เผยแพร่:
เผยแพร่:
โดย รองศาสตราจารย์ เภสัชกรธนรัตน์ สรวลเสน่ห์
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
“ยา” เป็นส่วนหนึ่งในปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อมนุษย์ในการดำรงชีวิต แต่หากใช้อย่างไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมก็อาจเกิดโทษต่อร่างกายเช่นกัน ในปัจจุบันมีคนนิยมใช้ “ยาชุด” ในการรักษาโรคต่าง ๆ โดยอาจไม่ทราบ หรือไม่ได้คำนึงถึงโทษหรือผลเสียต่อร่างกาย จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า มีการจำหน่ายยาชุดในร้านขายของชำ หรือตามรถเร่ขายของ รวมถึงอาจพบได้ในร้านยาทั่วไปที่ไม่มี
เภสัชกรปฏิบัติงาน หรือคลินิกที่ไม่มีผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติงานด้วย โดยประเภทของยาชุดที่พบเจอจำหน่ายในท้องตลาดมีหลายชุด ซึ่งยาชุดที่ผู้บริโภคนิยมกันมาก ได้แก่ ชุดที่ 1 ยาแก้ปวดเมื่อย แก้ปวดหัว หรือบางคนเรียกยาชุดแก้อักเสบ ชุดที่ 2 ยาแก้หวัด หรือแก้เจ็บคอ ชุดที่ 3 เป็นยาชุดช่วยเจริญอาหาร สำหรับคนที่กินข้าวไม่ได้ อยากกินข้าวให้ได้มากขึ้น ชุดที่ 4 ยาชุดแก้อาการปัสสาวะขัด และชุดสุดท้าย เป็นยาชุดสำหรับแก้โรคกระเพาะ ปวดท้อง เสียดท้อง ท้องเสีย กลุ่มคนที่นิยมซื้อยาชุด ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มคนทำงานที่อยู่ในพื้นห่างไกลชนบทที่อยากได้ยาที่ให้ผลการรักษาอาการเจ็บป่วยแบบไว ๆ ทันใจ เพราะแค่กินยาเพียงชุดเดียวก็หาย ทำให้ยาชุดได้รับความนิยมในการรักษาโรค
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ยาชุดเองก็มีผลข้างเคียงทำให้ร่างกายได้รับอันตรายรุนแรงได้เช่นกัน ซึ่งในยาชุดแต่ละแบบนั้นส่วนใหญ่จะมียาอยู่จำนวน 4-6 เม็ด ทั้งนี้ พบว่า ยาชุดแก้ปวดเมื่อย ยาชุดแก้อักเสบ ยาชุดแก้หวัด หรือยาชุดช่วยเจริญอาหาร มักจะมีการเติมยาเม็ดกลุ่มสเตียรอยด์ลงไปเป็นส่วนประกอบในยาชุดด้วย อย่างที่เคยได้ยินว่า สเตรียรอยด์เป็นยาครอบจักรวาล แต่ถ้าร่างกายคนเราได้รับโดยไม่มีข้อบ่งใช้ อาการข้างเคียงของสเตียรอยด์ก็ไม่น้อยเหมือนกัน เช่น ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคเบาหวาน เมื่อรับประทานสเตียรอยด์เข้าไป อาจมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก และอาจจะมีอาการช็อคเกิดขึ้นได้ หรือบางทีทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น มีอาการบวมน้ำ ตัวบวม ถ้ากินบ่อย ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจมีผลทำให้ภูมิต้านทานของตัวเองต่ำ มีอาการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ทำให้แผลหายช้าลง กระดูกบางหรือกระดูกพรุน ใบหน้าบวม ซึ่งผลข้างเคียงดังกล่าวนี้มีทั้งที่เกิดขึ้นหลังได้รับยาเพียงครั้งเดียว หรือกินต่อเนื่องก็ได้
นอกจากยากลุ่มสเตียรอยด์แล้ว ในยาชุดแก้ปวดเมื่อย แก้หวัด ก็มักพบยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์จำนวน 1-2 เม็ดร่วมด้วย เพราะยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ กระดูกและข้อ มีฤทธิ์แก้ปวดเหมือนยากลุ่ม
สเตียรอยด์ และก็ทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่อันตรายได้ไม่น้อยไปกว่ายากลุ่มสเตียรอยด์ ได้แก่ ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือทางเดินอาหาร ทำให้เกิดเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือทางเดินอาหาร ทำให้ไตวายได้
ยาอีกชนิดหนึ่งที่มักถูกผสมในยาชุดแก้ปวดเมื่อย หรือยาชุดช่วยนอนหลับ ก็คือ ยานอนหลับ ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและระบบประสาทของผู้ใช้ยา มีผลกดการทำงานของสมอง ทำให้ง่วงนอน มึน ๆ ซึม ๆ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หลงลืม การตัดสินใจหรือสติสัมปชัญญะแย่ลง และมักเป็นยาที่สามารถออกฤทธิ์ได้ตลอดทั้งวัน ดังนั้น ผู้ใช้ยานอนหลับนี้จะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะ หรือการทำงานกับเครื่องจักรขนาดใหญ่ได้ ส่วนยาชุด พวกยาแก้หวัด แก้ขัดเบา ปัสสาวะแสบขัด มักจะมียาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเป็นส่วนประกอบ ซึ่งหากอาการเจ็บคอหรืออาการปัสสาวะแสบขัดนั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การกินยาชุดที่มียาปฏิชีวนะเป็นส่วนประกอบแทบไม่ได้ประโยชน์เลย แต่กลับทำให้เกิดข้อเสีย คือ ทำให้เชื้อแบคทีเรียในร่างกายเราดื้อยามากขึ้นได้ หากในอนาคต เราเกิดการติดเชื้ออันเนื่องมาจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ อาจทำให้การรักษาหายเป็นไปได้ยากขึ้น หรือผลตอบสนองต่อการรักษาก็อาจจะแย่ได้ ยาอีกชนิดหนึ่งที่มักถูกเติมลงไปในยาชุดหลายประเภท คือ พาราเซตามอล เพราะยามีผลช่วยบรรเทาอาการปวด ลดไข้ ลดอาการปวดเมื่อยแบบเล็กน้อยได้ ถ้าผู้บริโภคไม่ทราบว่าในยาชุดนั้นมีพาราเซตามอลผสมอยู่ แล้วไปกินพาราเซตามอลเพิ่มอีก ก็อาจจะทำให้ได้รับยาเกินขนาด ซึ่งสามารถทำให้เกิดตับอักเสบหรือตับวายได้
สิ่งนี้เป็นภาพรวมของยาต่าง ๆ ที่อาจผสมอยู่ในยาชุด ที่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ฟังดูน่ากลัว คนส่วนใหญ่จะมีแนวคิดที่ว่ากินเพียงเม็ดเดียวหรือชุดเดียวไม่เป็นไร ตอนอายุน้อย ๆ อาจจะยังไม่เป็นอะไร หรือยังไม่มีโรคประจำตัว ก็อาจไม่พบความผิดปกติใดเกิดขึ้น แต่เมื่ออายุมากขึ้น ภาวะการทำงานของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป มีโรคร่วมต่าง ๆ เกิดขึ้น การกินยาชุดเพียงแค่ชุดเดียว ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงซึ่งเกิดอันตรายต่อร่างกายหรือทำให้เสียชีวิตได ในยาชุดมียาหลายชนิดอยู่ในชุดนั้น โดยที่ผู้บริโภคไม่ทราบว่าในยาชุดนั้น มียาอะไรอยู่บ้าง เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้รับยาชุด อาจได้รับยาที่ไม่จำเป็นเข้าไป จึงทำให้เกิดโทษหรือผลข้างเคียงกับร่างกาย โดยไม่ได้รับประโยชน์ทางการรักษาเลย ยาเป็นเวชภัณฑ์ที่เป็นดาบสองคม มีทั้งประโยชน์และโทษ ดังนั้น ควรกินยาเฉพาะเมื่อจำเป็น เลือกใช้ยาให้ตรงกับอาการเจ็บป่วยของตนเองว่าเป็นแบบไหน ควรกินยาแบบนั้น เช่น ปวดหัวก็กินยาแก้ปวดหัว เมื่อมีน้ำมูกก็กินยาลดน้ำมูก หากเป็นโรคกระเพาะ มีอาการปวดท้องก็กินยาแก้ปวดท้อง การกินยาที่จำเพาะเจาะจง จะทำให้เราได้ยาที่เหมาะสม ทำให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาน้อยลง การใช้ยาที่ตรงกับอาการที่เป็น ใช้ยาให้น้อยที่สุดและจำเป็นที่สุด เลือกใช้ยาเพื่อให้เกิดประสิทธิผลและมีความปลอดภัยในการรักษาโรค หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น ควรศึกษาข้อมูลที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับยาหรือฉลากอย่างถี่ถ้วน สิ่งสำคัญควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เภสัชกร หรือบุคลากรทางแพทย์ จะทำให้ใช้ยาได้อย่างปลอดภัย
เรียบเรียงบทความ โดย คุณสาธิดา ศรีชาติ
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
Cookie | Duration | Description |
---|---|---|
cookielawinfo-checkbox-analytics | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Analytics". |
cookielawinfo-checkbox-functional | 11 months | The cookie is set by GDPR cookie consent to record the user consent for the cookies in the category "Functional". |
cookielawinfo-checkbox-necessary | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookies is used to store the user consent for the cookies in the category "Necessary". |
cookielawinfo-checkbox-others | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Other. |
cookielawinfo-checkbox-performance | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Performance". |
viewed_cookie_policy | 11 months | The cookie is set by the GDPR Cookie Consent plugin and is used to store whether or not user has consented to the use of cookies. It does not store any personal data. |