วันที่ 20 มี.ค. 2565 เวลา 17:02 น.
โดย…นพ.เตชิต จิระวิชิตชัย
******************
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังมีโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ ที่มนุษย์ยังต้องเผชิญปัญหากันอยู่ แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์หลายๆ อย่าง ก่อให้เกิดนวัตกรรมเพื่อช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างแม่นยำมีประสิทธิภาพ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การใช้ไฟฟ้า มาช่วยในการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ซี่งเป็นระบบอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย
เมื่อกล่าวถึงโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อ อาการที่บ่งบอกว่าอาจมีความผิดปกติ ได้แก่อาการปวด ชา และอ่อนแรง โรคที่สามารถพบได้บ่อยเช่น โรคที่เกิดจากการกดทับของเส้นประสาทในบริเวณต่าง ๆ อาทิ อาการปวด หรือชามือจากพังผืดบริเวณข้อมืออักเสบหนาตัวและกดทับเส้นประสาท ภาวะมือตก (Wrist Drop) กระดกข้อมือขึ้นไม่ได้ หรือชี้นิ้วชี้ขึ้นไม่ได้ ภาวะเท้าตก (Food Drop) กระดกข้อเท้าไม่ได้ โรคที่เกิดจากความเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทบริเวณคอ หรือเอว ซึ่งจะมีอาการชาร้าวลงแขน หรือขา และอาจมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถพบโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากสาเหตุต่าง ๆ รวมถึงโรคที่มีอาการชาหรือปวดบริเวณปลายมือและปลายเท้า ซึ่งเกิดจากภาวะต่างๆ เช่น เบาหวาน หรือภาวะที่เกิดการอักเสบในร่างกายที่ทำให้เกิดการชาและอ่อนแรง เป็นต้น โรคที่กล่าวมาข้างต้นนี้ สามารถวินิจฉัยด้วย “ไฟฟ้าวินิจฉัย”
ไฟฟ้าวินิจฉัย (Electrodiagnosis) เป็นการนำเอาศาสตร์ และความรู้เกี่ยวกับไฟฟ้ามาช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อและเส้นประสาท เนื่องด้วยมีการใช้ไฟฟ้าในการกระตุ้น ทำให้คนไข้ส่วนมากที่ถูกส่งมาทำไฟฟ้าวินิจฉัยคิดว่าการตรวจนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษา แต่การใช้ไฟฟ้าวิธีนี้เป็นเพียงการตรวจวินิจฉัย เพื่อหาสาเหตุของตัวโรคที่เกี่ยวกับเส้นประสาท และกล้ามเนื้อ
ประโยชน์ของการวินิจฉัยด้วยไฟฟ้าวินิจฉัย มีดังนี้ 1.ช่วยยืนยันตำแหน่งของพยาธิสภาพในระบบประสาทส่วนปลาย (เซลล์ประสาทไขสันหลัง เส้นประสาท รอยต่อระหว่างปลายประสาทและกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้อซึ่งอยู่ที่ส่วนปลาย)
2. ช่วยบอกว่าความผิดปกตินั้นเกิดที่ตัวเส้นประสาท หรือปลอกหุ้มเส้นประสาท
3. ช่วยบอกว่าเกิดความผิดปกติของเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ (motor) หรือควบคุมการรับความรู้สึก (sensory)
4. ช่วยบอกความรุนแรงของความผิดปกติได้
5. สามารถทำเปรียบเทียบเมื่อเวลาผ่านไปได้ เพื่อดูพยากรณ์โรค
6. ช่วยบอกระยะเวลาของความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบประสาท ว่าเป็นแบบฉับพลัน หรือเป็นแบบเรื้อรังมาเป็นระยะเวลานาน
7. การเปลี่ยนแปลงของการตรวจไฟฟ้าวินิจฉัยบางชนิด จำเพาะต่อตัวโรคของผู้ป่วยที่เป็น เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอ แอล เอส (ALS)
การเตรียมตัวก่อนมาทำไฟฟ้าวินิจฉัย ผู้ป่วยไม่ควรใส่เครื่องประดับบริเวณนิ้ว ข้อมือ คอ โดยเฉพาะเครื่องประดับที่ทำจากโลหะทุกชนิด เพราะมีผลต่อไฟฟ้า ห้ามทาแป้ง ครีม หรือโลชั่นในส่วนใด ๆ ของร่างกาย เพราะจะบดบังการนำของกระแสไฟฟ้าได้ ควรใส่เสื้อผ้าที่หลวม สามารถถอดได้ง่าย ถ้าเป็นผู้ป่วยเด็ก ควรเตรียมของเล่นมาด้วย เพราะเด็กอาจจะงองแง หรือกลัว ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจ และควรรับประทานอาหาร หรือทำกิจวัตรส่วนตัวมาก่อนให้เรียบร้อย เพราะอาจจะต้องใช้เวลาในการตรวจประมาณ 1-2 ชั่วโมง ค่าตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย โรงพยาบาลของรัฐ ในเวลาราชการ ประมาณ 1,000-3,000 บาท นอกเวลาราชการ ประมาณ 2,000-5,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนและจำนวนเส้นประสาท และกล้ามเนื้อที่ต้องตรวจ หากเป็นโรงพยาบาลเอกชนจะมีค่าใช้จ่ายในการตรวจที่สูงมากขึ้น
ในประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญเพียง 2 สาขาที่สามารถทำและแปลผลไฟฟ้าวินิจฉัยได้ กล่าวคือ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา หากมีการตรวจพบว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ แพทย์สามารถส่งตัวผู้ป่วยมาเพื่อทำไฟฟ้าวินิจฉัยได้ อาจมีการแปลผลร่วมกับภาพรังสีวินิจฉัย เพื่อให้สามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง และแม่นยำมากขึ้น เพื่อหาแนวทางในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
คุณสาธิดา