ถนนคนเดิน

ที่มาและความสำคัญ

ผังแม่บทมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ปี พ.ศ. 2551  ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาปรับปรุงกายกายภาพเพื่อให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ มีลักษณะทางกายภาพที่ตอบสนองสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างกลมกลืน โดยการเปลี่ยนมหาวิทยาลัยที่เน้นการสัญจรทางรถมาเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อคนเดินและจักรยาน มุ่งส่งเสริมวัฒนธรรมที่นอบน้อมต่อธรรมชาติ ตามแนวนโยบาย “ A Promised Place to Leave and Learn with Nature” โดยได้วางหลักในการพัฒนาระบบสัญจร ระบบถนนและที่จอดรถ ระบบทางจักรยาน และระบบทางเดินเท้า ให้สอดคล้องกับการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) ซึ่งประกอบด้วย

  • ความปลอดภัย (Safety)
  • ความเป็นระเบียบเรียบร้อย (Tidiness)
  • ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmentally Sound)
  • ความพึงพอใจของชุมชน (Community Satisfaction)

จึงได้มีโครงการปรับปรุงถนนสายหลักรอบพื้นที่การศึกษา เพื่อเปลี่ยนเป็นเส้นทางเดินเท้าและทางจักรยาน ให้นักศึกษาและบุคลากร ได้ออกกำลังกายด้วยการขี่จักรยาน หรือใช้เป็นลู่วิ่งออกกำลังกาย มีโอกาสได้เดินเท้า พบเจอและทักทายกัน มีต้นไม้ปลูกให้ร่มเงา รวมถึงเกิด Green Lifestyle จากการมีพื้นที่ใหม่ ๆ ทำให้จัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เช่น งานถนนคนเดิน ที่เพิ่มสีสันและความหลากหลายให้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) เป้าหมายที่ 3 (Good Health and Well- being) และ เป้าหมายที่ 11 (Sustainable Cities and Communities)

แนวคิดการออกแบบ

  • ลดความสำคัญของการสัญจรทางรถยนต์ถนนหลักเดิมมีช่องทางการจราจรข้างละ 3 ช่องทาง รวมเป็น 6 ช่องทางให้เหลือความกว้างเพียง 3 ช่องทางการจราจร และไม่มีเกาะกลาง โดยพื้นผิวเดิมมาเป็นพื้นผิวสำหรับรถจักรยานและทางเดิน พร้อมภูมิทัศน์ที่ร่มรื่น
  • จัดทางสัญจรทางรถให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีการพัฒนาใหม่เท่าที่จำเป็นอย่างเพียงพอ
  • พยายามควบคุมเส้นทางการสัญจรทางรถไว้ที่พื้นที่รอบนอกกลุ่มอาคารเพื่อรักษาพื้นที่ภายในส่วนการศึกษาไว้สำหรับทางเดินและจักรยานเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ความร่มรื่น และใกล้ชิดกับธรรมชาติ
  • จัดลานจอดรถเดิมที่ยังจำเป็นสำหรับพื้นที่ และจัดที่จอดรถเป็นอาคารหลายชั้นเพื่อรวมที่จอดรถที่เคยกระจัดกระจายอยู่ท่ามกลางกลุ่มอาคารและสองข้างถนนให้อยู่รวมกันเพื่อความเป็นระเบียบพร้อมกับเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยเป็นที่จอดรถเป็นที่ว่างสีเขียวเพื่อรองรับกิจกรรมของนักศึกษา บุคลากร เพื่อส่งเสริมบรรยากาศของการศึกษาการ ทำงาน และการอยู่อาศัย ท่ามกลางธรรมชาติที่ร่มรื่น งดงาม
  • การเน้นบริการรถขนส่งสาธารณะและการสัญจรในมหาวิทยาลัยโดยการเดินและขี่จักรยาน

ทางลาด และ Cover way

มหาวิทยาลัยมหิดลได้ตระหนักถึงการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ดี การจัด Facility ต่างๆ ตามหลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) เพื่อรองรับนักศึกษา บุคลากร บุคคลภายนอก รวมถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายที่เข้ามาใช้พื้นที่ ในทุกเพศทุกวัย ให้ได้รับความสะดวกสบายและเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) คือ

เป้าหมายที่ 3 (Good Health and Well- being)

เป้าหมายที่ 10 (Reduced Inequalities)

เป้าหมายที่ 11 (Sustainable Cities and Communities)

โดยมหาวิทยาลัยฯ จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานสำหรับคนพิการ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ได้แก่ ที่จอดรถ ทางลาด ป้ายสัญลักษณ์ ห้องน้ำ และการบริการข้อมูล สำหรับอาคารสาธารณะส่วนกลาง เช่น อาคารสำนักงานอธิการบดี อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล อาคารมหิดลสิทธาคาร และอาคารสิริวิทยา รวมถึงบริเวณสถานีสถานีรถรางและสถานี รถ SHUTTLE BUS (Bus Terminal) ด้วยเช่นกัน พื้นที่ทางสัญจรส่วนกลางได้มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ดังนี้

ทางเท้าของถนนสายหลักรอบพื้นที่การศึกษาและทางเดินมีหลังคาคลุม (Cover way)

  • ทางเท้ามีความกว้างตั้งแต่ 1.50 – 5.50 เมตร ลักษณะพื้นผิวทางเท้าเรียบเสมอกัน ไม่ลื่น ไม่มีสิ่งกีดขวางที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อคนพิการ บริเวณทางเท้าทางจักรยานถนนสายหลักมีที่นั่งพักตลอดแนวทางเดิน สองฝั่ง สำหรับให้คนทั่วไปและคนพิการสามารถใช้ร่วมกันได้ โดยบริเวณจุดนั่งพักมีพื้นที่เพียงพอสำหรับจอดรถวีลแชร์โดยไม่กีดขวางทางสัญจร
  • ทางลาด จัดให้มีทางลาดในบริเวณพื้นที่ต่างระดับ เช่น บริเวณทางลงทางข้ามถนนและทางข้ามทางม้าลาย พื้นผิวเป็นวัสดุที่ป้องกันการลื่นไถล โดยทางลาดมีความกว้างไม่น้อยกว่า 0.90 เมตร และมีความลาดเอียงไม่เกิน 1 : 12 ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎกระทรวง
  • พื้นผิวต่างสัมผัส พื้นทางเดินจัดให้มีพื้นผิวสัมผัสและสี ซึ่งมีความแตกต่างไปจากบริเวณข้างเคียง เช่น ในบริเวณก่อนทางขึ้นและทางลงของทางลาด บริเวณที่เป็นทางแยกหรือทางเลี้ยว บริเวณพื้นต่างระดับ ป้ายรอรถราง นอกจากนั้นบริเวณถนนผสานเทศไทยยังได้จัดให้มีพื้นที่ผิวต่างสัมผัส บริเวณลงทางลาดทางม้าลายเป็นทางข้ามสำหรับคนพิการ เพื่อเตือนให้คนพิการทางสายตา ทราบถึงตำแหน่งทางลาด ทางแยก ทางเลี้ยว และทางข้ามถนน
  • ป้ายและสัญลักษณ์จราจร การติดตั้งป้ายบอกทางและป้ายสัญลักษณ์จราจรบนทางเท้า กำหนดให้มีความสูงจากพื้นทางเดินไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร เพื่อป้องกันกระทบศีรษะ ติดตั้งป้ายอยู่ในแนวเดียวกันเพื่อไม่ให้กีดขวางทางเดิน และมีสัญลักษณ์คนพิการบนทางลาดลงทางม้าลายข้ามถนนผสานเทศไทย

Cover way สะพานดาว

  • เป็นทางเดินแบบมีหลังคาคลุม (Cover Way) และสะพานลอยข้ามถนนบรมราชชนนี เชื่อมพื้นที่มหาวิทยาลัยทั้ง 2 ฝั่ง คือพื้นที่วิทยาลัยราชสุดาและพื้นที่การศึกษาหลักเข้าด้วยกันมีความกว้าง 2.30 เมตร มีพื้นผิวเรียบเสมอกัน ทำให้ไม่เป็นอุปสรรคในการสัญจรของคนพิการทุกประเภท บริเวณทางแยกทางเลี้ยวมีการติดตั้งพื้นผิวต่างสัมผัสสำหรับคนพิการสายตาและติดตั้งกระจกสะท้อนเพื่อให้คนพิการทางการได้ยินใช้เป็นสื่อสัมผัสการมองสภาพการสัญจร บริเวณทางลาดขึ้นและลงของสะพานข้ามถนนบรมราชชนนี มีความชันไม่เกิน 1 : 12 และทุกช่วงความยาว 6.00 เมตร มีชานพักยาวไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร พร้อมติดตั้งราวกันตกทั้ง 2 ข้าง ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎกระทรวง