{:th}สารพีอีไอทีซีจากผักตระกูลกะหล่ำในปริมาณที่คนรับประทานได้ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งช่องปากที่มียีน p53 กลายพันธุ์ ทั้งในห้องปฏิบัติการ และในสัตว์ทดลอง{:}{:en}Sensory acceptable equivalent doses of β -phenylethyl isothiocyanate (PEITC) induce cell cycle arrest and retard the growth of p53 mutated oral cancer in vitro and in vivo{:}
August 22, 2018
ประสิทธิผลของโมบายแอพพลิเคชั่น ต่อความร่วมมือในการรับประทานยาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
September 25, 2018

ปัจจัยทำนายพฤติกรรมการจัดการภาวะอ้วนลงพุงด้วยตนเองของผู้ป่วยอ้วนลงพุง ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร

ปัจจัยทำนายพฤติกรรมการจัดการภาวะอ้วนลงพุงด้วยตนเองของผู้ป่วยอ้วนลงพุง ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลงานวิจัย :

ปัจจัยทำนายพฤติกรรมการจัดการภาวะอ้วนลงพุงด้วยตนเองของผู้ป่วยอ้วนลงพุง ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร

ผู้วิจัย :

ผศ.พรรณิภา บุญเทียร และ รศ.ดร.จงจิต เสน่หา

ภาวะอ้วนลงพุง เป็นปัจจัยที่สำคัญ ที่นำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังที่สำคัญ คือ โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ และในประเทศไทยพบว่าภาวะอ้วนลงพุงมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการส่งเสริมสุขภาพ ให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม เช่น การจัดการตนเองด้านสุขภาพ จะมีส่วนช่วยในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคเรื้อรังตามมา

ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาพฤติกรรมการจัดการภาวะอ้วนลงพุงด้วยตนเองของผู้ป่วยอ้วนลงพุง ภายใต้กรอบทฤษฎีการจัดการตนเองของบุคคล และครอบครัว โดยเน้นที่การจัดการตนเองของผู้ป่วย คือ การควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค การป้องกัน เฝ้าระวัง และจัดการกับภาวะแทรกซ้อน สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการจัดการตนเอง จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยเลือกศึกษา 4 ปัจจัย ที่คาดว่ามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการจัดการตนเอง ได้แก่ 1. อายุ 2. การรับรู้ภาวะสุขภาพ 3. สมรรถนะแห่งตน และ 4. การสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่สุขภาพ

อายุเป็นปัจจัยที่แสดงถึงวุฒิภาวะ หรือความสามารถในการจัดการของบุคคล ดังนั้น อายุที่แตกต่างกัน จึงอาจจะส่งผลต่อการจัดการภาวะอ้วนลงพุงด้วยตนเอง เพื่อควบคุมน้ำหนัก และภาวะแทรกซ้อนได้

การรับรู้ภาวะสุขภาพเป็นความรู้สึกนึกคิด ความเข้าใจของบุคคลที่มีต่อสุขภาพของตนเอง ประกอบด้วย 1. การรับรู้ลักษณะเฉพาะของการเจ็บป่วย ผู้ป่วยจะพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการตนเอง เพื่อควบคุมการเจ็บป่วย ไม่ให้เกิดความรุนแรง หรือภาวะแทรกซ้อนตามมา 2. ช่วงเวลา 3. สาเหตุ 4. ผลกระทบของการเจ็บป่วย และ 5. ความสามารถในการควบคุมโรค

สมรรถนะแห่งตน (Self – efficacy) เป็นปัจจัยที่อยู่ภายในตัวบุคคล สามารถทำนายพฤติกรรมการจัดการภาวะอ้วนพุงด้วยตนเอง เพราะการรับรู้สมรรถนะแห่งตน เป็นความรู้สึกมั่นใจในความสามารถของบุคคล ที่จะกระทำพฤติกรรมให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

การสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่สุขภาพ เป็นการรับรู้ถึงกระบวนการดูแลด้านสัมพันธภาพระหว่างบุคคล การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการร่วมตัดสินใจในการรักษา ซึ่งหากผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนลงพุง มีข้อมูลการสื่อสารที่ดี จะช่วยให้ผู้ป่วยมีการจัดการโรคได้ดีขึ้น ส่งผลให้การรักษาผู้ป่วยได้สำเร็จและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จากการสำรวจแบบสอบถามผู้ป่วยอ้วนลงพุง จำนวน 200 คน และวิเคราะห์ข้อมูลสถิติเชิงบรรยาย และสัมประสิทธิ์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน พบว่าปัจจัยที่สามารถทำนายพฤติกรรมการจัดการภาวะอ้วนลงพุงด้วยตนเอง มีจำนวน 2 ปัจจัย ได้แก่ สมรรถนะแห่งตน และการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่สุขภาพ ซึ่งจากผลการวิจัย ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะ คือ ควรจัดกิจกรรม หรือพัฒนาโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยอ้วนลงพุงที่ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีสมรรถนะแห่งตน และส่งเสริมให้มีการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่สุขภาพให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมการจัดการภาวะอ้วนลงพุงด้วยตนเองที่เหมาะสมต่อไป

โครงการวิจัยได้รับทุนสนับสนุนจาก : แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ

การเผยแพร่ผลงาน : วารสารพยาบาลศาสตร์ Vol.35 No.3 July – September 2017

การติดต่อ :
ผศ.พรรณิภา บุญเทียร
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
pannipa.sue@mahidol.ac.th