ต้อหิน…ภัยเงียบที่น่ากลัว
29/03/2024
โภชนาการกับโรคมะเร็ง
19/04/2024

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลต่อสัตว์น้ำอย่างไร

เผยแพร่: 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงวรรณา ศิริมานะพงษ์
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ปัญหาภาวะโลกร้อน หนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันทั้งมนุษย์ พืชพรรณและสัตว์ต่างๆในธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากปรากฎการณ์เรือนกระจกที่เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน หรือการทำภาคอุตสาหกรรม ทำให้มีก๊าซบางชนิดสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมากเกินไป ส่งผลให้อุณหภูมิมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดและดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงวรรณา ศิริมานะพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทำให้พื้นที่ที่อยู่อาศัยเดิมของสัตว์ในธรรมชาติเปลี่ยนไป เห็นได้จากพื้นที่ป่าแห้งแล้งมากขึ้น ทำให้อาหารตามธรรมชาติขาดแคลน หรือทำให้สัตว์ป่าย้ายถิ่นที่อยู่เข้ามาในพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มากขึ้น แม้กระทั่งสัตว์น้ำก็ยังได้รับผลกระทบโดยตรงจากอุณหภูมิในน้ำที่สูงขึ้น หมายถึงสัตว์น้ำที่อาศัยในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และอยู่ในฟาร์มเพาะเลี้ยงก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของน้ำที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยด้วย ซึ่งผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อการดำรงชีพของสัตว์น้ำอยู่หลายด้าน ได้แก่ “การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ” ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นหรือต่ำลงจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ จะมีผลต่อการปรับตัวของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ โดยเฉพาะสัตว์เลือดเย็น หมายถึงสัตว์จำพวกปลา หรือสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง เพราะน้ำเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหลัก อุณหภูมิภายในน้ำจะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพภูมิอากาศในพื้นที่นั้น และอุณหภูมิของร่างกายของสัตว์เหล่านี้ จะขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในถิ่นที่อาศัยอยู่ ถ้าแหล่งน้ำมีความเย็น อุณหภูมิของร่างกายจะเย็นไปด้วย อุณหภูมิยังมีความสำคัญการอยู่รอด การดำรงเผ่าพันธุ์ และความสมบูรณ์ของสัตว์ด้วย ถ้าอุณหภูมิมีความเหมาะสม สัตว์น้ำก็จะกินอาหารได้และเจริญเติบโตได้ดี ถ้าอุณหภูมิของอากาศต่ำ อุณหภูมิของน้ำก็จะต่ำด้วย พอน้ำเย็น ก็จะกินอาหารลดลงทำให้ร่างกายก็ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากอุณหภูมิน้ำมีบทบาทในการควบคุมกระบวนการทางสรีรวิทยาของสัตว์น้ำ เช่น เมตาบอลิซึม ฮอร์โมน และการทำงานของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องในการดำรงชีวิต
ถัดมา “การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของน้ำ” ก็ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำที่เป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น แพลงก์ตอนพืช และแพลงก์ตอนสัตว์ ทำให้ความสมบูรณ์ของอาหารลดลง ส่งผลให้สัตว์น้ำวัยอ่อนขาดแคลนอาหาร และเติบโตไม่ได้ นอกจากนี้ ยังทำให้คุณภาพน้ำทั้งทางกายภาพ ชีวภาพและเคมีก็ได้รับผลกระทบไปด้วย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังทำให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงของช่วงฤดูกาล” ซึ่งเป็นผลจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นในแต่ละฤดู เช่น การเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง น้ำแล้ง พอฝนตกหนักก็น้ำท่วม ทำให้พืชที่เป็นอาหารสัตว์เจริญเติบโตได้ไม่ดี หรือล้มตาย เกิดภาวะขาดแคลน อุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละฤดูที่สูงขึ้นยังทำให้น้ำในคลอง หนอง บึง ทะเล ระเหยมากขึ้น ส่งผลให้ขนาดของแหล่งน้ำค่อยๆ ลดลง พื้นที่ที่อยู่อาศัยลดลง มีผลต่อการสืบพันธุ์ รวมถึงการวางไข่ของสัตว์น้ำได้ ซึ่งความแปรปรวนยังมีผลต่อการพัฒนาไข่และตัวอ่อนอีกด้วย และยังพบว่าการเปลี่ยนของช่วงฤดูกาลที่ล่าช้า เช่น ฤดูฝนที่ล่าช้าฝนไม่ตก มีผลต่อค่าอุทกวิทยาของแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นข้อมูลเพื่อนำไปศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ การกระจายและคุณภาพของน้ำ และยังมีผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำอีกด้วย เช่น การอพยพย้ายถิ่น การหาอาหาร การเจริญเติบโต และการผสมพันธุ์วางไข่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงวรรณา กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศก็ยังส่งผลต่อ “โรคที่เกิดขึ้นในสัตว์น้ำ” ที่เกิดจากพาหะหรือสาเหตุต่างๆ เช่น แมลงนำโรค เชื้อโรคทางอากาศ หรือทางน้ำ รวมถึงโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดการกระจายตัวของโรคได้กว้างและหลากหลายพื้นที่มากขึ้นเพราะเชื้อโรคมีการพัฒนาให้ทนต่อการเปลี่ยนแปลง สามารถพบการระบาดของโรคในสัตว์ได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ หรือฟาร์มเพาะเลี้ยง ซึ่งตัวอย่างของโรคที่ระบาดในสัตว์น้ำที่พบในกุ้งคือ โรคกุ้งตายด่วน (Shrimp Early Mortality Syndrome: EMS) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio parahaemolyticus ที่เข้าไปทำลายตับกับตับอ่อนของกุ้ง ทำให้กุ้งตายเฉียบพลัน ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พบการระบาดเป็นวงกว้าง ทำให้อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งทั่วโลกได้รับผลกระทบไปด้วย นอกจากนี้ ยังพบการเกิดโรคที่มาจากโรคดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว เมื่อผนวกกับความรุนแรงของสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ก็ส่งเสริมให้มีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นได้ในสัตว์น้ำที่อาศัยในธรรมชาติ และฟาร์มเพาะเลี้ยงได้อีกด้วย

แนวทางการรับมือสำหรับเจ้าของฟาร์มเพาะเลี้ยง ต้องมีการตรวจสอบอุณหภูมิอย่างสม่ำเสมอ วางแผนมาตรการควบคุมอุณหภูมิในบ่อเพาะเลี้ยง เช่น ถ้าอากาศร้อนจัดให้ติดตั้งสแลน หรือตัวกรองแสงบังแดดลดความร้อนเพื่อช่วยลดอุณหภูมิ ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ในบ่อจนหนาแน่นจนเกินไป จะทำให้น้ำเน่าเสียได้ง่ายขึ้น ผู้เลี้ยงควรเปิดเครื่องตีออกซิเจน เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ แต่ถ้าอุณหภูมิสูง สัตว์น้ำก็จะไม่กินอาหารซึ่งการให้อาหารก็จะกลายเป็นของเสียในบ่อ ผู้เลี้ยงก็ควรสังเกตการกินอาหารว่ามีการกินเพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือไม่ สามารถปรับลดอัตราการให้อาหาร หรือให้ปริมาณลดลงในแต่ละรอบของการให้อาหาร เพื่อกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารในสัตว์น้ำ และลดปริมาณของเสียในบ่อ ทั้งนี้ สามารถศึกษาหลักปฏิบัติเพิ่มเติมได้จากคู่มือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของกรมประมง เช่น ถ้าเจอภัยแล้ง จะต้องปฏิบัติตนอย่างไร การควบคุมคุณภาพของน้ำ รักษาปริมาณน้ำในบ่อ การจัดการแหล่งน้ำ หมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำสม่ำเสมอ เป็นต้น สำหรับสัตว์น้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เมื่อได้รับผลกระทบก็จะเริ่มปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ หากไม่สามารถปรับตัวได้ จะเกิดการอพยพย้ายถิ่น หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การหาแหล่งอาหารใหม่ เพื่อให้สามารถดำรงเผ่าพันธุ์ได้ เรามักจะเห็นจากข่าวในหลายโอกาส โดยมากเป็นสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในทะเล เช่น เรือประมงสามารถจับปลาทะเลที่อาศัยอยู่ในน้ำลึกได้ หรือพบสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำทะเลลึกขึ้นมาเสียชีวิตบนชายหาด ปกติแล้วน้ำทะเลจะแบ่งชั้นตามอุณหภูมิ ถ้าระดับน้ำที่มีความลึกมาก อุณหภูมิจะยิ่งต่ำลง เมื่อสภาพแวดล้อมใต้ทะเลเปลี่ยนไป เช่น อุณหภูมิสูงขึ้น หรือแหล่งอาหารลดน้อยลง ก็จะเกิดการย้ายถิ่นฐานไปยังตำแหน่งใหม่ โดยที่เขาก็ไม่รู้ว่าอยู่ได้ไหม แต่ที่เดิมอยู่ไม่ได้แล้ว นั่นคือการพยายามย้ายถิ่นที่อยู่ที่เหมาะสมให้มากที่สุด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงวรรณา กล่าวปิดท้ายว่า เมื่อเรามองในภาพรวม เราจะเห็นว่าทุกสิ่งบนโลกของเรามีความเกี่ยวข้องและพึ่งพากัน แต่อย่างน้อยเมื่อเราตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้แล้ว ด้วยมือของเรา เราสามารถช่วยกันเพื่อชะลอปัญหาผ่านการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และปลูกฝังคนรุ่นต่อไป ให้มีความเข้าใจและช่วยกันสานต่อ หรือการคิดค้นนวัตกรรมที่จะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน


เรียบเรียงบทความ โดย คุณวราภรณ์ น่วมอ่อน
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

ให้คะแนน