ISO 14001:2015

ISO 14001:2015 เป็นมาตรฐานสากลสำหรับระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กร เพื่อเพิ่มสมรรถนะสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร และเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้ข้อกำหนดที่ได้ระบุไว้ในมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ซึ่งจะพิจารณาประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม (environmental aspects) ที่เกิดจากกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการ ทั้งวัฏจักรชีวิต (life cycle perspective) ที่องค์กรสามารถควบคุม หรือดำเนินได้เพื่อให้เกิดการปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ

กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นถึงความสำคัญของการระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กร จึงได้ขอการรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2015 จาก UKAS MANAGEMENT SYSTEM โดยทีมตรวจประเมินจาก บริษัท เอ็นคิวเอ ซี.เอส. (ไทยแลนด์) จำกัด และได้รับการรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล  ISO 14001:2015  เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 โดยหลักการตรวจประเมิน จะเน้นในเรื่องของการบริหารจัดการนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงบทบาทขององค์กร ความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ในการบริหารระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งการรับรองมาตรฐานนี้จะมีอายุของการรับรอง 3 ปี และจะต้องมีการทบทวนการดำเนินงานของระบบดังกล่าวโดยผู้ออกการรับรอง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ดังนั้น กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีการดำเนินการระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2015 อย่างต่อเนื่อง มีการแต่งตั้งคณะทำงานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2015 มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะกรรมการตรวจประเมินภายใน ISO 14001:2015 มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงเชิญวิทยากรอบรมเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจในหลักการและข้อกำหนดต่าง ๆ ให้บุคลากรกองกายภาพและสิ่งแวดล้อมทั้งด้านข้อกำหนดทั่วไปและการตรวจประเมินระบบจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการทบทวนการดำเนินงานของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2015 ดังนี้

ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562

ครั้งที่ 2  เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563

นอกจากนี้ กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการดำเนินการระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2015 อย่างต่อเนื่อง โดยแต่งตั้งคณะทำงานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2015 มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะกรรมการตรวจประเมินภายใน ISO 14001:2015 มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนดำเนินการจัดอบรมเกี่ยวกับ ISO 14001:2015 ให้กับคณะกรรมการ คณะทำงาน และบุคลากรกองกายภาพ ในหลักสูตรข้อกำหนดทั่วไป (Requirements and Implementation) ประกอบด้วยบริบทองค์กร ความเป็นผู้นำ การวางแผน ส่วนการสนับสนุน การปฏิบัติการ การประเมินผลการดำเนินงาน การปรับปรุง ซึ่งมีผู้ผ่านการอบรมแล้วทั้งสิ้น 60 คน และหลักสูตรผู้ตรวจประเมินภายใน ประกอบด้วย คุณสมบัติของผู้ตรวจประเมินหลักการและวิธีตรวจประเมิน การรายงานผลการตรวจประเมิน ซึ่งมีผู้ผ่านการอบรมแล้วทั้งสิ้น 20 คน (ข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2564) และจะดำเนินการอบรมหลักสูตรผู้ตรวจประเมินภายในเพิ่มเติมในช่วงวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2564 จากการให้ความสำคัญในการอบรมแก่บุคลากรเป็นประจำทุกปี ทำให้ทุกคนรู้ถึงความสำคัญและมองเห็นทิศทางการดำเนินงานในทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 นี้ กองกายภาพและสิ่งแวดล้อมยังดำเนินการตามคู่มือสิ่งแวดล้อมเช่นเดิม และจะพิจารณาเพิ่มเติมในส่วนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส 2019 (Covid-19) ที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อม จึงต้องมีการหามาตรการควบคุมในแต่ละกิจกรรมที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด นั่นคือ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม 14001:2015 ไม่เพียงแต่จะเป็นการพัฒนาและสร้างการทำงานอย่างเป็นระบบแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์กรและสังคม โดยเน้นการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นในการป้องกันมลพิษ (Prevention of Pollution) และการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมของสำนักงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แนวคิดเรื่องระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดซื้อจัดหาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การลดของเสีย (Waste Minimization) การป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม (Pollution Prevention) เป็นหลักในการกำหนดทิศทางการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ

 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

กรมควบคุมมลพิษ ISO 14001

https://www.pcd.go.th/iso/

ค้นหากฎหมายที่เกี่ยวข้อง

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/announce/search.jsp )

การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม 14001:2015 ไม่เพียงแต่จะเป็นการพัฒนาและสร้างการทำงานอย่างเป็นระบบแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์กรและสังคม โดยเน้นการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นในการป้องกันมลพิษ (Prevention of Pollution) และการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมของสำนักงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แนวคิดเรื่องระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดซื้อจัดหาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การลดของเสีย (Waste Minimization) การป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม (Pollution Prevention) เป็นหลักในการกำหนดทิศทางการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในสำนักงานอย่างเป็นระบบ