คุณค่าทางโภชนาการ สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และสารต้านอนุมูลอิสระ ของทุเรียนพันธุ์ท้องถิ่นในจังหวัดนนทบุรี
July 31, 2018
การเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องต่อการกลับมาของเชื้อไข้หวัดนก ในนกธรรมชาติในประเทศไทย
August 1, 2018

ภาระทางการแพทย์และทางเศรษฐกิจ ในการให้บริการผู้ป่วยต่างด้าวของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี

ภาระทางการแพทย์และทางเศรษฐกิจ ในการให้บริการผู้ป่วยต่างด้าวของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี

ศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลงานวิจัย :

ภาระทางการแพทย์และทางเศรษฐกิจ ในการให้บริการผู้ป่วยต่างด้าวของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี

ผู้วิจัย :

1.) ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม; ประธานโครงการวิจัย (คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล)
2.) นพ.รักษ์พงศ์ เวียงเจริญ; ผู้วิจัยหลัก (โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา)
3.) ดร.ชื่นฤทัย ยี่เขียน; ผู้ร่วมวิจัย (โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา)
4.) พญ.พรสวรรค์ อัตวินิจตระการ; ผู้ร่วมวิจัย (โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา)
5.) นพ.สมเจตน์ เหล่าลือเกียรติ; ผู้ร่วมวิจัย (โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา)
6.) รศ.ดร.นพ.ประตาป สิงหศิวานนท์; ที่ปรึกษาโครงการ (คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล)
7.) ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์; ที่ปรึกษาโครงการ (โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ)
8.) ดร.นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์; ที่ปรึกษาโครงการ (สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ)

TM_2561-01

ความเป็นมา : โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องแบกรับภาระการดูแลรักษาผู้ป่วยต่างด้าว จึงได้ทำการศึกษาเพื่อประเมินภาระทางการแพทย์และการให้บริการสาธารณสุข ในการให้บริการผู้ป่วยต่างด้าวที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงศึกษาประเภทโรคอันนำมาสู่การขอเข้ารับบริการทางการแพทย์ของผู้ป่วยต่างด้าวในประเทศไทย

วิธีวิจัย : การศึกษานี้เป็นการเก็บข้อมูลการใช้บริการทางการแพทย์ของผู้ป่วยต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ ณ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา โดยเก็บข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย เศรษฐสถานะทางครอบครัว คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ รวมถึงข้อมูลด้านการแพทย์ คำนวณค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงทางอ้อม จากข้อมูลในเวชระเบียนของโรงพยาบาล ที่แผนกผู้ป่วยนอก จำนวน 412 คน และผู้ป่วยใน 107 คน โดยค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกจะรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดของผู้ป่วยต่างด้าวนั้น ๆ รวมทั้งหากมีการนอนโรงพยาบาลในช่วง 1 ปี ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 จากนั้นเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ได้ไปทำการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) โดยมีกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้เสียเชิงนโยบาย ได้แก่ ตัวแทนจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนแรงงานต่างด้าว โรงพยาบาลสมุทรสาคร และโรงพยาบาลกระทุ่มแบน

TM_2561-02
TM_2561-03

ผลการวิจัย : ผู้ป่วยต่างด้าวที่มารับการรักษา ณ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ประจำ กำลังรอพิสูจน์สถานะ อาศัยอยู่ในบ้านนายจ้าง หรือมีบ้านของตนเอง และมีรายได้ มีอายุเฉลี่ย 34.2 ปี และมีสถานภาพสมรส ร้อยละ 69.4 โรคจำแนกตาม ICD-10 ของผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน 5 อันดับ คือ ผู้ป่วยนอก อันดับที่ 1 การตั้งครรภ์ การคลอด และระยะหลังคลอด (O00-O99) ร้อยละ 15.3 รองลงมา คือ กลุ่มโรคของระบบย่อยอาหาร (K00-K93) คิดเป็นร้อยละ 11.7 กลุ่มโรคของระบบสืบพันธุ์ และระบบปัสสาวะ (N00-N99) คิดเป็นร้อยละ 11.2 กลุ่มโรคของระบบหายใจ (J00-J99) คิดเป็นร้อยละ 8.5 และกลุ่มโรคของระบบกล้ามเนื้อโครงร่าง และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (M00-M99) คิดเป็นร้อยละ 8.0 ตามลำดับ ผู้ป่วยใน อันดับที่ 1 กลุ่มการบาดเจ็บ การเป็นพิษ และอุบัติเหตุ (S00-T98) คิดเป็นร้อยละ 30.8 รองลงมา คือ กลุ่มโรคของระบบหายใจ (J00-J99) คิดเป็นร้อยละ 12.1 ถัดมา คือ การตั้งครรภ์ การคลอด และระยะหลังคลอด (O00-O99) ร้อยละ 11.2 กลุ่มโรคติดเชื้อ และโรคปรสิตบางโรค (A00-B99) คิดเป็นร้อยละ 9.3 และกลุ่มโรคของระบบไหลเวียนโลหิต (I00-I99) คิดเป็นร้อยละ 6.5 ตามลำดับ

เมื่อแบ่งตามฝ่ายการแพทย์จากผู้ป่วยนอก จำนวน 412 ราย แผนกอายุกรรมสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 35.7 รองมา คือ แผนกหญิงตั้งครรภ์ คิดเป็นร้อยละ 14.6 สำหรับผู้ป่วยใน จำนวน 107 ราย อันดับ 1 คือ แผนกอายุกรรม คิดเป็นร้อยละ 28.0 รองมา คือ แผนกกุมารเวชกรรม คิดเป็นร้อยละ 18.8 ทั้งนี้ค่ารักษาเมื่อคิดตามระบบต้นทุนของโรงพยาบาล หรือการคำนวน โดยใช้ค่า Adjusted HITAP ปี 2560 ของผู้ป่วยนอกไม่ต่างกัน ดังนั้นข้อมูลจึงใช้เป็นค่ารักษาอ้างอิงของโรงพยาบาลเป็นหลัก

กลุ่มโรคของผู้ป่วยนอกที่มีค่ารักษาเฉลี่ยสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับหนึ่ง คือ กลุ่มโรคมะเร็ง, กลุ่มอุบัติเหตุ บาดเจ็บ, กลุ่มเด็กทารก, กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และกลุ่มนรีเวชกรรม คิดเป็นมูลค่า 57,689 บาท, 48,875 บาท, 36,040 บาท, 18,459 บาท และ 18,179 บาท ตามลำดับ โดยมีจำนวนเปอร์เซ็นต์ของค่ารักษาที่ผู้ป่วยนอกจ่ายเองสูงที่สุด คือ กลุ่มนรีเวชกรรม ตามลำดับ โดยมีต้นทุนของผู้ป่วยในตามราคา HITAP2560 เฉลี่ยต่อรายคิดเป็นมูลค่า 24,646 บาท และค่ารักษาอิงราคาโรงพยาบาลเฉลี่ยต่อรายคิดเป็นมูลค่า 26,810 บาท ซึ่งใกล้เคียงกัน

TM_2561-04

กลุ่มโรคที่มีค่ารักษาเฉลี่ยสูงที่สุด 5 อันดับแรก ของผู้ป่วยใน ได้แก่ อันดับหนึ่ง คือ กลุ่มโรคติดต่อ รองมา คือ กลุ่มผู้ป่วยอุบัติเหตุ บาดเจ็บ, กลุ่มโรคอื่น ๆ, กลุ่มโรคเรื้อรัง และกลุ่มโรคมะเร็ง ค่ารักษามีมูลค่า 50,053 บาท, 45,769 บาท, 33,336 บาท, 31,494 บาท และ 20,786 บาท ตามลำดับ

จากการสนทนากลุ่มได้ข้อเสนอแนะดังนี้ ผู้ป่วยต่างด้าวควรจะต้องแบ่งตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และแยกการบริหารจัดการผู้ป่วยต่างด้าวตามภูมิประเทศที่ชาวต่างด้าวมาอยู่อาศัยเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทอยู่แถบจังหวัดชายแดนไทย-พม่า ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดตาก เป็นต้น และประเภทที่เป็นกลุ่มวัยทำงาน เช่น จังหวัดสมุทรสาคร หรือเมืองใหญ่ ๆ เป็นต้น

โครงการจึงเสนอให้มีความชัดเจนของนโยบายในการจำหน่ายบัตรสุขภาพ, เสนอให้มีการใช้สิทธิในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน อุบัติเหตุ นอกเขตพื้นที่ รวมถึงการใช้สิทธิของบัตรประกันสุขภาพในกรณีย้ายพื้นที่ และเสนอให้มีการทำให้เกิดสิทธิเหมือนประกันสังคม ในด้านชุดสิทธิประโยชน์ของกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และเด็กแรกเกิด เสนอให้มีการครอบคลุมถึงการติดตามหลังคลอด และการให้วัคซีนเด็กตามนโยบายแห่งชาติ รวมถึงการคิดคำนวณค่าบัตรประกันสุขภาพต่าง ๆ เพื่อให้ต้นทุนเป็นปัจจุบัน ในกรณีเรื่องการรักษา การเบิกจ่ายของผู้ป่วยต่างด้าวที่มีค่าใช้จ่ายสูง เสนอว่าควรจะมีการปรับตัวเลขที่สามารถเบิกจ่ายได้จากส่วนกลาง โดยลดค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (Relative Weight) ที่โรงพยาบาลสามารถเบิกคืนได้

การนำไปใช้ประโยชน์ : ได้ส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ และคู่มือองค์ความรู้ แด่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติแล้ว เพื่อเผยแพร่ต่อไป

การติดต่อ :
ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
+66 2 643 5599