การพัฒนาชุดอุปกรณ์ และรูปแบบการสอน การฝึกผ่าตัดส่องกล้องจำลอง
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
การพัฒนาชุดอุปกรณ์ และรูปแบบการสอน การฝึกผ่าตัดส่องกล้องจำลอง
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โครงการวิจัย:
การพัฒนาชุดอุปกรณ์ และรูปแบบการสอน การฝึกผ่าตัดส่องกล้องจำลอง
ผู้วิจัย:
นพ.รัฐภูมิ วัชโรภาส, รศ. นพ.ชูศักดิ์ กิจคุณาเสถียร, ผศ. นพ.เฉลิมชัย ลิมิตเลาหพันธุ์, อ. นพ.ณัฐพร แสงเพชร, อ. นพ.ชัชวาล เลิศบุษยานุกูล, อ. นพ.ชายนันท์ วิจิตรตระการรุ่ง
วัตถุประสงค์: การผ่าตัดส่องกล้อง มีบทบาทสำคัญในการรักษาทางศัลยกรรมกระดูก ทักษะการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ความจำเพาะต้องฝึกฝน ปฏิบัติด้วยเครื่องมือที่มีความเสมือนจริง พบว่าการฝึกผ่าตัดจำลอง ช่วยเพิ่มพูลทักษะ ความรู้ เพื่อนำไปใช้พัฒนาในการผ่าตัดผู้ป่วยจริง แต่เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัดเสมือนจริง มีความซับซ้อน ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ มีราคาสูง และต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ จึงเป็นเรื่องยากที่จะจัดการฝึกทักษะพื้นฐานการผ่าตัดส่องกล้อง ดังนั้น คณะแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เวชศาสตร์การกีฬา โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้คิดค้นแบบจำลองผ่าตัดส่องกล้อง ใช้อุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไป มีราคาย่อมเยาว์ ใช้พื้นที่น้อย แต่มีความเสมือนจริง นำมาใช้พัฒนาการเรียนการสอนทักษะพื้นฐาน ในการฝึกการผ่าตัดแบบส่องกล้องของแพทย์ประจำบ้าน
กระบวนการ: แพทย์ประจำบ้านศัลยกรรมกระดูก ปี 1 – ปี 4 จำนวน 31 คน ที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการประเมินก่อนการฝึกทักษะพื้นฐานการผ่าตัดส่องกล้อง ผ่านทางชุดอุปกรณ์กล้อง การประเมินทักษะพื้นฐาน 2 ฐานปฏิบัติ โดยใช้ระยะเวลาในการทำรูปแบบการฝึกให้เสร็จสมบูรณ์เป็นผลลัพธ์ ประเมินความมั่นใจ ความเข้าใจเกี่ยวกับการผ่าตัดส่อง ด้วยแบบประเมินตนเอง หลังจากนั้น แพทย์ประจำบ้านจะได้รับการเรียนการสอนที่ประกอบด้วย การสอนทางทฤษฎีเกี่ยวกับพื้นฐานการผ่าตัดส่องกล้อง และการรักษาเอ็นหมุนหัวไหล่ที่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tear) การสอนทางภาคปฏิบัติจะทำการผ่าตัดส่องกล้องจำลอง การเย็บซ่อมเอ็นหมุนหัวไหล่ (Rotator Cuff Repair) ด้วยแบบจำลองที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่ หลังจากจบการสอน แพทย์ประจำบ้านจะได้รับการประเมินทักษะหลังการฝึก เพื่อเปรียบเทียบกับก่อนการฝึก โดยจะทำการประเมินระยะเวลาในการทำรูปแบบการฝึกให้เสร็จสมบูรณ์ ของฐานปฏิบัติทักษะพื้นฐานทั้ง 2 ฐานปฏิบัติ และให้แพทย์ประจำบ้านทำแบบสอบถาม เพื่อประเมินตนเองในด้านความมั่นใจ ความเข้าใจ ในการเรียนรู้การผ่าตัดส่องกล้อง
ผลลัพธ์: พบว่าแพทย์ประจำบ้านศัลยกรรมกระดูก ทั้ง 31 คน หลังการเรียนการผ่าตัดส่องจำลอง เมื่อเปรียบเทียบระหว่างก่อน และหลังการเรียน มีค่าระยะเวลาเฉลี่ยในการทำรูปแบบการฝึกให้เสร็จสมบูรณ์ของฐานปฏิบัติการที่ 1 โดยที่ชั้นปีที่ 1 ถึง 4 และค่ารวมทุกชั้นปี ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ (P < 0.001) ตามลำดับ ดังนี้ 41.3%, 43.1%, 56.9%, 44.9% และ 43.3% ค่าระยะเวลาเฉลี่ยในการทำรูปแบบการฝึกให้เสร็จสมบูรณ์ของฐานปฏิบัติการที่ 2 โดยที่ชั้นปีที่ 1 ถึง 4 และค่ารวมทุกชั้นปี ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ (P < 0.001)ตามลำดับ ดังนี้ 38.5%, 41%, 55.2%, 48% และ 46.3% ซึ่งแสดงถึงการมีทักษะพื้นฐานทางการส่องกล้องที่ดีขึ้น
อีกทั้งยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับการผ่าตัดส่องกล้องเฉลี่ยรวมทุกชั้นปี เพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ (P < 0.001) ดังนี้ จาก 2.86/5 เป็น 4.86/5 เพิ่มขึ้น 41.20 % ความมั่นใจเกี่ยวกับการผ่าตัดส่องกล้องเฉลี่ยรวมทุกชั้นปี เพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ (P < 0.001) ดังนี้ จาก 2.36/5 เป็น 4.56/5 เพิ่มขึ้น 48.2 %
ข้อสรุป: ชุดอุปกรณ์ และรูปแบบการสอน การฝึกผ่าตัดส่องกล้องจำลองนี้ ช่วยในการพัฒนาทักษะพื้นฐานการผ่าตัดส่องกล้อง และเพิ่มความเข้าใจ และความมั่นใจในการผ่าตัดส่องกล้อง แก่ผู้ฝึกทุกระดับอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ
เอกสารเก็บข้อมูลแบบประเมินความพึงพอใจ และข้อเสนอแนะ
แบบประเมิน Pre – test และ Post – test
อุปกรณ์ที่ใช้ในการสอน
รางวัลที่ได้รับ:
• Innovative Teaching Award ในงาน Mahidol Quality Fair ประจำปี 2561
• ได้รับรางวัลชมเชย ในงาน HA National Forum ประจำปี 2562
การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา:
• (กำลังดำเนินการ)
การติดต่อ:
นพ.รัฐภูมิ วัชโรภาส
ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล