วันที่ 20 มิ.ย. 2564 เวลา 15:01 น.
ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร
************************
เมื่อ New normal ทำให้เวลาออนไลน์ของเด็กเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเสี่ยงของเด็กต่อการสัมผัสโลกออนไลน์เป็นเวลานาน มีพอๆ กับโอกาสที่จะใช้พื้นที่ออนไลน์เพื่อสร้างพัฒนาการให้กับเด็ก… ขึ้นอยู่กับการติดตามและการชี้แนะของผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชนแห่งศตวรรษที่ 21 เติบโตในยุคที่โลกออฟไลน์และโลกออนไลน์ดำเนินคู่ขนานกันไปในชีวิตประจำวัน และยิ่งนานวัน กิจกรรมต่าง ๆ ของเด็กและเยาวชนก็จะยิ่งผูกพันอยู่กับโลกออนไลน์มากขึ้นเมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างการเปลี่ยนแปลงมิติต่าง ๆ ในระดับพลิกผัน (Disruption) การแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งปลายปี 2562 ซึ่งนับเป็นการพลิกผันซ้อน ยิ่งทำให้การใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นทวีคูณ สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ โลกออนไลน์มีคุณประโยชน์มหาศาลในการที่เป็นแหล่งความรู้ แหล่งข้อมูล และต้นธารแห่งความคิดสร้างสรรค์ แต่ขณะเดียวกันก็เปิดช่องให้เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับช่วงวัยเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงวัยที่ยังต้องการคำชี้แนะและการติดตามอย่างใกล้ชิด
เราจะเห็นว่าเด็กและเยาวชนเข้าถึงสื่อโซเชียลเพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่ช่องทาง และเวลาที่ใช้ในแต่ละวัน สื่อโซเชียล เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่สำคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก และผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวเด็กไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ครู และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันดำเนินบทบาทของตนเองเพื่อให้เด็กใช้พื้นที่ออนไลน์เพื่อการเรียนรู้อย่าสร้างสรรค์และปลอดภัยที่สุด
ข้อมูลจากโครงการวิจัย “ยุวชนนิเวศของประชากร เจเนอเรชัน ซี-แอลฟาในประเทศไทย” ชี้ให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนเกินกว่าร้อยละ 90 เข้าถึงพื้นที่ออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ แต่ตัวเลขที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือประมาณร้อยละ 70 เข้าถึงด้วยโทรศัพท์มือถือส่วนตัว ซึ่งหมายความว่าการเข้าถึงสื่อต่างๆ ในโลกออนไลน์มีความ “ง่าย” และ “เป็นส่วนตัว” หลีกเร้นไปจากสายตาของผู้ปกครองที่จะคอยช่วยสอดส่องดูแลความเหมาะสม
นอกจากนี้ข้อมูลยังสะท้อนอีกว่าในหลากกรณีผู้ปกครองตลอดจนผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้างอาจเป็นตัวอย่างที่ไม่เหมาะสมนักในการใช้อุปกรณ์สื่อสารดิจิทัลเพื่อการเสพข้อมูลต่างๆ ในโลกออนไลน์ โดยที่พบว่ากลุ่มพ่อแม่ที่ใช้สื่อออนไลน์เกินกว่า 3-4 ชั่วโมงต่อวันมีเกินกว่าร้อยละ 54 ทำให้เด็กเกิดความเสี่ยงในการใช้สื่อออนไลน์ ในทั้ง 3 มิติได้แก่ การขาดวินัยและมาตรการในการใช้ เนื้อหาของสื่อ และระยะเวลาในการใช้ต่อวัน เด็กที่อยู่ในระดับเสี่ยงมาก (เสี่ยงในบางมิติ) มีถึงร้อยละ 44-62 และที่อยู่ในระดับเสี่ยงมากที่สุดทุกมิติ มีถึงร้อยละ 7-12
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
– การมีแนวปฏิบัติ (Guideline) ในการสร้างวินัยและมาตราการในการใช้เนื้อหา และระยะเวลาที่ใช้ต่อเนื่อง
สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง ให้มีความชัดเจน ถูกต้อง สามารถใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และเกิดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด โดยแนวปฏิบัตินี้ต้องมีช่องทางเข้าถึงสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างทั่วถึง
– การมีแนวปฏิบัติสำหรับสถานรับเลี้ยงเด็กและสถานศึกษา ในการใช้สื่อออนไลน์ของทั้งเด็ก และครูภายใน
สถานรับเลี้ยงเด็กและสถานศึกษา ทั้งการสื่อสารส่วนตัวและการสื่อสารระหว่างครูกับเด็กนักเรียน
– การทำงานร่วมกับผู้ผลิตเครื่องมือสื่อสาร และผู้ผลิตสื่อออนไลน์คอนเทนต์ ในการสร้างระบบการ
ลงทะเบียนสำหรับอุปกรณ์ที่เด็กและเยาวชนใช้ เพื่อเป็นกลไกกลั่นกรองสื่อที่อาจไม่เหมาะสม อาทิ การระบุอายุที่เหมาะสมสำหรับเกมออนไลน์แต่ละประเภท
มาตรการทั้ง 3 ข้อนี้ สามารถช่วยลดจำนวนเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยง ในการใช้สื่อออนไลน์ทุกมิติ
เรียบเรียงโดย งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล
คุณสุทธิรัตน์