An Indoor Navigation System for the Visually Impaired Based on RSS Lateration and RF Fingerprint
August 1, 2018
การวิเคราะห์สารสัญลักษณ์ที่มีฤทธิ์ในสารสกัดหยาบชั้นน้ำจากเปลือกมังคุด และการประเมินประสิทธิผลในการต้านปฎิกิริยาออกซิเดชั่นในผู้ป่วยอัลไซเมอร์
August 6, 2018

Ramathibodi Lung Cancer Consortium Model

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลงานวิจัย :

Ramathibodi Lung Cancer Consortium Model

ผู้วิจัย :

ผศ.พญ.ธัญนันท์ เรืองเวทย์วัฒนา (หัวหน้าโครงการ)
Ramathibodi Lung Cancer Consortium (RLC) 34 ท่าน (รวมที่ปรึกษา และแพทย์ทุกสาขาที่เกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็งปอด แพทย์ผ่าตัด แพทย์รังสีรักษา รังสีวินิจฉัย นิวเคลียร์ แพทย์อายุรศาสตร์มะเร็ง แพทย์โรคปอด แพทย์พยาธิ แพทย์ X – Ray Intervention พยาบาล เภสัชกร และเจ้าหน้าที่ใน RLC)

เนื่องจากโรคมะเร็งปอด เป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของทุกประเทศทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2555 ผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่ทั่วโลกอยู่ที่ 1.8 ล้านคน และมีอัตราตายอยู่ที่ 1.6 ล้านคน มีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี อยู่ที่ 17.8% ซึ่งต่ำกว่ามะเร็งชนิดอื่นที่พบบ่อย เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก 99.6%, มะเร็งเต้านม 90.5%, และ มะเร็งลำไส้ 65.4 ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2555 พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นมะเร็งปอดสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเพศชาย และเป็นลำดับที่ 4 ในเพศหญิง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลโรงพยาบาลรามาธิบดี (Ramathibodi Cancer Registry) จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า โรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์ และอัตราตายที่สูงทั่วโลก ข้อมูลในโรงพยาบาลรามาธิบดี ปี พ.ศ. 2547 – 2556 ดังแสดงในภาพที่ 1 พบว่า ผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอด ที่มารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ทั้งเพศชาย และเพศหญิง ล่าสุดปี 2556 นั้นมีผู้ป่วยใหม่ 404 รายต่อปี

ภาพที่ 1 : แสดงผู้ป่วยใหม่ ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอด ที่มารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี พ.ศ. 2547 - 2556

ในปัจจุบัน การสืบค้น และการรักษาโรคมะเร็งปอดมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก มีการตรวจค้นลงถึงระดับพันธุศาสตร์ โดยศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของยีนกลายพันธุ์เมื่อเกิดโรคมะเร็งปอด เพื่อที่จะให้การรักษาที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการตรวจ และการรักษามากขึ้นเช่นกัน จากการที่ผู้ป่วยมะเร็งปอดมีจำนวนมากขึ้น และมีการสืบค้นหลายขั้นตอนก่อนที่จะรักษา เพื่อให้ได้มาซึ่งการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องครบถ้วน ทั้งชนิดของเซลล์มะเร็ง ชนิดของยีนกลายพันธุ์ ระยะของโรค รวมทั้งการประเมินขั้นตอน และวิธีการรักษา ซึ่งประกอบด้วย การผ่าตัด การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด และการให้ยาต้านเฉพาะจุด ซึ่งจะเริ่มการรักษาด้วยวิธีใดนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยดังกล่าวข้างต้น รวมถึงสภาวะร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยก่อนเริ่มการรักษา ดังนั้น ผู้ป่วยจะต้องพบหมอหลายแผนก และต้องมาโรงพยาบาลหลายครั้งก่อนจะเริ่มการรักษา และการทำการประเมินตัวโรคต่าง ๆ รวมถึงการตัดสินใจในการรักษา โดยส่วนใหญ่ต้องใช้การตัดสินใจร่วมกันของแพทย์แผนกต่าง ๆ เช่น แพทย์อายุรกรรมมะเร็งวิทยา แพทย์โรคปอด แพทย์รังสีรักษาและรังสีวินิจฉัย แพทย์นิวเคลียร์ แพทย์พยาธิวิทยา ที่จะต้องประเมินและดูผู้ป่วยร่วมกัน อีกทั้งในขณะทำการรักษาก็ต้องอาศัยทีมเภสัชกร ทีมพยาบาล และทีม Palliative Care ในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดอีกด้วย

จากปัญหาทั้งหมดดังกล่าว ทำให้เกิดแนวความคิดการจัดตั้งกลุ่มงานดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด (Ramathibodi Lung Cancer Consortium: RLC) ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อที่จะดูแลคนไข้มะเร็งปอดแบบครบวงจร มีการตรวจวินิจฉัยและรักษาแบบ ONE – STOP – SERVICE โดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางของการรักษา แพทย์ทุกแขนงที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็งปอดดูคนไข้ร่วมกัน และตัดสินใจการรักษาร่วมกัน เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดได้เข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโดยเร็วขึ้น และลดจำนวนครั้งของการมาโรงพยาบาลลงในช่วงที่กำลังประเมินและวินิจฉัยโรคก่อนเริ่มการรักษา นอกจากนี้กลุ่ม RLC ยังได้มีการร่วมมือกันให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดกับบุคลากรทุกแขนง Residents และ Fellows ของทุกแผนก และยังมีการวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งปอดร่วมกันอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

RLC นั้น ได้จัดตั้งและมีการประชุมของแพทย์ทุกสาขา พยาบาล เภสัชกร ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด (Multidisciplinary Team) ทุกวันอังคารสัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของเดือน เพื่อดูแลประเมินผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ต้องการการดูแลแบบสหสาขาร่วมกัน เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการตรวจวินิจฉัย และการรักษาได้รวดเร็วที่สุด ถ้ามีวันอังคารสัปดาห์ที่ 5 เป็นบางเดือนก็จะมีการประชุมคณะกรรมการ RLC เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ในการดำเนินงานร่วมกัน และรวมกลุ่มกันทำวิจัย รวมทั้ง Update ความรู้ใหม่ ๆ ทางวิชาการในแต่ละแขนงร่วมกันอีกด้วย โดย RLC ได้เริ่มดำเนินงานครั้งแรกวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ซึ่งนับถึงขณะที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโครงการนี้ เป็นเวลา 2 ปี 7 เดือน RLC ได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำผู้ป่วยเข้ามาประชุมปรึกษาหารือร่วมกันทั้งหมด 236 ราย มีบางรายที่นำมาเข้าซ้ำเพื่อติดตามผลการรักษากัน มีการจัดให้ความรู้ร่วมกัน Lecture 15 ครั้ง รวมถึงมีการประชุมคณะกรรมการ RLC กันทั้งหมด 12 ครั้ง ขณะนี้โครงการนี้จึงได้มีการวิเคราะห์ผล ตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่แสดงถึงคุณภาพ และความรวดเร็วในเข้าถึงการบริการ และการรักษาของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยผ่าน Ramathibodi Lung Cancer Consortium Model โดยเปรียบเทียบกับการดำเนินการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดก่อนที่จะมีการจัดตั้ง RLC ขึ้น

เป้าหมาย :
1.) เพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการ ความรวดเร็ว ในการเข้าถึงการตรวจและการรักษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยผ่าน Ramathibodi Lung Cancer Consortium Model ซึ่งจะทำให้รวดเร็วขึ้น และทำให้ผลการรักษาดีขึ้น
2.) เพื่อรวมตัวกันพัฒนาการวิจัยในผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด
3.) เพื่อพัฒนา และ Update ความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งปอดอย่างต่อเนื่อง และให้ความรู้แก่บุคลากรทุกแขนง รวมทั้งแพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอด และขยายไปถึงการให้ความรู้ประชาชน ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย

ปัญหาและสาเหตุ โดยย่อ : ผู้ป่วยใหม่ที่สงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอด จะต้องพบหมอหลายแผนก และต้องมาโรงพยาบาลหลายครั้ง เพื่อประเมินตัวโรค และวินิจฉัยโรค ก่อนจะเริ่มการรักษา

ภาพที่ 2 : กระบวนการทำงาน (Workflow) เมื่อมีผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอด ก่อนที่จะมีการจัดตั้ง RLC

จาก Workflow ดังภาพที่ 2 พบว่า ผู้ป่วยต้องมีการประเมินตัวโรค เพื่อการวินิจฉัยโรค โดยต้องเดินทางมาโรงพยาบาลพบแพทย์หลายสาขาหลายครั้ง รวมทั้งต้องมีการทำ Imaging Study ต่าง ๆ การตรวจชิ้นเนื้อ ทำให้ใช้เวลานานมากกว่าที่จะได้รับการประเมิน และการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง ทำให้การรักษาโรคเริ่มได้ช้า ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ผลการรักษาไม่ดี หรือผู้ป่วยมีอาการทรุดหนักไปก่อนเริ่มการรักษา และโดยส่วนใหญ่โรคมะเร็งปอด เป็นโรคที่ต้องใช้การตัดสินใจร่วมกันของแพทย์สหสาขา รวมถึงการทบทวน Scan ต่าง ๆ และ ผลทางชิ้นเนื้อต่าง ๆ ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความชำนาญของผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง จึงทำให้เกิดแนวความคิดการจัดตั้งกลุ่มงานดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อที่จะดูแลคนไข้มะเร็งปอดแบบครบวงจร มีการตรวจวินิจฉัยและรักษาแบบ ONE – STOP – SERVICE ซึ่งเน้นแบบ PATIENT – CENTER CARE SYSTEM โดยแพทย์ทุกแขนงที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็งปอด ดูคนไข้ร่วมกัน โดยใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และตัดสินใจการรักษาร่วมกัน เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดได้เข้าถึงการตรวจวินิจฉัย และการรักษาโดยเร็วขึ้น และลดจำนวนครั้งของการมาโรงพยาบาลลงในช่วงที่กำลังประเมินและวินิจฉัยโรคก่อนเริ่มการรักษา ดังแสดงดัง Workflow ภาพที่ 3 และมีการติดตามผู้ป่วยว่าได้รับการนัดหมายต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว และได้รับการรักษาเป็นไปตามที่ได้เข้าร่วมประชุมดูผู้ป่วยร่วมกันหรือไม่ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้คุณภาพ และความรวดเร็วในเข้าถึงการบริการ และการรักษาของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยผ่าน Ramathibodi Lung Cancer Consortium Model รวดเร็วขึ้นทำให้ผลการรักษาดีขึ้นอีกด้วย

ภาพที่ 3 : กระบวนการทำงาน (Workflow) เมื่อมีผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอด หลังจากมีการจัดตั้ง RLC

กิจกรรมการพัฒนา :

ตารางที่ 1 : แสดงกิจกรรมการดำเนินการต่าง ๆ ของ RLC

กิจกรรม ระยะเวลาดำเนินการ (เดือน/ปี) ผู้รับผิดชอบ/บทบาทหน้าที่ของผู้รับผิดชอบ
ปีที่ 1 ปีที่ 2 ปีที่ 3 ต่อเนื่อง
1.)  จัดตั้งกลุ่ม RLC ขึ้น เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2557 ผศ.พญ.ธัญนันท์ เรืองเวทย์วัฒนา
อ.นพ. วิรัช ตั้งสุจริตวิจิตร
2.)  มีการเริ่มประชุม RLC Tumor Board เพื่อดูผู้ป่วยร่วมกัน
ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2557 โดยจัดทำทุกวันอังคาร สัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของเดือน
กลุ่ม RLC
3.)  มีการประชุมคณะกรรมการ RLC ทุกวันอังคาร สัปดาห์ที่ 5 ของเดือน กลุ่ม RLC
4.)  มีการจัด Lecture เพื่อ Update บุคลากรทุกแขนง กลุ่ม RLC
5.)  มีการทำวิจัยร่วมกัน กลุ่ม RLC
6.)  มีการจัดประชุมวิชาการโรคมะเร็งปอด กลุ่ม RLC

RLC ได้เริ่มดำเนินงานครั้งแรก วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งนับถึงขณะที่มีการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นเวลา 2 ปี 7 เดือน ได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำผู้ป่วยเข้ามาประชุมปรึกษาหารือ ร่วมกันทั้งหมด 236 ราย มีบางรายที่นำมาเข้าซ้ำเพื่อติดตามผลการรักษากัน มีการจัดให้ความรู้ร่วมกัน Lecture 15 ครั้ง รวมถึงมีการประชุมคณะกรรมการ RLC กันทั้งหมด 12 ครั้ง ขณะนี้โครงการนี้จึงได้มีการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผล ตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่แสดงถึงคุณภาพ และความรวดเร็วในเข้าถึงการบริการ และการรักษาของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยผ่าน Ramathibodi Lung Cancer Consortium Model (จำนวนผู้ป่วยกลุ่ม RLC = 200 ราย) โดยเปรียบเทียบกับการดำเนินการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดก่อนที่จะมีการจัดตั้ง RLC ขึ้น (จำนวนผู้ป่วยกลุ่ม Control = 81 ราย)

การประเมินผลการเปลี่ยนแปลง :

จากผลการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด ตั้งแต่มีการจัดตั้งกลุ่ม RLC (2 ปี 7 เดือน) พบว่า Multidisciplinary Team รวมทั้งการรักษาแบบ ONE – STOP – SERVICE โดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยมีแพทย์ทุกแขนงมาดูผู้ป่วยร่วมกัน ตัดสินใจรักษาร่วมกัน โดยผ่าน Ramathibodi Lung Cancer Consortium Model ทำให้สามารถพัฒนาคุณภาพการบริการ การตรวจ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรค ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับการตรวจรักษาก่อนมีการจัดตั้ง RLC ในทุกตัวชี้วัด ดังแสดงใน ตารางที่ 2 และ 3 ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาการเข้าถึงการรักษาต่าง ๆ ทั้งการให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัด การให้รังสีรักษา รวมถึงระยะเวลาในการเข้าถึงการตรวจต่าง ๆ เช่น การทำ Imaging Study ต่าง ๆ การทำการตรวจชิ้นเนื้อ ทั้งจากการส่องกล้องหลอดลม และการทำ Transthoracic Biopsy ระยะเวลาต่าง ๆ เหล่านี้ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และจำนวนครั้งการมาโรงพยาบาลก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนตรวจรักษาก่อนมีการจัดตั้งกลุ่ม RLC

และนอกจากนี้ เมื่อนำมาวิเคราะห์ผลเพิ่มเติมถึงอัตราการอยู่รอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ผ่าน RLC โมเดล พบว่าผู้ป่วยมีอัตราการอยู่รอดชีวิตที่ยืนยาวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ไม่ได้ผ่าน RLC โมเดล หรือผู้ป่วยมะเร็งปอดก่อนมีการจัดตั้ง RLC ดังแสดงในตารางที่ 4 และเมื่อแยกผู้ป่วยตามระยะของโรคคือ ระยะแรกเริ่ม (Stage 1 – 2 : ระยะที่รักษาหายจากการผ่าตัดเป็นหลัก) และระยะที่เป็นมากหรือระยะลุกลาม (Stage 3 – 4) ก็พบว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดที่มีระยะของโรคเป็นระยะ 3 – 4 นั้น ถ้าผ่านกลไกการทำงานของ RLC โมเดล จะมี Overall Survival (OS) หรือความยืนยาวของชีวิตที่มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ผ่าน RLC อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังแสดงในภาพที่ 6 ส่วนในระยะแรกเริ่มนั้นขณะนี้ OS ยังไม่ต่างกันระหว่างสองกลุ่ม เนื่องจากเป็นระยะที่อัตราการรอดชีวิตสูงอยู่แล้ว และขณะนี้ระยะเวลาในการติดตามยังไม่มากพอ

ตารางที่ 2 : แสดงตัวชี้วัดผลสำเร็จหลัก ผลดำเนินโครงการ เปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังมีการจัดตั้ง RLC

ตัวชี้วัด เป้าหมาย ผลดำเนินการ
ก่อนจัดตั้ง RLC
(Control) N = 81
หลังจัดตั้ง RLC
N = 200
P – value
Time from First Visit to First Intervention
(Median, Days) ดังกราฟแสดงในภาพที่ 4
ลดเวลา 11 2 < 0.001
HR = 2.01
95% CI; 1.53 – 2.62
Time from First Visit to First Treatment
(Median, Days) ดังกราฟแสดงในภาพที่ 4
ลดเวลา 57 14 < 0.001
HR = 2.93
95% CI; 2.21 – 3.89
Number Visits from First Visit to First Treatment
(Mean +- SD, Days) ดังแสดงในภาพที่ 5
ลดจำนวน Visits 7.98 ±  4.47 2.27 ±  2.70 < 0.001

หมายเหตุ :
•  Time from First Visit to First Intervention คือ เวลาตั้งแต่ที่มาโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่เริ่มสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอด จนกระทั่งถึงเวลาที่ได้รับการตรวจประเมินด้วยวิธีใด ๆ เช่น การทำ Biopsy, Imaging Study, การนัดพบแพทย์, การเริ่มรักษา เทียบกันระหว่างก่อนและหลังมีการจัดตั้ง RLC
•  Time from First Visit to First Treatment คือ เวลาตั้งแต่ที่มาโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่เริ่มสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอด จนกระทั่งถึงเวลาที่เริ่มรักษา ด้วยการผ่าตัด การให้รังสีรักษา การให้ยาเคมีบำบัด หรือการให้ยาต้านเฉพาะจุด เทียบกันระหว่างก่อนและหลังมีการจัดตั้ง RLC
•  Number Visits from First Visit to First Treatment คือ จำนวนครั้งที่มาโรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่ที่เริ่มสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอด จนกระทั่งถึงเวลาที่เริ่มรักษา ด้วยการผ่าตัด การให้รังสีรักษา การให้ยาเคมีบำบัด หรือการให้ยาต้านเฉพาะจุด เทียบกันระหว่างก่อนและหลังมีการจัดตั้ง RLC

ภาพที่ 4 : กราฟแสดง Time from First Visit to First Intervention และ Time from First Visit to First Treatment เปรียบเทียบกันระหว่างก่อนและหลังมีการจัดตั้ง RLC
ภาพที่ 5 : Box Plot แสดง Number Visits from First Visit to First Treatment เปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังมีการจัดตั้ง RLC

และนอกจากนี้ เมื่อนำมาวิเคราะห์ผลเพิ่มเติมถึงอัตราการอยู่รอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ผ่าน RLC โมเดล พบว่าผู้ป่วยมีอัตราการอยู่รอดชีวิตที่ยืนยาวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ไม่ได้ผ่าน RLC โมเดล หรือผู้ป่วยมะเร็งปอดก่อนมีการจัดตั้ง RLC ดังแสดงในตารางที่ 4 และเมื่อแยกผู้ป่วยตามระยะของโรคคือ ระยะแรกเริ่ม (Stage 1 – 2 : ระยะที่รักษาหายจากการผ่าตัดเป็นหลัก) และระยะที่เป็นมากหรือระยะลุกลาม (Stage 3 – 4) ก็พบว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดที่มีระยะของโรคเป็นระยะ 3 – 4 นั้น ถ้าผ่านกลไกการทำงานของ RLC โมเดล จะมี Overall Survival (OS) หรือความยืนยาวของชีวิตที่มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ผ่าน RLC อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังแสดงในภาพที่ 6 ส่วนในระยะแรกเริ่มนั้นขณะนี้ OS ยังไม่ต่างกันระหว่างสองกลุ่ม เนื่องจากเป็นระยะที่อัตราการรอดชีวิตสูงอยู่แล้ว และขณะนี้ระยะเวลาในการติดตามยังไม่มากพอ

ตารางที่ 3 : แสดงตัวชี้วัดผลสำเร็จรอง ผลดำเนินโครงการ เปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังมีการจัดตั้ง RLC

ตัวชี้วัด ALL CONTROL RLC P – Value
Time from 1st Visit to 1st Imaging Study All
N = 53
Control
N = 14
RLC
N = 39
Median (Days) 7 12.5 6 0.649
Time from 1st Visit to 1st Biopsy All
N = 38
Control
N = 27
RLC
N = 11
Median (Days) 14.5 20 2 0.004
Time from 1st Visit to Surgery All
N = 71
Control
N = 26
RLC
N = 45
Median (Days) 50 77 31 < 0.001
Time from 1st Visit to 1st Chemotherapy All
N = 93
Control
N = 32
RLC
N = 61
Median (Days) 20 45 11 < 0.001
Time from 1st Visit to 1st Radiation All
N = 33
Control
N = 10
RLC
N = 23
Median (Days) 16 19 13 0.247

ตารางที่ 4 : แสดงอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี และ Overall Survival ของผู้ป่วยมะเร็งปอด เปรียบเทียบก่อนและหลังมีการจัดตั้ง RLC

กลุ่มผู้ป่วย 5 – Year OS Rate  (%) P – Value mOS (Years) P – Value
ก่อนจัดตั้ง RLC (Control) 33.1 (22.5 – 44.0) < 0.001 1.5 < 0.001
หลังจัดตั้ง RLC 45.9 (23.1 – 66.1) 4.7
ภาพที่ 6 : กราฟแสดง Overall Survival ของผู้ป่วยมะเร็งปอด แยกตามระยะของตัวโรค เปรียบเทียบผู้ป่วยมะเร็งปอดก่อนและหลังมีการจัดตั้ง RLC

บทเรียนที่ได้รับ : บรรลุวัตถุประสงค์การจัดตั้งกลุ่มในทุกแง่มุมทั้งในแง่การบริการ การตรวจรักษา การเรียนการสอน และการทำวิจัย และจะมีการดำเนินการต่อเนื่องไปตลอด และจะนำ RLC Model นี้ไปเผยแพร่กับสถาบันอื่น ๆ เพื่อทำให้พัฒนาการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด และมะเร็งชนิดอื่น ๆ ของประเทศไทยดีขึ้น และหากสามารถขยายผลให้เป็นนโยบายของประเทศในการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ ด้วยจักทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้นในการใช้โมเดลนี้ รวมทั้งหากใช้โมเดล จะทำให้มีการประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการรักษามะเร็งปอด ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่สำคัญทำให้คุณภาพชีวิต และอัตราการรอดของชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งปอดยืนยาวขึ้น

โอกาสพัฒนาในครั้งต่อไป : นำ RLC Model นี้ไปเผยแพร่กับสถาบันอื่น ๆ เพื่อทำให้พัฒนาการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด และรวมถึงมะเร็งชนิดอื่น ๆ ของประเทศไทยดีขึ้น รวมทั้งปัจจุบันได้มีการทำวิจัยร่วมกันใน RLC เกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดในหลายโครงการวิจัย และมีการจัดงานประชุมวิชาการเรื่องโรคมะเร็งปอดร่วมกัน ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากมีผู้เข้าฟังเป็นจำนวนมาก

การนำไปใช้ประโยชน์ : นำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งปอด และพัฒนาเป็นคลินิกเฉพาะทางโรคมะเร็งปอด

รางวัลที่ได้รับ :
•   รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นภูมิภาคเอเชีย ได้รับรางวัล The 5th Kobayashi Foundation Award จากประเทศญี่ปุ่น [16 มิถุนายน พ.ศ. 2561]
•   รางวัลชนะเลิศ Best Abstract Award of The Year 2018 (Academic Center) จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย [27 เมษายน พ.ศ. 2561]
•   รางวัล Team Good Practice Award จากมหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2018
•   รางวัลชนะเลิศ งานพัฒนาคุณภาพ ปี 2017 จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

การติดต่อ :
ผศ.พญ.ธัญนันท์ เรืองเวทย์วัฒนา
หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
+ 668 9856 5656, +66 2 201 1671 – 2
thanyanan.reu@mahidol.ac.th, treungwetwattana@gmail.com