ม.มหิดล ร่วมเสกสรรค์เมนูข้าวโอ๊ตจาก “อาหารสู้ชีวิต” สู่ “อาหารเพื่อชีวิต”
17/02/2023
ม.มหิดล เตรียมเปิดอบรม “ทักษะพร้อมใช้” ดูแลผู้บาดเจ็บนอกโรงพยาบาลออนไลน์
17/02/2023

ม.มหิดล ปรับปรุง ป.โท ชีวเวชศาสตร์ทางการสัตวแพทย์ รับสมัครครอบคลุมผู้จบวิทย์สุขภาพ

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกชีวิตต่างต้องเติบโตด้วยอาหาร รวมถึงอาหารจากเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นแหล่งสร้างโปรตีนที่สำคัญ

รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์ศิวะพงษ์ สังข์ประดิษฐ์ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์ทางการสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป ทางคณะฯ ได้ปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์ทางการสัตวแพทย์ ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอาหารปลอดภัย (Food Safety) ที่จะเป็นการเปิดกว้างให้ผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพทั่วไปสามารถมาลงทะเบียนเรียนกับหลักสูตรฯ ได้ด้วย

ด้วยความเป็นนานาชาติทำให้หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์ทางการสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดสู่บริบทโลก ดึงดูดชาวต่างชาติให้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหลักสูตรฯ ทำให้บทบาทแห่งการเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ขยายวงกว้างออกไปอย่างไม่สิ้นสุด

ด้วยความเชื่อที่ว่าหากสัตว์มีสุขภาพดี คนก็จะมีสุขภาพดีไปด้วย ที่ผ่านมา นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาชีวเวชศาสตร์ทางการสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมุ่งศึกษาวิจัยในเรื่องของสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับคน อาทิ งานวิจัยเกี่ยวกับ “ริ้น” ซึ่งเป็นแมลงนำโรคที่สำคัญในปศุสัตว์ ซึ่งได้แก่ สัตว์ที่เลี้ยงไว้ในระบบควบคุมเพื่อนำมาทำเป็นอาหารและการศึกษาสเต็มเซลล์ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยของคนต่อไปได้ เป็นต้น

และด้วยความพร้อมทางด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ และสถานที่ซึ่งรวมอยู่ในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 (Biosafety Laboratory Level 3 – BSL 3) ที่ คณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างขึ้นเพื่อรองรับงานวิจัยขั้นสูงต่างๆ

นอกจากนี้ นักศึกษาของหลักสูตรฯ ยังจะได้ทำงานวิจัยร่วมกับเจ้าของสัตว์และสัตว์ที่มาตรวจรักษาในโรงพยาบาลสัตว์ภายใต้สังกัดของ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้แก่ที่ โรงพยาบาลสัตว์ประศุอาทร วิทยาเขตศาลายา และโรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลันมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี อีกด้วย

ในยุคที่โรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นจนกลายเป็นวิกฤติ ทำให้ทุกฝ่ายต้องผนึกกำลังเพื่อสร้างความเข้มแข็งขึ้นมาเป็นเกราะป้องกัน ไม่เพียงบุคลากรทางการแพทย์แต่เพียงเท่านั้นที่ต้องทำงานหนัก สัตวแพทย์เองก็ต้องมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอเพื่อตัดวงจรโรคที่อาจเกิดขึ้นได้กับทั้งคนและสัตว์ โดยหลักสูตรได้ใช้แนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว ซึ่งเป็นปรัชญาของคณะฯ มาใช้ในการสอนและการทำวิจัย

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์ทางการสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดรับสมัครในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม และตุลาคมของทุกปี ผู้สนใจติดตามได้ที่ www.grad.mahidol.ac.th และ www.vs.mahidol.ac.th

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ให้คะแนน
PR
PR