BIO DIESEL

มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ได้มีโครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันประกอบอาหารของศูนย์อาหารนั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2560 จากการไปศึกษาดูงานต้นแบบในการดำเนินโครงการจากสถานที่ต่างๆ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้มีแนวคิดนำน้ำมันที่ใช้แล้วจากโรงอาหาร กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งผ่านกระบวนการต่างๆจนได้เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกอีกประเภทหนึ่ง โดยใช้ต้นทุนการผลิตไบโอดีเซลเพียง 20-24 บาท ต่อ 1 ลิตร เท่านั้น เพื่อนำไบโอดีเซลที่ได้จากกระบวนการผลิตนำไปใช้กับ รถขนของ รถบรรทุกต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย และนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนโดยรอบอีกด้วย โดยโครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันประกอบอาหาร เป็นการนำน้ำมันเก่าหรือน้ำมันที่ผ่านการใช้งานมาแล้วเข้ากระบวนการใช้ปฏิกิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่น (Transesterification) ผสมส่วนผสมต่างๆจนออกมาเป็นไบโอดีเซล  สำหรับเครื่องผลิตน้ำมันไบโอดีเซลได้ตั้งอยู่ที่ อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล

พื้นที่บริเวณศูนย์การเรียนรู้มหิดล เป็นพื้นที่ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยและมีศูนย์อาหารกลางที่สามารถรองรับผู้มาใช้บริการได้มากกว่า 1,000 คน อยู่ภายในอาคาร ทำให้ศูนย์อาหารแห่งนี้เกิดน้ำมันใช้แล้วจากการทอดซ้ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากผู้ประกอบการร้านค้ากำจัดไม่ถูกวิธีก็จะทำให้เกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมได้ สำหรับการผลิตไบโอดีเซลใช้ปฏิกิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่น (Transesterification) ซึ่งเป็นการทำปฏิกิริยาเคมีระหว่างน้ำมันกับแอลกอฮอล์ได้ผลิตภัณฑ์เป็นเอสเทอร์และกลีเซอรอล โดยมีตัวเร่งในปฏิกิริยา

ขั้นตอนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล
  1. นำน้ำมันทอดซ้ำ 50 ลิตร กรองผ่านถังกรอง
  2. น้ำมันที่ผ่านการกรองแล้วจะถูกปั๊มมาไว้ที่ถังทำปฏิกิริยา และมีการต้มไล่ความชื้น ที่อุณหภูมิ 110 ºC เป็นเวลา 30 นาที จากนั้นพักน้ำมันให้เย็น จนกระทั่ง น้ำมันมีอุณหภูมิ 50-55 ºC
  3. เตรียมสารเคมีสำหรับใช้ในการผลิตไบโอดีเซลในถังผสมสาร โดยเติมเมทานอล 10 ลิตร (20% ของปริมาณน้ำมัน) ลงในถังกวนสาร จากนั้นเติมโปแทสเซียมไฮดรอกไซด์ 600 กรัม (1.2% ของปริมาณน้ำมัน) ลงในถัง ค่อยๆกวนสารให้เข้ากัน แล้วจึงปล่อยสารลงในถังทำปฏิกิริยา
  4. ถังทำปฎิกริยา จะมีน้ำมันที่ผ่านการกรองและสารเคมีที่ผสมแล้ว (เมทานอล+โปแทสเซียมไฮดรอกไซด์) ตั้งอุณหภูมิที่ 50-55 ºC และกวนสารเป็นเวลา 10 นาที
  5. จากนั้นปล่อยให้น้ำมันแยกตัว (ใช้เวลาข้ามคืน) จะแยกส่วนของน้ำมันไบโอดีเซล (สีเหลืองใส) กับ กลีเซอรีน (สีน้ำตาลเข้ม)
  6. ล้างทำความสะอาดน้ำมันไบโอดีเซล (สีเหลืองใส) ที่ได้ 3-4 ครั้ง แล้วจึงต้มไล่ความชื้นอีกครั้ง พักให้เย็น จึงปั๊มมาเก็บไว้ที่ถังสุดท้ายสำหรับเก็บไบโอดีเซล

น้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตได้ นำไปใช้กับรถขนของภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้เกิดการนำมาใช้ใหม่ ช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนโดยรอบ และสร้างระบบการจัดการน้ำมันใช้แล้วอย่างยั่งยืนต่อ โครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันประกอบอาหาร ได้รับความร่วมมือจาก ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 7 (AFFORDABLE AND CLEAN ENERGY)