วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมนานาชาติเรื่อง การศึกษาและการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกในภาคพื้นเอเชีย (The Kyoto University International ONLINE Symposium 2020 on Education and Research in Global Environmental Studies in Asia) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นางาฮิโร มินาโตะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกียวโต ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ หัวหน้าภาควิชา และคณาจารย์ในสาขาวิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม วิชาวิศวกรรมเคมี และคณาจารย์ จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ และวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมประชุมจาก 71 มหาวิทยาลัย และองค์กรชั้นนำเข้าร่วมจาก 18 ประเทศ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ไต้หวัน อินเดีย จีน ลาว พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ปากีสถาน แทนซาเนีย เวียดนาม และประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมออนไลน์ครั้งนี้
การประชุมครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมนานาชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโต แห่งประเทศญี่ปุ่น ผ่านโปรแกรมประชุมทางไกล Zoom Meeting ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค. 2563
โดยประเด็นสำคัญของการประชุม คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับ “Post COVID-19 Countermeasures in Education and Research” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายเกี่ยวกับความสำเร็จของประเทศไทยกับการจัดการ COVID-19 ในหัวข้อ COVID-19: Catalyst of the Change in Medical Education and Technological Development และ Prof. Hajime Kita จาก Kyoto University บรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับ Moving Teaching Online – Kyoto University’s Response to COVID-19 รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการการรับมือในช่วงหลัง COVID-19 จากมหาวิทยาลัยที่เป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยเกียวโตที่เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ด้วย ได้แก่ Tsinghua University (China), Hanoi University of Science and Technology (Vietnam), University of Malaya (Malaysia), IPB University (Indonesia), Banaras Hindu University (India), The University of Lille (France) และ Sokoine University of Agriculture (Tanzania)
นอกจากนี้ ยังมีการสัมมนาของนักวิจัยรุ่นใหม่เกี่ยวกับการศึกษาสิ่งแวดล้อมโลกใน 4 หัวข้อหลัก ประกอบด้วย 1. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science & Technology) 2. การเกษตรและชีวภาพ (Agriculture & Biology) 3. การวางแผนผังพัฒนาเมืองและชนบท (Urban & Rural Planning) และ 4. นโยบายและเศรษฐกิจ (Policy & Economics) ซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาและวิจัยในอนาคต พร้อมทั้งนำเสนอแผนความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการศึกษาและการวิจัย และการอภิปรายข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทิศทางความร่วมมือระหว่างประเทศในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน
อ่านรายละเอียดทั้งหมด ที่นี่
ขอขอบคุณภาพการประชุมจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล