ม.มหิดล ปรับปรุง ป.โท ชีวเวชศาสตร์ทางการสัตวแพทย์ รับสมัครครอบคลุมผู้จบวิทย์สุขภาพ
17/02/2023
กองบริหารงานทั่วไป มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าศึกษาดูงานบริษัท สยามคราฟท์ อุตสาหกรรม จำกัด เพื่อนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
17/02/2023
ม.มหิดล ปรับปรุง ป.โท ชีวเวชศาสตร์ทางการสัตวแพทย์ รับสมัครครอบคลุมผู้จบวิทย์สุขภาพ
17/02/2023
กองบริหารงานทั่วไป มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าศึกษาดูงานบริษัท สยามคราฟท์ อุตสาหกรรม จำกัด เพื่อนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
17/02/2023

ม.มหิดล เตรียมเปิดอบรม “ทักษะพร้อมใช้” ดูแลผู้บาดเจ็บนอกโรงพยาบาลออนไลน์

ไม่ว่าจะเป็นผู้ใดก็ตามที่ได้ยินเสียงไซเรน (siren) ต่างภาวนาให้ผู้ประสบเหตุที่กำลังรอคอยปาฏิหาริย์อยู่ในรถพยาบาลฉุกเฉิน (ambulance) ผ่านพ้นนาทีวิกฤติ กลับบ้านไปด้วยความปลอดภัย

การแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ภายในโรงพยาบาล อาสาสมัครอาจมาจากสมาชิกในชุมชนหรือเคยเป็นผู้ป่วยมาก่อน เช่นเดียวกับ “อาสาสมัครกู้ชีพ” หากได้ฝึกฝนให้มี “ทักษะพร้อมใช้” จะทำให้โอกาสรอดชีวิตของผู้ประสบเหตุไม่เป็นเพียงแค่ปาฏิหาริย์

รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ไชยพร ยุกเซ็น หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุและมีผู้บาดเจ็บ หากรอคอยแต่การช่วยเหลือจากทีมแพทย์ฉุกเฉินอาจไม่ทันกาล วิธีที่ดีสุดที่จะไม่นำไปสู่การสูญเสีย หรือบาดเจ็บรุนแรง คือ การฝึกทักษะเพื่อการดูแลตัวเอง และผู้ประสบเหตุ ตลอดจนเรียนรู้กลไลและวิธีป้องกันอุบัติเหตุ

เพราะนาทีแห่งวิกฤติ ไม่ใช่ช่วงเวลาของการลองผิดลองถูกหากได้เรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาล ห้ามเลือด ปั๊มหัวใจ การแจ้งเหตุฉุกเฉิน และเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บอย่างถูกวิธี ก็จะสามารถช่วยชีวิตตัวเอง และผู้อื่นได้ไม่ยาก ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ต่อยอดหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาฉุกเฉินทางการแพทย์ เพื่อขยายผลสู่ภาคประชาชน สู่รายวิชาออนไลน์เพื่อฝึกทักษะการดูแลผู้บาดเจ็บนอกโรงพยาบาลในระดับเบื้องต้น

แม้จะไม่ถึงกับเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีใบอนุญาตจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นใบเบิกทางสู่การปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มตัวในพื้นที่เกิดเหตุดังเช่น “อาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์” แต่รายวิชาออนไลน์ “การดูแลผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล” จะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมเกิดความเชื่อมั่นที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ต่อไปในยามฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดี รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ไชยพร ยุกเซ็น เตือนกรณีที่เข้าใจกันคลาดเคลื่อนว่าจะต้องเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บในทันทีที่เกิดเหตุ ซึ่งหากทำโดยไม่จำเป็นและไม่ถูกวิธี อาจยิ่งทำให้เป็นอันตราย ในขณะที่หากมีการบาดเจ็บที่จะต้องมีการห้ามเลือด หรือปั๊มหัวใจจะต้องทำในทันทีโดยไม่ต้องรอทีมแพทย์ ซึ่งหากสามารถทำได้อย่างถูกวิธีอาจช่วยยื้อชีวิตผู้ประสบเหตุได้ระหว่างรอ

ในฐานะผู้ก่อตั้งรายวิชาออนไลน์ “การดูแลผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล” รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ไชยพร ยุกเซ็น พร้อมทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล มอบองค์ความรู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ดำเนินชีวิตด้วยความปลอดภัย ห่างไกลจากอุบัติเหตุ

โดยจะเปิดให้ผู้สนใจทั่วไปลงทะเบียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมรับ E-Certificate จากมหาวิทยาลัยมหิดล และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อใช้เทียบโอนเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรปกติ เมื่อผ่านการอบรมและทดสอบตามเกณฑ์ที่กำหนดทาง MUx ได้ในเร็วๆ นี้ ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://mux.mahidol.ac.th

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210