วันที่ 18 ก.ค. 2564 เวลา 11:29 น.
โดย นายวิทยา ไชยดี
********************
ในปัจจุบันผู้ใช้แรงงานบางกลุ่มต้องเผชิญกับการทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีปัจจัยเสี่ยง จากความละเลยของนายจ้าง ส่งผลให้เกิดสภาวการณ์ที่มีเหตุทำให้เกิดการสูญเสีย
จากประสบการณ์การทำงานของผู้วิจัยด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย พบว่า อุบัติเหตุจากการทำงานของแรงงานไทย เกิดขึ้นควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรม แม้ในระยะหลังมีแนวโน้มลดลง แต่จำนวนของผู้ประสบเหตุที่ต้องสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และเสียชีวิตยังคงสูงอยู่ ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง การเผชิญ “ความทุกข์ทางสังคม : ประสบการณ์ชีวิตของแรงงานที่กลายเป็นผู้พิการอย่างถาวร” การศึกษาวิจัยดังกล่าว ทำให้ปรากฏการณ์นี้ถูกตั้งคำถามว่า อุบัติเหตุจากการทำงานไม่ควรถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ (normalization) ด้วยคำว่า ‘อุบัติเหตุ’ หรือ ‘ประมาท’ ที่เป็นเพียงเรื่องระดับบุคคล อำนาจ (power) หรือ แรงผลัก (force) ในระดับโครงสร้างของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง หรือวัฒนธรรม มีส่วนร่วมในผลิตความทุกข์ให้แก่แรงงานหรือไม่ อย่างไร จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาครั้งนี้
โดยได้ศึกษาประสบการณ์ของแรงงานผู้ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน จำนวน 10 ราย ด้วยการศึกษาวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) ศึกษาแบบ “ปรากฏการณ์วิทยา” (phenomenology) ซึ่งผู้วิจัยได้ให้ความตระหนัก จากกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มเปราะบาง (vulnerable group) และเข้าข่ายการวิจัยในประเด็นที่อ่อนไหว (sensitive issue) ดังนั้น จึงได้ออกแบบวิธีการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-dept interview) ร่วมกับวิธีทางมานุษยวิทยาทัศนา (visual anthropology) ด้วยการวาดภาพ (painting) เพื่อดึงเอาข้อมูลที่เป็นประเด็นความทุกข์ภายในจิตใจสกัดออกมาจากชุดประสบการณ์ของแรงงาน ผู้ประสบเหตุด้วยการเล่าเรื่องราวผ่านภาพวาดเหล่านั้น
จากข้อมูลพบว่า แรงงานเหล่านี้มาจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่นายจ้างมักให้ความสำคัญกับแรงผลักทางเศรษฐกิจเป็นตัวนำ เน้นการผลิตจำนวนมาก แข่งกับเวลา และมุ่งลดต้นทุน มากไปกว่านั้นยังพบว่า การละเลยมาตรการด้านความปลอดภัยของสถานประกอบการและมีการอาศัยช่องโหว่ในการกำกับดูแลจากภาครัฐ ทำให้สถานประกอบการบางแห่งเกิดการจ้างงานที่ไม่เหมาะสมกับทักษะ ใช้เครื่องจักรเก่า ไม่ได้มาตรฐาน หรือชำรุด ละเลยการจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้แก่แรงงาน
ในขณะที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐมีการสุ่มตรวจโรงงาน แต่ยังไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างครอบคลุมทั้งหมด โดยเฉพาะสถานประกอบการขนาดเล็กที่ยังคงมีการเล็ดลอดการตรวจสอบ ทำให้แรงงานต้องเผชิญกับการทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการประสบอันตรายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ ยังพบว่าการทำงานล่วงเวลาที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงงานประสบเหตุจากความล้าสะสม ระบบโอที เปรียบเสมือนนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาจากความสมยอมของแรงงาน ที่ซ้อนเร้นความเสี่ยงผ่านค่าตอบแทน และระบบการทำงาน ภายหลังเมื่อแรงงานประสบเหตุ พบว่าระบบกลไกที่รัฐกำหนดให้สถานประกอบการจัดตั้งเพื่อดูแลแรงงานกลับยังคงอยู่ภายใต้อำนาจของนายทุน ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับแรงงานอย่างแท้จริง เสียงของแรงงานจึงถูกทำให้เงียบหายจากตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ทำให้แรงงานไม่สามารถต่อรองหรือเรียกร้องเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตนเอง และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการชดเชยเยียวยาจากนายจ้าง ทำให้แรงงานหลายรายต้องตกอยู่ในสถานะไร้ที่พึ่งพิง
จากการศึกษาวิจัยสะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงอำนาจเชิงโครงสร้างที่ผลักโดยระบบทุนนิยม โดยให้ความสำคัญกับอำนาจและกลไกต่าง ๆ ในระบบการผลิตที่มีผลกระทบต่อแรงงาน ช่วยลดอัตราความพิการ และความสูญเสียให้กับแรงงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการผลิต โดยเฉพาะสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ยังขาดการดำเนินมาตรการความปลอดภัยในการทำงานที่เหมาะสม และช่องโหว่ของภาครัฐที่เอื้อให้เกิดการละเว้น ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น ควรเสริมสร้างความรู้ด้านกฎหมายและสวัสดิการให้แก่แรงงาน รวมทั้ง การปรับระบบช่วยเหลือที่เข้าถึงได้ง่าย และเป็นกลาง เป็นปัจจัยในการสร้างความเชื่อมั่นและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
เรียบเรียงโดย : งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
คุณสาธิดา