เรียนออนไลน์ เด็กท้อ พ่อแม่เครียด
29/06/2022
บทวิเคราะห์: ปัญหาน้ำท่วมกับแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว
29/06/2022

ก้าวผ่าน 9 วิกฤติโควิด สู่โอกาสการพัฒนาเด็กและครอบครัว

วันที่ 10 ต.ค. 2564 เวลา 08:25 น.

โดย…รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

******************************

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจในการสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการในการพัฒนา คุ้มครองเด็กและครอบครัว ซึ่งปีที่ผ่านมาเด็กและครอบครัวถูกผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 เป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่าเด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียน วัยรุ่น ขาดความต่อเนื่องจากการพัฒนา ต้องหยุด โรงเรียน ขาดพฤติกรรมทางด้านสังคม ตลอดจนขาดการเรียนรู้ ในส่วนของครอบครัวก็ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจครัวเรือน ครอบครัวมีความยากลำบากมากขึ้น จากสถานการณ์เหล่านี้ สถาบันฯ จึงได้ลงพื้นที่ทำโครงการที่เรียกว่า Home Based Education โดยทำงานร่วมกับครูเด็กปฐมวัย ผู้นำชุมชน และอาสาสมัคร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กลุ่มคนเหล่านี้ ไปทำงานกับครอบครัวและชุมชนต่อไป โดยการพยายามที่จะฟื้นฟูครอบครัว และชีวิตเด็ก ให้กลับเข้ามาสู่สังคมอีกครั้ง ผ่าน 9 มุมมองวิกฤติที่พลิกสู่โอกาสในการพัฒนาเด็ก รวมถึงให้ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้ทุกครอบครัวก้าวพ้นข้ามผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปได้ บนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาผสมผสานกับเรื่องของการพัฒนาเด็กและครอบครัวเข้าด้วยกัน

โดยวิกฤตทั้ง 9 ที่ทางสถาบันฯ ให้ความสำคัญและนำมาเคราะห์เพื่อนำไปสู่การแก้ไขให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ไป มีดังนี้ (1)วิกฤตสิ่งแวดล้อม เชื้อไวรัสโควิด 19 เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในสัตว์ ปกติจะไม่ข้ามมาอยู่ในคน แต่เนื่องจากสิ่งแวดล้อมของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปทำให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเช่นไวรัส แบคทีเรียมีการกลายพันธุ์ เชื้อไวรัสโควิด 19 เกิดการกลายพันธุ์กระโดดจากสัตว์เข้าสู่คนเป็นกลุ่มที่เราเรียกว่า zoonosis เมื่อเข้ามาสู่คนแล้วทำให้เกิด (2)วิกฤตระบบสาธารณสุข ทำให้คนเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก และรวดเร็วเกินกว่าที่ระบบสาธารณสุขของทุกประเทศจะรองรับได้ทัน มีผู้ป่วยที่ต้องถูกทอดทิ้งนอกสถานพยาบาลจนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากทุกประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจนในประเทศไทยเอง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึง 20 กันยายน 2564 พบการเจ็บป่วยกว่า 900,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กร้อยละ 21 หรือ 180,000 ราย แม้อัตราการป่วยตายจะไม่สูงเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุ คืออัตราการป่วยตายประมาณ 3 : 10,000 คน ในขณะที่ผู้สูงอายุมีอัตราการป่วยตายประมาณ 900 : 10,000 คน หรือ 300 เท่าของเด็ก แต่เด็กก็ยังได้รับผลทางอ้อมจากปัญหาของสังคมและครอบครัว มีผลต่อสุขภาพทางกายและจิตใจ กว่า 10 เท่าของเด็กที่เจ็บป่วยจากการติดเชื้อ วิกฤตทางสังคมที่ก่อให้เกิดการป่วยทางอ้อมในเด็ก

(3)วิกฤตองค์กรและการประกอบอาชีพ หน่วยงานหลายหน่วยต้องหยุดการทำงาน ลดเงินเดือน หรือแม้แต่ให้ออกจากงาน ผู้ทำงานอิสระไม่สามารถประกอบอาชีพต่อได้ หลายอาชีพต้องหยุดและขาดรายได้ สวัสดิการ-ประกันสังคมชดเชยการตกงาน หรือชุดผลประโยชน์ช่วยเหลือผู้ตกงานจากภัยพิบัติของภาครัฐไม่สามารถตอบสนองต่อประชาชนได้อย่างทั่วถึง จากการเก็บข้อมูลของ JLL บริษัทจัดการอสังหาริมทรัพย์ เกี่ยวกับการทำงานที่บ้านในยุคที่โควิด-19 ระบาด เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จากมนุษย์เงินเดือนจำนวน 3,300 คน พบว่า บางส่วนไม่ได้ “แฮปปี้” กับการทำงานที่บ้านอีกแล้ว หลังจากต้องทำงานที่บ้านมานานนับปี ในปีนี้มนุษย์เงินเดือนเพียง 37% เท่านั้น ที่มองว่าการทำงานที่บ้านมีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีกว่า ลดลงจาก 48% ในผลการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว จากการสำรวจข้อมูลเด็กปฐมวัยและครอบครัวในชุมชนแออัด 91 รายเก็บโดยผู้นำชุมชน / อสม. / ครูศูนย์เด็กเล็ก พบว่า ผู้ปกครอง หรือพ่อแม่ของเด็กที่ประกอบอาชีพรับจ้าง อาชีพค้าขาย หรืออาชีพอิสระที่ต้องพึ่งพารายได้แบบวันต่อวัน รายได้ครอบครัวลดลง หรือขาดรายได้ 95.6% คนในครอบครัวมีความเครียด จนใช้ความรุนแรง 29.7% เมื่อเกิดวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านตลาดแรงงาน เกิดอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ด้านสุขภาพ อัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้นเป็นสองเท่า จนนำไปสู่

(4) วิกฤตครอบครัว ครอบครัวต้องยากจนลงส่งผลให้เกิดสุขภาพจิตที่อ่อนแอลง หลายครอบครัวมีการแตกแยกหย่าร้าง มีความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น มีการใช้สารเสพติด เมาสุรา มีการก่ออาชญากรรมสมาชิกในครอบครัว มีอาการความเสื่อมทางสุขภาพจิตไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความก้าวร้าวรุนแรง ความซึมเศร้าถดถอยนำไปสู่ (5)วิกฤตความเครียดเป็นพิษในเด็ก ความตึงเครียดของครอบครัว ความบกพร่องของครอบครัว จากเหตุโรคระบาดนำไปสู่การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการละเลยทางกาย ทางใจ การทารุณกรรมทำร้ายทางกาย ทางใจหรือทางเพศก็ตาม แต่เกิดขึ้นตามหลังวิกฤตครอบครัว เด็กที่ตกอยู่ในครอบครัวดังกล่าวจะได้รับประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์ (adverse childhood experiences) ทำให้เกิดความเครียดรุนแรง ซึ่งมีผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดสูงกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนกลุ่มสเตียรอยด์หรือกลุ่มอะดรีนาลิน เมื่อสิ่งกรุต้นเร้านี้เกิดซ้ำๆ เป็นเวลานานกับเด็กโดยไม่มีผู้ช่วยเหลือ วงจรประสาทในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าจะจดจำวิธีการตอบสนองนี้เป็นความทรงจำระยะยาวแบบจิตใต้สำนึก ต่อไปในอนาคตเมื่อมีสิ่งกระตุ้นเร้าแม้เพียงเล็กน้อย สมองจะตอบสนองด้วยการหลั่งฮอร์โมนความเครียดระดับสูง ที่เรียกความเครียดเป็นพิษ toxic stress ส่งผลต่อการทำงานของสมอง และนำไปสู่ความไม่พร้อมในการเรียนรู้ ในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่จะปรากฏเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบน ก้าวร้าว ถดถอย หรือพฤติกรรมต่ำต้อย นิ่ง หนี ในวัยกลางคนฮอร์โมนความเครียดระดับสูงระยะยาวจะเป็นต้นเหตุของการเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อ เช่น ความดันสูง เส้นเลือดในสมอง เส้นเลือดหัวใจ ฯลฯ ในส่วนของ พ่อแม่ที่ work from home เด็กๆ ที่ต้องอยู่แต่ในบ้านเนื่องจากโรงเรียนศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยต้องปิดลงจะเป็น

(6)วิกฤตการเรียนรู้และการเล่นของเด็ก พ่อ แม่หลายคนไม่มีศักยภาพเพียงพอและไม่มีประสบการณ์มากพอในการเล่นเรียนรู้ร่วมกับเด็ก ซึ่งเด็กก็จะใช้เวลาอยู่บ้านแบบแช่นิ่ง (sedentary behavior) ติดหน้าจอ เล่นมือถือ เล่นเกมมากขึ้น ขาดการออกกำลังกาย โรงเรียนศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย พื้นที่การเล่นเรียนรู้ของเด็กในชุมชนไม่ว่าจะเป็น สนามเด็กเล่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด สนามกีฬา หรือการจัดบริการกิจกรรมอื่นๆ ในชุมชนที่มีอิทธิพลต่อการเล่นเรียนรู้ของเด็กเป็นระบบนิเวศรอบตัวเด็กต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นพื้นที่ส่งเสริมการเล่นการพัฒนาเด็กได้ เกิดเป็น (7)วิกฤตระบบภูมินิเวศ รอบตัวเด็ก จากรายงานของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ มีเด็กกว่า 400 คน ที่ต้องกำพร้าจากการสูญเสียชีวิตของผู้เลี้ยงดูหลัก ทำให้เด็กเหล่านี้ต้องเข้าสู่การคุ้มครอง การสงเคราะห์เป็นจำนวนมาก ในเวลาเดียวกันระบบสงเคราะห์คุ้มครองที่ใช้บ้านหลังใหญ่เป็นศูนย์กลางของระบบไม่อาจตอบสนองได้อย่างมีคุณภาพ ถือเป็น

(8) วิกฤตของระบบสงเคราะห์เด็ก สำหรับเด็กวัยรุ่นหลายคนอึดอัด ไม่ยอมถูกกักบริเวณในบ้านยังคงออกมาแสดงการต่อต้านมาตรการล๊อคดาวน์ด้วยการแสดงออกว่าไม่สนใจการรักษาระยะห่างใดๆ ทั้งสิ้น จนถึงการก่อกวนเมืองสร้างความวุ่นวาย ตั้งกลุ่ม เมาสุราอาละวาด วัยรุ่นหลายคนกลายเป็นผู้นำเชื้อกลับสู่ผู้สูงอายุในบ้านทำให้เขาต้องสูญเสียปู่ย่าตายายไปด้วยความคึกคะนองของตนเอง นับเป็น (9) วิกฤตพลังหนุ่มสาว ที่เป็นความหวังของสังคมแต่กลับแสดงความเห็นแก่ตัวจนเป็นเหตุให้ปู่ย่าตายายตนเองและผู้สูงอายุคนอื่นๆต้องเสียชีวิต

หากมองในมุมของทั้ง 9 วิกฤต ที่เกิดขึ้นนั้น เราก็ยังได้เห็นโอกาสการฝึกการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็ก ผ่านระบบเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเป็นทักษะการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตที่เด็กทุกคนต้องฝึกไว้ เนื่องจากในปัจจุบันความรู้ใหม่ไหลเข้ามาอย่างรวดเร็วมาก การเรียนในโรงเรียนจากการบอกเล่าของครูไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วประเด็นที่สอง เราเห็นเด็กอีกกลุ่มหนึ่งได้แสดงพลังบวกออกไปช่วยเหลือผู้สูงอายุ กลายเป็นจิตอาสาเพื่อสังคมและชุมชน ทั้งกลุ่มเยาวชนไทยกู้ภัยโควิด กลุ่มสภาเยาวชน กลุ่มเด็กที่รวมตัวกันในชุมชนอีกหลายกลุ่ม เราเห็นพลังบวกของเด็กๆ ซึ่งพลังบวกนี้เป็นสิ่งที่เด็กๆ ต้องใช้ในอนาคตต่อไป ประเด็นที่สาม เราเห็นเด็กที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เห็นเด็กที่ต้องสูญเสียผู้ดูแล สูญเสียวิถีชีวิตปกติของเขา เช่น ไม่ได้ออกไปเที่ยว ไม่ได้ออกไปเล่น แต่เด็กๆ ก็สามารถปรับวิถีชีวิตของตัวเองได้ ทั้งหมดนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กจะต้องมีไว้เพื่อใช้ในโลกอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

เมื่อเวลาผ่านไป เด็กและครอบครัวทุกคนได้บทเรียนสำคัญจากผลกระทบของการทำลายสิ่งแวดล้อม จนเป็นเหตุให้ไวรัสกลายพันธ์จากสัตว์สู่คน ถึงเวลาแล้วที่มนุษชาติจะคิดทบทวนว่าเป้าหมายของสุขภาวะที่ดีนั้น จะหมายถึงการมีอายุยืนยาวและได้บริโภคสิ่งอำนวยความสุขสบายสูงสุดของแต่ละบุคคลไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แต่ต้องหมายถึง การมีอายุยืนยาวที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณ อย่างเท่าเทียมกับเพื่อนร่วมโลกบนความสมดุลกับระบบนิเวศรอบตัวเรา เด็กๆ คงต้องเริ่มเรียนรู้การมีวิถีชีวิตอิงธรรมชาติ ศึกษาเรียนรู้กับธรรมชาติให้มากขึ้นตั้งแต่วันนี้ เพื่อเติบโตไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สู่ผู้รักษาสิ่งแวดล้อมและผู้สร้างสังคมเกื้อกูลเพื่อความยั่งยืนของมนุษยชาติต่อไป


เรียบเรียงโดย :งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล

คุณศรัณย์

ให้คะแนน
PR
PR