นโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทยที่ผลิตบัณฑิตคุณภาพในหลากหลายสาขาอาชีพสู่สังคมเพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศด้วยปณิธานสำคัญของการเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” นำมาซึ่งการตั้งเป้าหมายที่จะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก ด้วยเป้าหมายอันท้าทายนี้ ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงได้วางแผนนโยบายเพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนอย่างเต็มภาคภูมิด้วยการสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง มั่นคง และยั่งยืน ผ่านยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2563 – 2566 โดยมี “นโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ “Mahidol Eco University and Sustainability Policy” ภายใต้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตาม 17 เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : 17 SDGs) ที่จัดทำขึ้นโดยองค์กรสหประชาชาติ (United Nations : UN) ซึ่งเป็นเป้าหมายโลกแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งแต่ปี 2558-2573
โดย “นโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ “Mahidol Eco University and Sustainability Policy” ภายใต้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มหาวิทยาลัยมีความพร้อมในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยฯ อย่างมีคุณภาพจะถูกดำเนินการผ่านกลยุทธ์สำคัญ 3 กลยุทธ์ ได้แก่
1.) กลยุทธ์การพัฒนารากฐานการเติบโตที่ยั่งยืน (Sustainability Growth) จะถูกนำไปประยุกต์ใช้กับทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยผ่านการประสานข้อมูลร่วมกับองค์กร ศาสตร์และศิลป์ และแนวคิดจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลกเพื่อให้ได้แบบแผนในการประยุกต์ใช้ที่มีคุณภาพ เข้าใจง่าย และเข้าถึงได้ อันได้แก่
- การพัฒนางานวิจัยที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
- การพัฒนา และส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสังคมตามนโยบาย Thailand 4.0
- การพัฒนาการศึกษา สร้างความรู้ความเข้าใจในแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และหลักเศรษฐกิจพอเพียง
- ความมั่นคง และเติบโตด้านเศรษฐกิจ
- การบริหารองค์กรที่เป็นผู้นำด้านความยั่งยืน
2.) กลยุทธ์การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Sustainable Resources Use) ที่มีแนวทางพร้อมเป้าหมายที่เน้นการปฏิบัติในเชิงสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน พร้อมสำหรับการนำไปประยุกต์ใช้ดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยเป็นองค์กร Net Zero Emissions ในปี 2030
- การปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency)
3.) กลยุทธ์การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน (Sustainable Society) ที่มุ่งเน้นตัวบุคคลเพื่อให้เกิดการปฏิบัติในระดับปัจเจกไปจนถึงกลุ่มสังคม โดยใส่ใจในพฤติกรรมส่วนบุคคลและองค์รวมที่จะผลักดันให้เกิดการแบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์ ความรู้ แนวคิด หรืออื่นๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในครั้งนี้ ผ่านรูปแบบกิจกรรมดังนี้
- การส่งเสริมโครงการ/กิจกรรมเพื่อสังคม (Social Responsibility) ที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน
- การส่งเสริมความเท่าเทียมกัน (Equity) ของทุกคน
- การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน
- การส่งเสริมความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัย
- การสร้างบรรยากาศสังคมในมหาวิทยาลัยที่มีความสุขสำหรับบุคลากรและนักศึกษา
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดลจะร่วมมือกับองค์กรในทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือเอกชนในทุกระดับทั้งในและต่างประเทศเพื่อการแบ่งปันและนำมาซึ่งข้อมูลอันเป็นประโยชน์สำหรับ “นโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” อันจะนำมาซึ่งความพร้อมที่เต็มไปด้วยคุณภาพสำหรับการผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ที่วางไว้ภายในปี พ.ศ. 2566 ด้วยการมุ่งเน้น “การพัฒนาระบบการบริหารจัดการ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และความสามารถในการแข่งขันของชาติ รวมทั้งคำนึงถึงการสร้างโอกาสความเท่าเทียมทางสังคม” ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน โดยหวังว่าแผนนโยบายฯ ในครั้งนี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับขอบเขตที่กว้างขึ้น เช่น สังคม หรือประเทศชาติ ในภายภาคหน้าได้อีกด้วย