วันที่ 05 ก.ย. 2564 เวลา 15:56 น.
โดย…ดร.ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์
*************************
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 กลุ่มแรงงานข้ามชาติ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มเปราะบางในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ กลุ่มวิจัย “ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสุขภาวะ” โดยทีมนักวิชาการที่มีประสบการณ์การทำงานกับแรงงานข้ามชาติ มาไม่น้อยกว่า 20 ปี ได้มาร่วมทำการศึกษาวิจัยโครงการ “ภาษาและวัฒนธรรมที่เหมาะสมสำหรับแรงงานข้ามชาติในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19” ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ชั้นในใกล้กรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่หนาแน่น โดยทำการศึกษาตั้งแต่การระบาดรอบแรก เมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน
จากการศึกษาวิจัย พบว่า ความต่างทางด้านวัฒนธรรม ภาษา พฤติกรรม และความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติ อาจเป็นข้อจำกัด หรือเป็นความเสี่ยงในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในที่ทำงาน ชุมชน และที่อยู่อาศัย ซึ่งควรจะนำมาใข้เป็นแนวทางในการป้องกันโรคที่เหมาะสมกับกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ ทั้งนี้ โดยอาศัยความร่วมมือกับเครือข่ายที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบแรงงานข้ามชาติโดยตรง ได้แก่ โรงพยาบาลสมุทรสาคร องค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO ในพื้นที่มูลนิธิรักษ์ไทย ฯลฯ
นอกจากนี้ กลุ่มวิจัยที่ได้ลงพื้นที่ยังพบว่า ภาครัฐมีการจัดการค่อนข้างล่าช้า ไม่ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น ดังเช่น กรณีตัวอย่างวิกฤตการณ์ในอดีตที่ผ่านมาได้แก่ สึนามิ และน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งใช้เวลาหลายเดือนกว่า น้ำจะลดลง แรงงานข้ามชาติต้องอยู่บนหลังคา จนกระทั่งมาถึงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกที่ 3 จึงเริ่ม มีการตื่นตัวกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้
กลุ่มวิจัยได้ศึกษาถึงวิถีชีวิตของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ พบว่าแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในโรงงานขนาดใหญ่ มีมาตรฐาน ISO การเข้าปฏิบัติงาน มีการตรวจวัดอุณหภูมิ ดูแลรักษาความสะอาด การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล มีการให้ความรู้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีทั้งภาษาพม่า และภาษามอญ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ จึงไม่มีความน่ากังวลในแรงงานกลุ่มนี้ ในขณะที่การจ้างงาน ในรูปแบบรายวัน อาทิ ล้งกุ้ง ลุ้งปลา ขาดการควบคุมในการทำงาน ในด้านที่พักอาศัย มีความอับทึบ หรือแม้แต่ห้องเช่าที่เป็นแฟลต ถ้าไม่หลายชั้นมากนัก ก็ยังพอมีแสงสว่างอยู่บ้าง มีหน้าต่างน้อย การไหลเวียนอากาศน้อย จึงทำให้เกิดจุดเสี่ยงค่อนข้างมาก เพราะเชื้อสามารถแพร่ทางอากาศได้
การนำองค์ความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรม มาช่วยเติมเต็มในเรื่องการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในมิติของภาษาที่เป็นวัฒนธรรมวิถีของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่ยังไม่เข้าใจหรือสุ่มเสี่ยงกับการแพร่ระบาด โดยการตั้งสมมติฐานว่า เมื่อเกิดการระบาดโรคโควิด-19 ขนาดนี้แล้ว กลุ่มแรงงานข้ามชาติจะรู้เรื่องนี้ไหม หากสื่อต่าง ๆ เป็นภาษาไทยทั้งหมด เมื่อเกิดปัญหาใหญ่ และเร่งด่วน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีเวลามาดูแลกับคนกลุ่มเล็กเหล่านี้ได้หรือไม่ “ภาษาและวัฒนธรรม” จึงเป็นประเด็นที่ทำให้แรงงานข้ามชาติ สามารถรับรู้ข่าวสารว่าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ของเขา รับรู้ว่าควรป้องกันหรือดูแลตัวเองอย่างไร
จากการศึกษาพบว่าในปัจจุบันมีกลุ่มแรงงานข้ามชาติจากพม่า เข้าถึงสื่อออนไลน์รวดเร็ว กลายเป็นชุมชนออนไลน์ของชาวพม่าด้วยกันเอง แพลตฟอร์มที่นิยมใช้มากที่สุด คือ เฟสบุ๊ค นอกจากนี้ ยังมี Influencer กลุ่มคนที่มีความคิดและการตัดสินใจของชาวพม่า ที่ช่วยกระจายข่าวสารข้อมูลของโรคโควิด-19 ช่วยอธิบายให้ความรู้ ความเข้าใจ เมื่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ออกมารายงานสถานการณ์รายวัน โดยมีคำบรรยายเป็นภาษาพม่า ซึ่งพอจะช่วยคลี่คลายและเข้าถึงแรงงานข้ามชาติได้
อย่างไรก็ตาม จากการวิจัย ยังพบว่า วัฒนธรรม และ พฤติกรรม การกินอาหารด้วยมือ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม วัฒนธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำกับพวกเขา โดยการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ว่าต้องระวังและหลีกเลี่ยงการกินอาหารด้วยมือ ควรล้างมือให้สะอาด ให้ปลอดจากเชื้อโควิด-19 ทิ้งขยะลงถังมิดชิด โดยเฉพาะการเคี้ยวหมาก ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในด้านความศรัทธา ศาสนา การทำบุญในระยะนี้ ควรรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ จะใส่ประเด็นวัฒนธรรมเข้าไปในสื่อ จัดทำเป็นรูปแบบโปสเตอร์ ในลักษณะภาพอินโฟกราฟฟิก ที่เข้าใจง่าย ส่งผ่านสื่อออนไลน์ จะเข้าถึงรวดเร็วกว่า ซึ่งเป็นการเติมเต็มอีกมิติหนึ่ง สื่อความรู้เหล่านี้ได้ส่งไปยังเครือข่ายเพื่อส่งต่อให้กับแรงงานกลุ่มเป้าหมาย
ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าภาษามีความสำคัญในการอยู่ร่วมกัน เมื่อเกิดปัญหาสามารถสื่อสารกันได้ทันทีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ในประเทศไทยมายาวนาน หากภาครัฐมีการส่งเสริมการเรียนภาษาไทยให้กับแรงงานข้ามชาติ ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานในประเทศไทย ก็จะช่วยให้แรงงานข้ามชาติและคนไทยสามารถสื่อสารกันอย่างเข้าใจ ประเทศในทวีปยุโรปได้ตระหนักในเรื่องภาษาเป็นอย่างมาก เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคระบาดชนิดนี้ ซึ่งมีทั้งหมด 21 ภาษา ให้แก่แรงงานข้ามชาติ รวมทั้งจัดทำเป็นคลิปวีดิโอให้เกิดความเข้าใจในภาษาของตนและปฏิบัติตาม
มิติทางด้านวัฒนธรรมทำให้มองเห็นวิถีชีวิตแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ถือได้ว่าเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโต ดังนั้น การศึกษาวิจัย เรื่องของการป้องกันโรคโควิด-19 จึงจะดำเนินการศึกษาวิจัยต่อไป โดยขยายไปในแถบจังหวัดชายแดน และจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรสาคร และ สมุทรปราการ และจะมีการเพิ่มการศึกษาวิจัยในกลุ่มมอญ เขมร และ ลาว หลังจากคลายล็อคดาวน์
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญ คือ การบริหารจัดการด้านวัคซีนให้แก่แรงงานข้ามชาติ และ การจัดการที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่ยังคงเป็นสิ่งสำคัญทีสุด
เรียบเรียงโดย : งานสื่อสารองค์กร กองบริหารทั่วไป สำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล
คุณสาธิดา