การจำแนกเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย โดยใช้ภาพถ่ายของเมล็ดพันธุ์ข้าว ด้วยวิธีการแบบ Mask R – CNN และ Transfer Learning
October 24, 2019
Medical Modeling and Simulation to Develop a Stochastic Cellular Automaton Model: Effects of Cell – Mediated Immunity to Eradicate HIV – 1 Infection
October 24, 2019

การพัฒนาหลักสูตรสำหรับการอบรมออนไลน์ ในโครงการ Coding Thailand

การพัฒนาหลักสูตรสำหรับการอบรมออนไลน์ ในโครงการ Coding Thailand

สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลงานวิจัย:

การพัฒนาหลักสูตรสำหรับการอบรมออนไลน์ ในโครงการ Coding Thailand

ผู้วิจัย:

ผศ. ดร.น้ำค้าง ศรีวัฒนาโรทัย

โครงการ Coding Thailand เป็นโครงการแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับประเทศ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมมือกับ Code.org องค์กรไม่แสวงหากำไรจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ในรูปแบบออนไลน์ชั้นนำระดับโลก พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชน อาทิ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) รวมถึงพันธมิตรภาคการศึกษา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมถึง มหาวิทยาลัยมหิดล ในการบูรณาการความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านวิทยากรคอมพิวเตอร์ แก่บุคลากร และกำลังคนของประเทศ

หนึ่งในพันธกิจหลักของไมโครซอฟท์ คือ ต้องการเป็นกำลังสำคัญให้กับทุกคนบนโลกใบนี้ ซึ่งรวมถึงความตั้งใจที่จะส่งเสริมเยาวชนทั่วโลก รวมถึงเยาวชนไทย ให้มีทักษะทางดิจิทัล เพื่อให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ และก้าวข้ามขีดจำกัดในยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลได้ โดยความร่วมมือในโครงการ Coding Thailand ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล็งเห็นความสำคัญของครูผู้สอน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยจัดให้มีการนำ Microsoft Team ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นสนทนาแบบกลุ่ม สำหรับการทำงานยุคดิจิทัลที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันบนแพลตฟอร์ม Office 365 ของไมโครซอฟท์ มาช่วยเชื่อมโยงคุณครู ที่ไม่สามารถเดินทางมาเรียนแบบ face – to – face ได้ ให้ได้เรียนรู้ และรับคำแนะนำเชิงลึกในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับครูผู้สอน จากผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เกิดจากการรวมตัวกันของคณาจารย์สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ จำนวน 5 คน ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ทั้งวิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี หลักสูตร และการจัดการเรียนรู้ เป็นทีมวิจัย MUIL CT Team ประกอบด้วย (1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.น้ำค้าง ศรีวัฒนาโรทัย (2) ดร.ปรเมศวร์ เหล่าสินชัย (3) ดร.พัชรพรรณ ศิริวัฒน์ (4) ดร.วรารัตน์ วงศ์เกี่ย และ (5) ดร.อาทร นกแก้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาหลักสูตรสำหรับการอบรมออนไลน์ และทำวิจัยเพื่อค้นหากระบวนการ รูปแบบ หรือวิธีการที่เหมาะต่อการพัฒนาแนวคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) ทั้งในครูและนักเรียน

เหตุที่ทีมเราสนใจทำวิจัยทางด้านแนวคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking; CT) นั้น เป็นเพราะเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิต หรือแม้แต่งานที่จำเป็นจะต้องมีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเกี่ยวข้อง ทีมต้องการพัฒนาคนที่สามารถคิดเป็นระบบ มีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และนำกระบวนการคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเหล่านี้ มาใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ หรือนำไปใช้ในการอ่าน/เขียนโปรแกรม เพื่อควบคุมให้คอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีทำงาน (แก้ปัญหา) แทนเรา ซึ่งถือเป็นทักษะที่สำคัญที่ส่งผลต่ออาชีพในยุคปัจจุบันและอนาคต

ปัจจุบันทีมได้พัฒนาหลักสูตรการอบรมออนไล น์สำหรับครูวิทยาการคำนวณระดับประถมศึกษาเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งครอบคลุมตามตัวชี้วัดในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาวิทยาการคำนวณระดับประถมศึกษา และกำลังดำเนินการจัดอบรมออนไลน์ ให้แก่ครูผู้สอนวิทยาการคำนวณระดับประถมศึกษา เป็นเวลา 9 สัปดาห์ โดยแต่ละสัปดาห์ครูที่ร่วมเรียนออนไลน์จะฝึกการเขียนโค้ด (Code) ด้วยตัวเองผ่านห้องเรียนออนไลน์ที่จัดไว้ ตามบทเรียนที่เราแนะนำ หลังจากนั้นครูจะเข้าร่วมการประชุมกลุ่มออนไลน์ผ่านโปรแกรม Microsoft Teams เพื่อเรียนรู้แนวคิดในการเขียนโค้ด คำสั่งต่าง ๆ รวมไปถึงวิธีการที่จะนำไปจัดกิจกรรมในชั้นเรียนทุกวันศุกร์เป็นเวลา 1 ชั่วโมง

ทางทีมได้เลือกเนื้อหาบางบทเรียนจากเวบไซต์ Coding Thailand และ Code.org มาบรรจุในหลักสูตรการอบรม เพราะทั้งสองแพลตฟอร์มใช้การเขียนโค้ดด้วยวิธี Block Programming ซึ่งก็คือการลากคำสั่งในรูปแบบบล็อกมาต่อกัน ดังนั้น ผู้เรียนที่ไม่มีความรู้พื้นฐานในการเขียนโค้ดมาก่อน ไม่รู้จักภาษา คำสั่ง ก็สามารถเขียนโค้ดได้ ถ้าเลือกวางบล็อคต่อกันอย่างเหมาะสม นอกจากนี้รูปแบบของสื่อที่ใช้นั้นมีความน่าสนใจ มีลักษณะคล้ายเกม และมีการวางระดับจากง่ายไปยาก จึงทำให้ผู้เรียนสนุกกับการเรียนรู้ และไม่รู้สึกย่อท้อกับอุปสรรคที่เกิดขึ้น

เมื่อครูที่เข้าร่วมอบรมกับทีมได้ไปลองเรียนรู้การเขียนโค้ดด้วยตนเองแล้ว ทางทีมจะรวบรวมคำตอบในบทเรียนของอาทิตย์นั้น ๆ มาจัดกลุ่ม จำแนกแนวคิด และวิธีคิดในการเขียนโค้ด และนำไปใช้ในการอภิปรายร่วมกันกับครู เพื่อเรียนรู้การเขียนโค้ดที่ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสอดแทรกวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะกับนักเรียนระดับประถมศึกษา ให้แก่ครูในระหว่างการประชุมออนไลน์ของแต่ละสัปดาห์

ทีมมุ่งหวังว่า การอบรมออนไลน์นี้ จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการพัฒนาผู้สอนวิทยาการคำนวณ ที่จะไปจัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนให้เกิดแนวคิดเชิงคำนวณตั้งแต่เด็ก และหวังว่าเยาวชนกลุ่มนี้ จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตให้แก่ประเทศชาติในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และเข้าสู่การแข่งขันในยุคดิจิทัลได้อย่างเต็มภาคภูมิ

การติดต่อ:
ผศ. ดร.น้ำค้าง ศรีวัฒนาโรทัย
สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
namkang.sri@mahidol.edu