ท่องเที่ยวในพื้นที่สูงอย่างไร ให้ปลอดภัย
07/02/2023
วีซ่าสำหรับดิจิทัลโนแมด: แนวโน้มของโลกยุคหลังโควิด-19
07/02/2023

BCG Model พัฒนาเศรษฐกิจบนความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและความเท่าเทียมของสังคม

เผยแพร่: 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรันย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและวิเทศสัมพันธ์
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วย่อมส่งผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายๆ ด้าน โดยที่ผ่านมาทั่วโลกต่างตื่นตัวและตระหนักกับปัญหาและสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก สำหรับสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยนั้น พบว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีของไทยเพิ่มขึ้น ปริมาณฝนต่ำลงกว่าค่าปกติ สอดคล้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีปริมาณสูงขึ้น และยังมีปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรเสื่อมโทรม ทั้งน้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน ดินมีความเสื่อมโทรม ขยะล้นเมือง เพราะเรามีการใช้ทรัพยากรเสร็จแล้วก็ทิ้งเลย หรือที่เรียกว่าเป็นรูปแบบเส้นตรง (Linear used หรือ Linear economy) ทำให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะมูลฝอย มลพิษทางน้ำ มลพิษอากาศ และปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นต้น

ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนมีการใช้ชีวิตแบบ New Normal และมีแนวโน้มรูปแบบการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในภาพรวมช่วงปี พ.ศ. 2563 – เดือนมิถุนายน 2564 มีการใช้พลังงานน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็น Work from Home ทำให้เดินทางน้อยลง การดำเนินชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไปจากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) โดยภาครัฐ ส่งผลให้การใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนที่ลดลงด้วย เพราะการใช้พลังงานในภาพรวมลดลง ค่า PM10 และ PM2.5 ในอากาศก็มีแนวโน้มลดลง ยกเว้นพื้นที่เขตเมืองที่มีขนส่งหนาแน่นโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงพื้นที่ที่มีการเผาในที่โล่ง ก็จะมีค่า PM เพิ่มมากขึ้น สำหรับขยะมูลฝอยมีปริมาณลดลง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) แต่กลับพบปัญหาขยะพลาสติกและโฟมจากการสั่งอาหารและสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น รวมถึงขยะมูลฝอยติดเชื้อ เช่น ขยะจากชุดตรวจโควิด-19 และหน้ากากอนามัยก็มากขึ้นด้วย

นอกจากปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีปัญหาของภาคสังคมที่มีความเกี่ยวข้องกับการการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยมีการทำเกษตรกรรมอย่างกว้างขวาง แต่ในทางกลับกัน รายได้ของเกษตรกรกลับไม่เพิ่มขึ้น และยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ เป็นต้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบองค์รวมจึงมีบทบาทสำคัญที่จะนำพาประเทศเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อหลุดพ้นจากกับดัก ประเทศรายได้ปานกลาง หรือ Middle Income Trap แล้วก้าวสู่ประเทศรายได้สูง โดยเป็นการผสมผสานบูรณาการเศรษฐกิจ ด้วยการพัฒนาแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) ใน 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) มุ่งเน้นการผลิตทรัพยากรชีวภาพ เนื่องจากประเทศไทยเรามีจุดแข็งทางด้านเกษตรกรรม ซึ่งเกษตรกรรมเป็นรากฐานของประเทศไทยอยู่แล้ว แต่รายได้และมูลค่าที่ได้จากเกษตรกรรมยังไม่สูง จะต้องได้รับการส่งเสริมให้มากขึ้น โดยการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาช่วยให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น มีการเปลี่ยนทรัพยากรชีวภาพหมุนเวียน ให้มีมูลค่าเพิ่ม เปลี่ยนการผลิตแบบเดิมที่เป็น Linear economy ให้เป็น เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ในขั้นตอนต่าง ๆ ของการผลิตให้ได้มากที่สุด หรือจนนำมาใช้ต่อไม่ได้แล้ว เพื่อลดปริมาณขยะ และการหมุนเวียนนำชีวมวลมาใช้ประโยชน์ ยังลดการเผาตอซังข้าว การเผาใบอ้อย ช่วยลดปัญหา PM2.5 อีกประการหนึ่ง คือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากระบบของเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) จะต้องมีความสมดุลด้วย เช่น ผู้ประกอบการโรงงานจำเป็นต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่ได้รับการรับรอง เพื่อให้มลพิษน้อยลง การเติบโตของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ ต้องควบคู่กับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม หรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนควบคู่กัน 

BCG Model จะส่งเสริมให้เกิดการเติบโตและจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรได้ถึงสามเท่า และลดการใช้ทรัพยากรลงเหลือ 2 ใน 3 จากปัจจุบันภายใน 20 ปี กล่าวได้ว่า หัวใจสำคัญของ BCG Model คือการพัฒนาอย่างคู่ขนาน ทั้งในส่วนที่อาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาการระดับสูงสำหรับผลิตสินค้าและบริการมูลค่าสูง เช่น สารออกฤทธิ์ทางการแพทย์ต่างๆ และในส่วนฐานกว้างของปิระมิด คือ การสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้แก่คนจำนวนมาก ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเกษตรกร และคนในเมือง ทำให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่ยังคงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเสริมความเข้มแข็งทางสังคม ทางทรัพยากรธรมชาติ และวัฒนธรรม ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นองค์กรหลักในการสนับสนุนและผลักดันแนวคิด BCG Model เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบองค์รวม ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ

สำหรับสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำทางด้านการศึกษา การวิจัย การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม และอีกบทบาทคือ การให้ความรู้เพื่อให้เข้าใจแนวคิด BCG Model อย่างถ่องแท้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ สนับสนุนและเห็นความสำคัญในการให้ความรู้แก่นักศึกษาผ่านรายวิชาต่าง ๆ ที่ผนวกแนวคิด BCG Model ในลักษณะ Learning by doing และคณะฯ มีศูนย์วิจัยและบริการวิชาการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร มหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดลำปาง และร่วมมือกับวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นพื้นที่ธรรมชาติ ให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่ไปอยู่กับธรรมชาติจริง ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม การทำเกษตรกรรมที่มีประสิทธิภาพ การควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี การทำปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเป็นการทำเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ และที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาเอง ก็ยังมีการวิจัย การสอน และการจัดค่ายเยาวชนให้แก่นักเรียน 

การทำให้ประสบความสำเร็จ จะต้องมีการวางแผนบูรณาการความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา สามารถเริ่มปลูกฝังได้ตั้งแต่ในระดับโรงเรียน หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐต่าง ๆ ที่จัดกิจกรรมและประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนทุกกลุ่มจะต้องได้รับการสื่อสารว่า แนวคิด BCG Model คืออะไรและมีประโยชน์อย่างไร ให้ประชาชนเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ประชาชนก็มีส่วนร่วมได้เช่นกัน สามารถนำมาปรับใช้ในครัวเรือนได้ อีกทั้ง เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่ใหม่และเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับหลาย ๆ คน ที่อาจจะคิดไม่ถึงว่าสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่เป็นการส่งเสริมแนวคิด BCG Model หรือสนับสนุนการให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี เช่น บางครัวเรือนที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เป็นหนึ่งใน BCG เหมือนกัน การให้ความรู้และการได้เห็นตัวอย่างที่ดีจากทุกภาคส่วน จะเป็นการกระตุ้นให้สังคมเกิดความตื่นตัว เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน


เรียบเรียงบทความ โดย คุณวราภรณ์ น่วมอ่อน
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

3/5 - (2 votes)
PR
PR