำประกัน
ขอบเขตการให้กู้ยืมเงิน
ระดับอนุปริญญาและปริญญาตรี หน่วย:บาท/ปีการศึกษา
กลุ่มสาขาวิชา |
อัตราสูงสุด |
สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มุนษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์
ศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกษตรศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ แพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ |
60,000 70,000 70,000 70,000 90,000 200,000 |
ระดับ ปวส. หรือเทียบเท่า หน่วย:บาท/ปีการศึกษา
|
เรื่องอื่นที่ควรถือปฏิบัติ
(1) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมตรงกับความเป็นจริง
(2) ปฎิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วย การบริหารกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตลอดจนข้อบังคับ ประกาศ หลักเกณฑ์ และวิธีการของคณะกรรมการตลอดระยะเวลาที่ขอรับทุน
(3) ดำเนินการเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง และต้องเก็บรักษารหัสผ่านที่ได้รับจากกองทุนเพื่อการศึกษาไว้เป็นความลับ หากผู้ใดยินยอมให้บุคคลอื่นดำเนินการเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แทน ให้ถือว่าเป็นการดำเนินการด้วยตนเอง
(4) แจ้งการเปลี่ยนชื่อ ย้ายที่อยู่หรือย้ายสถานศึกษา และจบการศึกษา หรือพ้นสภาพการเป็นนิสิตหรือนักศึกษา ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเปลี่ยนชื่อ ย้ายที่อยู่ ย้ายสถานศึกษา จบการศึกษา หรือพ้นสภาพการเป็นนิสิตหรือนักศึกษา ต่อผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม
(5) แจ้งสภาพการเป็นนิสิตหรือนักศึกษาทุกปีที่ผู้รับทุน(ผู้กู้ยืมเงิน)ไม่ได้รับทุนแต่ยังศึกษาอยู่ ต่อผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม
(6) หน้าที่อื่น ตามที่คณะกรรมการกำหนด