การใช้ AI ตรวจสอบมาตรฐานชนิดเมล็ดพันธุ์ข้าวไทยลดปัญหาวิกฤติข้าวปลอมปน
28/06/2022
วิถีใหม่ในการดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ ช่วงสถานการณ์ covid-19
28/06/2022

การสร้างสรรค์ งาน“ดนตรี”ศิลปะที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

วันที่ 04 เม.ย. 2564 เวลา 10:31 น.

โดย ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ

***************************

“ดนตรีจะหายไปจากโลกนี้ ก็ต่อเมื่อไม่มีมนุษย์อยู่ในโลกใบนี้” เสียง “ดนตรี” อยู่คู่กับการดำรงชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยอดีตกาล เป็นเสียงที่เกิดมาจากธรรมชาติ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องอาศัยการฝึกฝน สร้างทักษะ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ เสียง “ดนตรี” ทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกได้หลากหลาย เช่น ความเพลิดเพลิน ความสนุกสนาน หรือแม้แต่ความเศร้า เป็นต้น 1

ในฐานะคนดนตรีคนหนึ่ง มักจะมีคำถามเรื่อยมาเกี่ยวกับการอยู่รอดของ “คนในแวดวงอุตสาหกรรมดนตรี” โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ว่าเกิดผลกระทบมากน้อยเพียงใด อุตสาหกรรมดนตรี ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความซับซ้อน ประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่มีช่องทางของรายได้มาจากการผลิตดนตรี อาทิ ผู้ประพันธ์เพลง การบันทึกเสียง ฝ่ายจัดการศิลปิน ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย การแสดงสด เป็นต้น จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมดนตรี ไม่ได้เกิดจากแค่ “ศิลปิน” และ “ค่ายเพลง” เพียงอย่างเดียวแต่มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้ผลงานและศิลปินเป็นที่รู้จัก รวมถึงการบูรณาการทางธุรกิจแบบพึ่งพากันและกัน อาทิ การทำ Soundtrack การทำเพลงประกอบเกม เป็นต้น 2

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA สรุปข้อมูลภาพรวมของ “อุตสาหกรรมดนตรี” ที่ประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล โดยรวบรวมข้อมูลจากธุรกิจที่เกี่ยวข้อง  พบว่า จำนวนนิติบุคคลที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรี มีจำนวนทั้งสิ้น 720 ราย (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2563) และจากข้อมูลงบการเงินของกิจการที่นำมาวิเคราะห์ถึงความสามารถในการดำเนินธุรกิจ จะเห็นว่า ในอุตสาหกรรมดนตรีนั้น มีกิจการที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจในระดับ Strong มากถึงร้อยละ 35.9 ซึ่งเราพอจะอนุมานได้ว่า กลุ่มอุตสาหกรรมดนตรี มีผลประกอบการภาพรวมอยู่ในระดับดี 3

การคาดการณ์รายได้ภาพรวมในอุตสาหกรรมดนตรีโดย Website Statista ก็แสดงให้เห็นเช่นกันว่า รายได้ในปี 2020 (พ.ศ.2563) 20,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ไม่ได้ลดลงจากปี 2019 (พ.ศ.2562) ที่มีรายได้อยู่ที่ 19,358 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ทั่วโลกจะประสบปัญหาการระบาดของ COVID-19 อีกทั้งยังมองว่าในปี 2521 (พ.ศ.2564) นี้ ตลาดอุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลกก็ยังคงเติบโต แม้จะไม่มาก แต่ก็สวนทางกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ 4

การเล่น “ดนตรี” เป็นทักษะติดตัว ที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าเวลา สถานการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะทำให้คนดนตรีต้องรู้จักประยุกต์ และปรับตัว ดังเช่นในปัจจุบันที่ AI: Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์จะสามารถแต่งเพลงเลียนแบบมนุษย์ได้แล้ว แต่ในความเป็นจริงก็ยังไม่สามารถทดแทนการเล่นดนตรีโดยมนุษย์ หรือการแสดงดนตรีสดได้ เพราะการแสดงสดมีความ Reality และสามารถสร้างอารมณ์ร่วมได้มากกว่า

ดังนั้น การผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมดนตรีก็ยังคงมีความสำคัญ และยังมีพื้นที่ในตลาดแรงงานให้สถาบันการศึกษาด้านดนตรีได้มีโอกาสผลิตคนคุณภาพออกมาสู่ตลาดในธุรกิจสร้างสรรค์นี้ แต่การทำงานในอุตสาหกรรมดนตรีต้องอาศัยการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการลงมือทำ หรือปฎิบัติจริงเช่นเดียวกับวิชาชีพอีกหลาย ๆ แขนง จะทำอย่างไรให้ต้นกล้าของคนดนตรีในอนาคตได้มีโอกาสลองของ ปล่อยของในตัวที่มีออกมาก่อนเติบโตออกสู่ตลาดแรงงานสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

โครงการ Mahidol Music Connect โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มคนทำงานเบื้องหลังของวิทยาลัยฯ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้จากการลงมือทำ เพราะเชื่อว่าประสบการณ์จากการทำจริงจะช่วยเตรียมความพร้อมให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ Mahidol Music Connect ยังทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อ (Connection) หรือ Match Maker ระหว่างนักศึกษาและอุตสาหกรรมดนตรีแขนงต่าง ๆ ให้ได้มาเจอกัน โดยในเบื้องต้นโครงการฯ ยังคงเน้นไปในส่วนของการเชื่อมต่ออุตสาหกรรมดนตรีสมัยนิยม หรือ  Popular Music ทั้งในด้านของการพัฒนาศิลปิน รวมถึงในด้านงานเบื้องหลังของสาขา Music Technology ที่มีทั้ง Music Producer และ Sound Engineer ครอบคลุมกิจกรรมทั้งการแต่งเพลง การเขียนเนื้อร้อง การทำเพลง การเรียบเรียง การทำ Music Video รวมไปจนถึงการทำงานด้านการตลาดดนตรี หรือ Music Business ผ่าน Online Platform (Facebook/ Instagram/ YouTube: Mahidol Music Connect)

ในปีที่ผ่านมาวิทยาลัยฯ ร่วมกับบริษัท มิวซิกมูฟ จำกัด ภายใต้โปรเจค Youth Explosion ที่รวบรวมกลุ่มเยาวชนระดับ นิสิต นักศึกษา มีผลงานที่น่าสนใจ ที่กำกับดูแลและควบคุมการผลิตอย่างใกล้ชิด โดย คุณฟองเบียร์ – ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท มิวซิกมูฟ จำกัด ส่งเสริมให้น้อง ๆ นักศึกษาเข้าสู่เส้นทางอุตสาหกรรมด้านดนตรีอย่างแท้จริง จากความร่วมมือนี้ทำให้เกิดศิลปินหน้าใหม่จากนักศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ X MAS (เอ็กซ์ มาส) AOUJAI (อ๋อใจ) และวง LAMP POET (แลมป์ โพเอ็ท) ซึ่งตอนนี้ มีผลงานออกมาให้ได้เห็นกันแล้ว จากความสำเร็จนี้ แสดงให้เห็นว่า Concept ของการสร้างจุดเชื่อมต่อของ Mahidol Music Connect เป็นสิ่งที่โลกทางธุรกิจต้องการ

สำหรับเป้าหมายในอนาคตวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มีแผนจะปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ให้นักศึกษามีเรียนรู้จากการเรียนในห้องเรียนน้อยลง แต่เรียนรู้จากการทำงาน หาประสบการณ์ให้มากขึ้น ด้วยการสร้างความร่วมมือกับบริษัทในอุตสาหกรรมด้านดนตรี เกิดการสร้างหลักสูตรร่วมกัน การฝึกงานเพื่อให้นักศึกษามีความเข้าในใจวัฒนธรรมของการทำงานและระบบการทำงานของแต่ละองค์กร

*************

อ้างอิง

1.ดนตรีผูกพันกับมนุษย์  www.dotsero.org/ดนตรีผูกพันกับมนุษย์

2.https://web.tcdc.or.th/en/Articles/Detail/musicIndustry

3.https://www.cea.or.th/th/single-statistic/music-industry-overview

หมายเหตุ: การสรุปข้อมูลสถิติครั้งนี้ รวบรวมเฉพาะในส่วนของกิจการที่จดทะเบียนนิติบุคคล ไม่รวมศิลปิน นักแต่งเพลง หรือหลุ่มคนดนตรีที่ทำงานอิสระ

4.https://www.statista.com  หมายเหตุ: ข้อมูล ณ เดือนพศฤจิกายน 2563


เรียบเรียงโดย : งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป ม.มหิดล

คุณกณิศอันน์

ให้คะแนน
PR
PR