“ผักพื้นบ้าน” ประจำท้องถิ่น …. หลากหลายคุณค่าทางอาหาร
16/02/2024
เตรียมความพร้อม…ก่อนลูกน้อยเข้าโรงเรียนกันเถอะ
26/05/2023

การบริหารจัดการความเครียด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

เผยแพร่: 3

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล อาจารย์ประจำสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าในแต่ละวันเราจะต้องพบเจอกับ “ความเครียด” ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากการที่ต้องเจอกับภาวะกดดันต่าง ๆ เช่น ภาระงานที่หนักมากเกินไป การเรียน การเงิน ปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชีวิต ทำให้เกิดความไม่สบายใจ วิตกกังวล โดย “ความเครียด” สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ในหลายคนมักจะเกิดภาวะความเครียดโดยที่ไม่รู้ตัว และเมื่อเราเกิดความเครียด ก็จะแสดงออกมาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และพฤติกรรม เช่น หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย วิตกกังวล ขาดความมั่นใจ ไม่มีแรงจูงใจ เหนื่อยง่าย ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป ทำให้สุขภาพร่างกายแย่ลง และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล อาจารย์ประจำสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำแนวทางการดูแลตัวเองเมื่อเกิดภาวะ “ความเครียด” ว่า ความเครียดถือเป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์จะสามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน แต่เราสามารถรับมือกับความเครียดเหล่านั้นได้ด้วยการจัดการความเครียดด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถทำได้คือ หาสาเหตุของความเครียด ซึ่งก็เหมือน “ไข้ใจ” เราต้องรู้ตัวก่อนว่าเรามีภาวะไข้ใจ และต้องรีบทำการรักษา เมื่อเรามีภาวะเครียดจะทำให้เราฟุ้งซ่าน ยิ่งเราฟุ้งซ่าน จะทำให้เราหาทางออกไม่เจอ ทำให้สมองมีแต่ความวิตกกังวล จมอยู่กับความเครียด ดังนั้นเราจึงควร “ตั้งสติ” โดยการหายใจเข้า-ออกช้า ๆ เพื่อเรียกสติ หรืออาจะนับ 1-10 เพื่อให้ใจเย็นลง ค่อย ๆ หาสาเหตุของความเครียด และค่อย ๆ เริ่มเรียนรู้ปัญหา ที่มาของปัญหา และแนวทางที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด หลังจากที่เราหาสาเหตุของความเครียดเจอแล้วนั้น ให้ดูว่าปัญหานั้นสามารถแก้ไขได้หรือไม่ ซึ่งเราสามารถ “แยกขยะใจ” โดยการแยกแยะสิ่งที่เราควบคุมจัดการได้ (Things I Can Control) กับสิ่งที่เราควบคุมจัดการไม่ได้ (Things I Can’t Control) ออกจากกัน ซึ่งสิ่งที่เราควบคุมได้คือ สิ่งที่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเราเองเพื่อ ลด “ขยะใจ” ได้แก่ My behavior พฤติกรรมของเรา ถ้าปัญหาเกิดจากพฤติกรรมของเรา เราสามารถที่แก้ไขมันได้ My Goals การตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง ไม่กดดันตัวเองมากเกินไป My effort ความพยายาม อันนี้ขึ้นอยู่กับตัวเรา ว่าเราจะมีความพยายามแค่ไหน Learning from my mistakes การเรียนรู้จากความผิดพลาด เพื่อนำมาเป็นบทเรียนให้กับตัวเอง Taking Care of Myself การดูแลตนเอง เป็นสิ่งที่เราต้องทำด้วยตัวเองอยู่แล้ว Asking for help การขอความช่วยเหลือ เป็นทักษะทางชีวิตของเราที่จะต้องทำให้เป็น Who my friends are การเลือกคบเพื่อน หน้าที่ของเราต้องเลือกคบคนที่ไม่นำพาความเดือดร้อนมาให้ Being Kind การอยู่อย่างใจดี ไม่มีเกิดมาเพื่อใจดีกับเรา เราจึงควรใจดีกับตัวเอง

ส่วนสิ่งที่เราควบคุมจัดการไม่ได้ (Things I Can’t Control) คือ สิ่งที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเราเอง ได้แก่ What Others say คำพูดคนอื่น เป็นสิ่งที่เราต้องฝึกปล่อยวาง ว่าเราไปเปลี่ยนปากใครไม่ได้ What others thinks ความคิดคนอื่น ควรนึกไว้เสมอว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของคนอื่นได้ Past Mistakes ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไปแล้ว เราไม่สามารถย้อนเวลาไปแก้ไขได้ แต่เราเรียนรู้จากสิ่งที่มันเกิดขึ้นแล้วได้ Things I have to do สิ่งที่ฉันต้องทำ (งานที่เข้ามา) การที่เราอยู่ในองค์กรนั้น ๆ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงงานต่าง ๆ ที่เข้ามาได้ The weather อากาศ หน้าที่ของเราทำได้เพียงดูแลร่างกายให้แข็งแรงรับมือกับสภาพอากาศ Being sick ความเจ็บป่วย การเจ็บป่วยบางอย่างเราไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ อย่างน้อยเราควรดูแลตัวเองให้แข็งแรง Others being kind ความใจดีของคนอื่น ไม่มีใครเกิดมาเข้าใจเรา ดีกับเรา ทุกคนก็เกิดมาเพื่อตัวเอง เพราะฉะนั้นเราจึงควรปล่อยวางกับสิ่งนี้

ท้ายที่สุด การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมท่ามกลางวิกฤติต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งที่ยากแล้ว แต่การมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่เข้มแข็งเป็นเรื่องที่ยากกว่า เพราะฉะนั้นเราควรเลือกให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราสามารถควบคุมและแก้ไขได้ และไม่ควรเสียเวลากับสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เพราะหลายครั้งเราจะเผลอ “ตกร่อง” คิดวนกับสิ่งที่เราแก้ไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะทุกข์ฟรี คิดวนไปวนมาไม่ได้ประโยชน์ อาจจะทำให้เกิดความเครียดสะสม ส่งผลกระทบต่อการทำงานและคนรอบข้าง แต่ถ้าหากไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ด้วยตัวเอง การไปพบจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เพื่อรับการรักษา ก็เป็นอีกหนึ่งทางออกที่สามารถทำให้เราบรรเทาความเครียดและความกังวลใจลงได้


เรียบเรียงบทความ โดย คุณพรทิพา วงษ์วรรณ์
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

ให้คะแนน