วิธีการแจ้งการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยพร้อมเอกสารประกอบการยื่นคำขอ

การแจ้งการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน

นายจ้างหรือผู้รับมอบอำนาจ แจ้งตามแบบ กท.16 โดยยื่นเรื่อง ณ สำนักงานประกันสังคมที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนา ซึ่งสามารถส่งเอกสารได้โดยตรงที่สำนักงานประกันสังคมหรือส่งทางไปรษณีย์ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้าง หรือลูกจ้างสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ประสบอันตรายเจ็บป่วยหรือสูญหาย หรือหากการเจ็บป่วยเกิดหลังสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ให้ยื่นคำร้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทราบการเจ็บป่วย

หลักานการแจ้งการประสบอันตรายหรือการขอรับเงินทดแทนทุกกรณี

  1. แบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย (กท.16)
  2. แบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล (กท.44) (กรณีนายจ้างส่งตัวเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน) ต้นฉบับพร้อมสำเนา
  3. ใบรับรองแพทย์ (กท.16/1) หรือใบรับรองแพทย์ของสถานพยาบาล
  4. การประสบอันตรายที่ไม่ชัดเจน เช่น อุบัติเหตุรถยนต์ เกิดเหตุนอกสถานที่ เป็นต้น ต้องขอหลักฐานเพิ่ม เช่น หลักฐานการลงเวลาทำงาน บันทึกประจำวันตำรวจ แผนที่เกิดเหตุ เป็นต้น
  5. ใบเสร็จรับเงิน (กรณีนายจ้าง ลูกจ้างสำรองจ่ายไปก่อน)
  6. กรณีเสียชีวิตหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน ต้องมีหลักฐานแสดงการเสียชีวิต ใบชันสูตรศพ ใบมรณะบัตรของลูกจ้าง บันทึกประจำวันตำรวจ (ถ้ามี) พร้อมด้วยหลักฐานของผู้มีสิทธิ ดังนี้ สูติบัตรของบุตร ทะเบียนสมรสของลูกจ้างกับสามีหรือภรรยา ทะเบียนสมรสของบิดา – มารดา ทะเบียนบ้านของลูกจ้าง บิดา – มารดา ภรรยาหรือสามี บุตร / ทะเบียนหย่าของลูกจ้าง หรือบิดามารดาหรือคู่สมรส (ถ้ามี) / หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ – สกุลของลูกจ้าง บิดามารดา คู่สมรส บุตร (ถ้ามี) หรือถ้ากรณีผู้มีสิทธิเสียชีวิต ควรมีหลักฐาน ดังนี้ สามีหรือภรรยา บิดามารดา หรือบุตร ต้องมีหลักฐานใบมรณะบัตรของทุกคนมาแสดง เพื่อประกอบการพิจารณา

          ทั้งนี้ การยื่นแบบการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย (กท.16) เพียงครั้งเดียว สามารถรับสิทธิประโยชน์ได้ทุกกรณี ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ค่าทำศพ ค่าทดแทนกรณีไม่สามารถทำงานได้ ค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ ค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ และค่าทดแทนกรณีตายหรือสูญหาย