วันที่ 02 พ.ค. 2564 เวลา 15:04 น.
ดร.ชมพูนุท ผ่องจิตร์
*********************
ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น รวมถึง การเผชิญกับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง เช่น การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งที่ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวในมิติต่างๆ ในด้านเศรษฐกิจ และสังคม ระบบการศึกษาเองก็จำเป็นต้องปรับตัว และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก ผู้ปกครอง สังคม และตลาดแรงงาน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต การรู้เพียงศาสตร์เดียวอาจจะไม่เพียงพอ การเรียนรู้แบบผสมผสาน 2 ศาสตร์เข้าด้วยกัน ทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ จึงเป็นแนวทางการศึกษาที่เป็นทางเลือกให้แก่คนรุ่นใหม่ ให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการทำงานในอนาคต
การออกแบบกระบวนการศึกษาและการเรียนรู้ที่ดี จะช่วยสร้างเสริมขีดความสามารถและศักยภาพของบัณฑิตในอนาคตได้ เราจึงเห็นความสำคัญกับการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ปกครอง รวมทั้ง นักเรียนที่สนใจศึกษาต่อ นักศึกษาปัจจุบัน และศิษย์เก่า ทำให้เราได้มุมมองและรับรู้ความต้องการต่อการศึกษาในอนาคตว่า อยากเห็นโอกาสทางการศึกษาที่เปิดกว้างมากขึ้น นักเรียนหรือนักศึกษาต้องการเรียนในสาขาที่ตนเองชอบ ไม่ใช่แค่เฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น
ที่ผ่านมา เราอาจจะเห็นนักศึกษาเลือกเรียนด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง เพื่อให้เป็นผู้รู้ในสาขานั้นๆ อย่างถ่องแท้ ยกตัวอย่างเช่น บางคนวาดรูปเก่งมาก สวยมาก แต่อาจจะมีการต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ไม่มากพอ หรือ มีความรู้ในการทำเว็บไซต์เก่งมาก แต่ใช้งานยากและเข้าถึงยาก ในขณะที่ ภาคธุรกิจก็ต้องการทรัพยากรบุคคลที่สามารถผลิตสินค้าและบริการสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้คนในยุคนี้ที่มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น จึงเป็นโจทย์ที่ทำให้มหาวิทยาลัยเอง จะต้องวางแผนว่า เราควรมุ่งเน้นไปทางไหน เรามองอนาคตการศึกษาเป็นอย่างไร เพราะโลกแห่งการเรียนรู้ยุคใหม่ ความรู้มิได้ผูกติดอยู่กับศาสตร์ใดเพียงศาสตร์เดียว การเติมเต็มประสบการณ์ใหม่ให้แก่นักศึกษา จะทำให้ประเทศมีบัณฑิตที่มีทักษะความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะในการบริหารจัดการ และอีกสิ่งสำคัญ คือ มีความเข้าใจมนุษย์ เพื่อร่วมสร้างสังคมสำหรับทุกคน
มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งมั่นผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้ที่มีภาวะผู้นำ มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะของการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสามารถบูรณาการความรู้ เพื่อก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ จึงพัฒนาและขยายรูปแบบทางการศึกษา ภายใต้แนวคิด Flexible Education เป็นรูปแบบการจัดการศึกษา ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้บริหารจัดการการเรียนตามศักยภาพ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายทางการเรียนของตนเอง ทำให้ส่วนงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรใหม่ เพื่อบูรณาการองค์ความรู้จากหลายๆ สาขาเข้าด้วยกัน
เช่น หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสร้างสรรค์ (Bachelor of Arts and Science in Creative Technology) หลักสูตรนานาชาติ ที่เป็นความร่วมมือของวิทยาลัยนานาชาติ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และ วิทยาลัยราชสุดา เพื่อให้นักศึกษาของเรามีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านการออกแบบดีไซน์ และเทคโนโลยี จากการเรียนกับอาจารย์ที่เป็นตัวจริงในศาสตร์นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานทางด้าน Art และ Science การพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ เช่น Gaming, Animation, Multimedia System, Augmented Reality (AR), Virtual Reality (VR) เพิ่มพูนความรู้ทางด้านสุนทรียศาสตร์ และเรียนร่วมกับเพื่อน ๆ ต่างคณะ ทำให้เราได้เจอเพื่อนที่มีความต้องการพิเศษแตกต่างกัน เป็นโอกาสที่ดี ได้เปิดมุมมองและมีทัศนคติที่กว้างขึ้น เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่ดีและเหมาะสมกับโลกยุคใหม่ ผ่านการออกแบบและนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้สังคมน่าอยู่ขึ้น และเป็นสังคมสำหรับทุกๆคน (inclusive society)
การเรียนในลักษณะผสมผสานนี้ ทำให้บัณฑิตของเรามีคุณลักษณะแบบ T-shaped ที่มีความรู้ลึกในสายงาน หรือสายอาชีพของตน และมีความรู้กว้างในศาสตร์ด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีทักษะการสื่อสารที่ดีกับผู้ร่วมงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจเนื้องานไปในทิศทางเดียวกันได้ รวมถึง ยังได้ความรู้จากการเรียน General Education ในด้านต่างๆ เช่น Leadership เพื่อให้นักศึกษาเป็นผู้นำที่ดี ออกไปสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม หรือ ทักษะทางด้าน Digital Literacy เป็นการเสริมทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้แก่นักศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน สามารถไปประกอบอาชีพที่มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการในอนาคตได้
ไม่ว่าจะเป็นงานทางด้าน Digital Contents ที่ต้องมีความสามารถทั้งการออกแบบและใช้เทคโนโลยี มีความเข้าใจความต้องการของตลาด สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ มีมุมมองในเชิงธุรกิจ และหากสนใจทางด้าน Tech Creator ก็สามารถไปทำงานที่เกี่ยวกับ Web Designer, Game Developer, UX/UI Designer หรือด้าน Media Creator จะทำงานที่เน้นงานออกแบบ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ที่อยู่หน้าบ้าน เช่น Animator, Creative Motion Graphic Designer หรือ Transmedia Storyteller creator เนื่องจาก เราพบว่าสื่อปัจจุบัน เป็นทั้ง Online และ Offline แต่ในอนาคตอาจจะรวมเป็นเนื้อเดียวกัน จึงต้องการคนที่เข้าใจ และรู้จริง เพื่อมาเลือก Contents นำเสนอให้เหมาะสมกับสื่อต่างๆ ที่มีความน่าสนใจ และเข้าถึงทุกคนได้ หรือจะผันตัวไปทำสตาร์ทอัพเป็นผู้ประกอบการรายย่อยก็สามารถทำได้เช่นกัน
เรียบเรียงโดย งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
คุณวราภรณ์