โครงการพัฒนาทักษะศิลปะเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศและคุณภาพชีวิตการทำงานอย่างมีความสุข ของบุคลากรสำนักงานอธิการบดี
25/10/2016
Corporate Identity อัตลักษณ์มหาวิทยาลัยมหิดล
27/10/2016

Prince Mahidol Hall

slide2

มหิดลสิทธาคาร (Prince Mahidol Hall)

แนวความคิดในการออกแบบอาคาร

แนวคิดหลักคือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบอาคารในด้านสถาปัตยกรรม บริบทโดยรอบ และความหมายในเชิงสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย รวมถึงการบูรณาการนวัตกรรมทางด้านการออกแบบโครงสร้าง ระบบอาคาร และการประหยัดพลังงานด้วย

มหาวิทยาลัยมหิดลถือกำเนิดและมีความสัมพันธ์กับการแพทย์มาโดยตลอด กอปรกับชื่อเสียงที่โดดเด่นของการเป็นโรงเรียนแพทย์ชั้นนำ ความสำคัญนี้ได้ถูกประยุกต์สู่การสร้างรูปทรงและที่ว่างของอาคาร ที่นำมาจากโครงสร้างทางกายภาพของมนุษย์และพืช ผสานความอ่อนช้อยของสถาปัตยกรรมไทยและการประยุกต์รูปแบบตราสัญลักษณ์และต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยมาใช้ในโครงการ

การออกแบบอาคาร

เป็นอาคารที่ถูกออกแบบให้สามารถรองรับการใช้งานที่หลากหลาย ทั้งการแสดงละคร ดนตรีศิลปวัฒนธรรมต่างๆ การประชุมสัมมนาระดับประเทศและภาคพื้นทวีป พิธีพระราชทานปริญญาบัตร การปฐมนิเทศนักศึกษา ฯลฯ รวมทั้งสามารถจัดเป็นห้องบรรยายการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยได้ จึงทำให้การออกแบบต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ หลายๆปัจจัย โดยเฉพาะการจัดแสดงด้านดนตรี ที่ต้องมีความพิถีพิถันทางด้านการออกแบบระบบ Acoustic รวมถึง Space ภายในอาคาร ให้สามารถถ่ายทอดคุณภาพของเสียงที่เกิดขึ้นจากการแสดงบนเวทีถึงผู้ชม จำนวนประมาณ 2,000 ที่นั่งได้อย่างดี

 

ลักษณะพิเศษของอาคารมหิดลสิทธาคาร

1. งานสถาปัตยกรรม

อาคารหอประชุมนี้เปรียบเสมือนเป็น Landmark ใหม่ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะสะท้อนถึงความสง่างาม และแสดงให้เห็นถึงความเป็นศูนย์กลางทางด้านวิชาการแพทย์ และด้านการดนตรีแห่งภูมิภาคนี้ได้เป็นอย่างดี โดยรูปแบบภายนอกอาคาร มีการผสมผสานสถาปัตยกรรมไทย ที่สามารถมองเห็นได้จากระยะไกลในขณะเดียวกันโครงสร้างอาคารก็ยังแสดงออกถึงความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล คือความรู้ด้านการแพทย์โดยเห็นได้จากโครงสร้างหลังคาที่เป็นครีบเหมือนซี่โครงมนุษย์ ส่วนของหลังคาถูกออกแบบและใช้วัสดุพิเศษ เพื่อป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก โดยออกแบบให้เป็นหลังคา 2 ชั้น หลังคาชั้นที่ 2 จะปิดทับด้วยพื้นคอนกรีตเพื่อการกันเสียงจากภายนอก ผนังภายในเตรียมไว้ในการติดตั้งวัสดุที่มีคุณภาพพิเศษด้าน Acoustic รวมทั้งฝ้าเพดานที่มีการถูกออกแบบให้มีรูปแบบและใช้วัสดุเพื่อผลการได้ยินที่ถูกต้องตามกิจกรรมการแสดงโดยผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการออกแบบโรงละคร ส่วนวัสดุปูพื้นเวที เป็นพื้นไม้พิเศษที่มีความยืดหยุ่นได้ดี และสามารถรองรับการขนย้ายอุปกรณ์หนัก เช่น เปียโน หรือฉากต่างๆ ได้บริเวณส่วนโถงรับรอง (Lobby) และทางเดินโดยรอบอาคารที่อยู่ใต้หลังคา ถูกออกแบบให้สามารถนำแสงธรรมชาติเข้ามาใช้ได้เป็นอย่างดี โดยการใช้กระจกประหยัดพลังงาน (Low-E) คือ ลดความร้อนจากแสงแดดภายนอก ไม่ให้เข้ามาภายในได้

2. งานวิศวกรรมโครงสร้าง

เนื่องจากพื้นที่การใช้งานภายในอาคารที่เป็นหอประชุม จำเป็นต้องใช้ช่วงเสา (Span) ที่กว้าง และสูงเป็นพิเศษ ทำให้โครงสร้างของอาคารมีขนาดใหญ่ปราศจากเสากลาง เพื่อรองรับหลังคาด้านบน การออกแบบจึงเน้นที่จะโชว์โครงสร้างให้สามารถมองเห็นจากภายนอกได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเสาคอนกรีตและโครงหลังคาเหล็ก ที่มีรูปแบบทันสมัย และรองรับพื้นที่ขนาดใหญ่ภายในได้อย่างดี โครงสร้างรับหลังคาเวทีสามารถรองรับระบบฉากที่มีน้ำหนักมากเป็นพิเศษเนื่องด้วยความจุของจำนวนที่นั่งที่มีมากถึง 2,000 ที่นั่ง ทำให้ต้องมีการออกแบบเป็นชั้นลอยที่ชั้น 2 และชั้น 3 โดยเป็นโครงสร้างที่ยื่นออกมา (Cantiliver) ยาวถึง 15 เมตร โดยไม่มีเสาด้านล่าง ซึ่งออกแบบเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก คล้ายอัฒจันทร์สนามกีฬา

3. งานระบบวิศวกรรม

อาคารที่มีพื้นที่ภายในขนาดใหญ่ทั้งความกว้างและความสูง การออกแบบระบบปรับอากาศเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นการประหยัดพลังงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ออกแบบจึงเลือกการออกแบบระบบปรับอากาศภายในห้องประชุมเป็นแบบ Displacement คือให้ลมเย็นจ่ายออกจากพื้นอาคารบริเวณใต้ที่นั่งผู้ชม ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้สามารถปรับอุณหภูมิที่สบายแก่บริเวณที่นั่งได้ง่ายโดยไม่ต้องสูญเสียพลังงานไปกับพื้นที่ว่างขนาดใหญ่ที่เหนือขึ้นไป นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงการป้องกันเพลิงไหม้และระบบดับเพลิง ตามกฎกระทรวงใหม่ ติดตั้งระบบสื่อสารการได้ยินได้ฟังที่รองรับกิจกรรมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพขณะที่หลอดไฟส่องสว่างในห้องประชุมก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็นหลอด LED ที่ประหยัดพลังงานกว่าหลอดไฟทั่วไป

4. ระบบพิเศษประกอบอาคาร

อาคารนี้มีการออกแบบที่สามารถรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย โดยมีการเน้นด้านการใช้งานสำหรับการแสดงดนตรีเป็นพิเศษ โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบโรงละคร (Theater Counsultant) เป็นที่ปรึกษาทางด้านการออกแบบระบบ แสง เสียง และเวทีโดยเฉพาะ โดยสามารถแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้

4.1 งานระบบเสียง (Sound & Communication) ประกอบด้วยงานออกแบบที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและการกระจายเสียงภายในหอประชุมทั้งหมด รวมถึงการสื่อสารและการถ่ายทอดสัญญาณต่างๆ ทั้งภาพและเสียง
4.2 งานระบบไฟ (Production Lighting) ประกอบด้วยงานออกแบบระบบไฟสำหรับเวทีการแสดง และภายในหอประชุม
4.3 งานระบบเวที (Stage Engineering) เป็นงานออกแบบระบบที่เกี่ยวกับเวทีการแสดงทั้งหมดที่รวมถึงการออกแบบระบบลิฟต์บนเวที (Stage Elevator) และลิฟต์ของวงดนตรี (Orchestra Elevator) รวมทั้งระบบฉากและ Catwalk ต่างๆ ที่อยู่เหนือเวทีด้วย
4.4 งานระบบ (Acoustic) เป็นงานออกแบบเพื่อรองรับระบบเสียงที่เกิดขึ้นจากการแสดงบนเวทีเพื่อให้ผู้ชมสามารถรับอรรถรสเสียงจากการชม ไม่ว่าจะนั่งอยู่ใกล้หรือไกลได้เป็นอย่างดี โดยระบบ Acoustic ของอาคารนี้จะถูกออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานประเภทต่างๆ คือ ทั้งสะท้อนเสียง และดูดซับเสียงได้ดี ทั้งนี้ งานออกแบบ Acoustic นี้ จะผสมผสานไปกับงานออกแบบตกแต่งภายใน ได้แก่ พื้น ผนัง และฝ้าเพดาน เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของห้องประชุมและมีคุณสมบัติด้าน Acoustic ที่ดีในตัว รวมไปถึงการออกแบบที่ว่าง (Space Volumn) ภายในห้องประชุม ที่มีการคำนวณให้เหมาะสมกับจำนวนคน 2,000 ที่นั่ง นอกจากนี้ การออกแบบ Acoustic ยังต้องควบคุมเสียงที่จะเกิดจากระบบปรับอากาศภายในให้มีค่าของเสียง(Noise Control) ให้น้อยที่สุด รวมทั้งป้องกันเสียงจากภายนอก ไม่ให้เข้ามารบกวนภายใน โดยการใช้ประตูชนิดกันเสียงทุกจุด และใช้หลังคาคอนกรีต (หลังคาชั้นที่ 2) เพื่อป้องกันเสียงจากการจราจรภายนอก โดยเฉพาะจากถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.mahidol.ac.th/princemahidolhall/