ไทยพร้อมหรือไม่ กับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์
28/06/2022
ดูแลกายและใจ ตามหลักพุทธศาสนาในสถานการณ์โควิด-19
28/06/2022

การศึกษาวิจัยระดับชาติเกี่ยวกับอุบัติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยา สู่การวางแผนนโยบายชาติ

วันที่ 01 ส.ค. 2564 เวลา 14:15 น.

โดย ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน

***************************

ปัญหาโรคติดเชื้อดื้อยานับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนใดๆ ที่สามารถใช้รักษาโรคติดเชื้อดื้อยา องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดว่าในปีพ.ศ.2593 ซึ่งไม่ถึง 30 ปีข้างหน้า จะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาทั่วโลกปีละกว่า 10 ล้านคน และเกือบครึ่งหนึ่งของอัตราผู้เสียชีวิตจะเป็นประชากรในทวีปเอเชีย

“เชื้อแบคทีเรีย” เป็นปัญหาที่สำคัญยิ่งของโรคติดเชื้อดื้อยาในปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ “แบคทีเรียแกรมบวก” และ “แบคทีเรียแกรมลบ” ซึ่งอาจแบ่งความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับต้น ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ดื้อยา หรือดื้อยาระดับต่ำที่สามารถรักษาด้วยยาที่มีใช้ทั่วไป ระดับกลาง ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียดื้อยาระดับสูงที่ต้องใช้ยารักษาเฉพาะโรคซึ่งมีราคาแพงและอาจหาไม่ได้โดยทั่วไป และระดับสูง ซึ่งเป็นเชื้อที่ดื้อยาเกือบทุกชนิด หรือทุกชนิด ทำให้อาจไม่มียาใดรักษาได้ โดยปัจจุบันพบว่ามีการกลายพันธุ์ที่ทำให้เชื้อดื้อยารุนแรงในระดับสูงขึ้น และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก จนเรียกได้ว่าเป็น “Pandemic” หรือ การระบาดของโรคติดเชื้อดื้อยาไปแล้ว

ในปัจจุบัน ปัญหาเชื้อดื้อยาได้รับความสนใจมากขึ้น แต่อาจยังไม่มีแนวทางการป้องกันแก้ไขที่ชัดเจน ทำให้ควบคุมปัญหาได้ยาก มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะแกนนำคลัสเตอร์สุขภาพ ในเครือข่ายมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ (Research University Network) หรือ RUN ได้ร่วมกับอีก 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ทำการศึกษาอุบัติการณ์ของเชื้อดื้อยา ร่วมกับโรงพยาบาลจากทั่วประเทศรวม 43 แห่ง โดยหวังผลให้มีการขยายผลสู่นโยบายระดับชาติต่อไป

การศึกษาวิจัยนี้ได้สำรวจอุบัติการณ์เชื้อดื้อยาอย่างจริงจังและลึกซึ้งถึงในระดับโมเลกุลเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการศึกษาข้อมูลจากแบคทีเรียเกือบสองแสนชนิด จนได้ข้อมูลที่ทำให้ทราบถึงอุบัติการณ์เชื้อดื้อยาในประเทศไทยว่า แบคทีเรียที่พบแต่ละชนิดมียีนดื้อยาอะไรที่จะนำไปสู่การศึกษาต่อยอดเพื่อหาแนวทางยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดื้อยาที่สามารถลดระดับความรุนแรง รวมทั้งจะสามารถขยายผลสู่การวางแผนการใช้ยาต้านจุลชีพภายในโรงพยาบาล ตลอดจนจัดสรรงบประมาณทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อเยียวยาปัญหาโรคติดเชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนของชาติได้อย่างเหมาะสมต่อไป โดยผลวิจัยนี้ได้รับการตอบรับตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำระดับนานาชาติอีกด้วย

อุปสรรคสำคัญของปัญหาโรคติดเชื้อดื้อยาในประเทศไทย คือ ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้ยาต้านจุลชีพ หรือ “ยาฆ่าเชื้อ” ซึ่งในความเป็นจริงไม่สามารถใช้รักษาได้ทุกโรค ต้องใช้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และหากใช้โดยไม่มีความจำเป็น อาจเสี่ยงต่อการกระตุ้นให้เชื้อมีการกลายพันธุ์ เป็นเชื้อดื้อยาระดับสูง ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน ถึงแม้จะมีข้อมูลและแนวทางอย่างจริงจังเพียงใด อาจสูญเปล่าหากทุกคนยังไม่มีความตระหนักถึงเรื่องปัญหาโรคติดเชื้อดื้อยาเท่าที่ควร


เรียบเรียงโดย : งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

คุณฐิติรัตน์

ให้คะแนน
PR
PR