วันที่ 26 ก.ย. 2564 เวลา 11:31 น.
โดย…ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์
**********************************
การเข้ามาของเทคโนโลยี มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น เพราะเทคโนโลยีช่วยทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น การเรียน การสั่งซื้อสินค้า หรือการใช้บริการทางการเงิน ทำให้เราสามารถดำเนินการในเวลาที่ต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรือผ่านทางแอปพลิเคชันต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ภาคธุรกิจ และภาคการให้บริการที่ต้องปรับตัวเพื่อก้าวไปพร้อมกับเทคโนโลยี ซึ่งต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้บริการเป็นหลัก เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการตอบโจทย์ลูกค้าให้มากที่สุด
ห้องสมุดเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้ปรับตัวให้สอดคล้องกับการเข้ามาของเทคโนโลยี เพราะเป็นสถานที่รวบรวมหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากมาย ที่ผู้ใช้บริการสามารถเข้าไปสืบค้น เพื่อค้นคว้าต่อยอดในการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างอิสระ เสริมสร้างนิสัยรักการอ่าน ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เมื่อก่อนผู้ใช้บริการจะเข้าห้องสมุดเพื่อนั่งอ่านหนังสือเงียบๆ จนกระทั่งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกในการสืบค้นข้อมูลจากสื่อดิจิทัล เช่น หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) หรือ วารสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-journal) เพื่อประกอบการเรียน การทำวิจัย หรือนันทนาการ ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
ถึงแม้ว่า หนังสือหรือสื่อที่ให้ความรู้ในรูปแบบดิจิทัล จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่หนังสือรูปเล่มก็ยังคงเป็นที่ต้องการ และมีเสน่ห์ในตัวเอง ที่นักอ่านหลายท่านยังนิยม สามารถจับต้องได้ และยังเป็นการถนอมสายตาผู้อ่านอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้ห้องสมุดหลายแห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่ทางภาครัฐกำหนดโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการ และผู้มาใช้บริการ ทำให้การเข้าห้องสมุดเพื่อยืมหนังสือรูปเล่มด้วยตนเองเป็นไปได้ยาก ห้องสมุดหลาย ๆ แห่ง ก็ทยอยปรับตัวเพื่อให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดส่งหนังสือไปที่บ้าน หรือ เพิ่มการสนับสนุนการอ่านหนังสือด้วยกิจกรรมออนไลน์ต่างๆ รวมถึงการใช้สื่อออนไลน์เพื่อติดต่อกับสมาชิกมากขึ้น
เมื่อพฤติกรรมการใช้งานห้องสมุดมีการเปลี่ยนแปลง ห้องสมุดหรือหอสมุดขนาดใหญ่ จึงเพิ่มการบริการในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาห้องสมุด เช่น การจัดหาแหล่งความรู้ในสาขาต่างๆ จากทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่มีราคาสูง ทั้งในแบบรูปเล่ม หรือในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) มากขึ้นให้ครอบคลุมเนื้อหาทุกแขนง การตอบรับสมาชิกวารสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-journal) ในหลากหลายสาขา หรือการสนับสนุนครุภัณฑ์ที่จำเป็น
สำหรับการให้บริการภายในห้องสมุด สำนักพิมพ์ต่างๆ ก็ทยอยปรับตัวมาจัดทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเข้าใช้งาน และป้องกันการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ไปพร้อมกัน นอกจากนี้ ห้องสมุดเองก็มีการพัฒนาระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการบริการให้ทันสมัย รวมถึง การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ และการจัดอบรมเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องและข้อควรระวังในการใช้ทรัพยากรต่างๆ ของห้องสมุดเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้งาน เช่น การอบรมการใช้โปรแกรมที่เกี่ยวข้อง การให้ความรู้ในการใช้งานระบบสืบค้นข้อมูลสารสนเทศด้านดิจิทัลต่างๆ
ในอนาคต ห้องสมุดจะไม่ได้เป็นเเค่สถานที่สำหรับนั่งอ่านหนังสือ แต่เป็นสถานที่หนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์การศึกษาในอนาคต ที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ห้องสมุดเองจึงต้องมีการจัดพื้นที่เพื่อให้ตอบสนองการใช้พื้นที่การอ่านหนังสือและการค้นคว้าข้อมูลในรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากเดิม หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ปรับตัวเพื่อรองรับการให้บริการ เช่น เพิ่มการให้บริการจัดส่งหนังสือไปถึงบ้านสำหรับการยืมคืนหนังสือรูปเล่ม มีการให้บริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) และวารสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-journal) มากขึ้น พัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตให้ดีขึ้น จัดหาทรัพยากรต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อรองรับการเข้าถึงการใช้งานผ่านระบบออนไลน์ให้มากขึ้น ใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาสนับสนุนการให้บริการเพิ่มพื้นที่รองรับการอ่านหนังสือแบบเดี่ยว การอ่านหนังสือแบบกลุ่ม หรือการเพิ่มห้องประชุมกลุ่มย่อย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำโครงการเพื่อให้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญไปร่วมถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับห้องสมุดโรงเรียนในพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยเกิดการพัฒนาห้องสมุดต่อไป
ไม่ว่าโลกจะพบกับโรคระบาด ภัยร้ายแรงเพียงใด หรือ เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนไปในรูปแบบใด ห้องสมุดที่เป็นแหล่งรวมความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ก็ยังคงมีความสำคัญต่อการค้นคว้าหาความรู้ที่สามารถอ้างอิงที่มาได้ และห้องสมุดทุกแห่งก็สามารถปรับตัวให้ทันยุคสมัย ที่สามารถเข้าถึงการใช้งานได้ตลอดเวลา
เรียบเรียงโดย : งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานบริหารงานทั่วไป ม.มหิดล
คุณวราภรณ์