การเสริมสร้างความรู้ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างยั่งยืน
23/12/2022
“ดนตรี” กับการส่งเสริมพัฒนาการในเด็กปฐมวัย
23/12/2022

สถานการณ์ระบบอาหารไทย อีกไกลแค่ไหน…จะไปถึงระบบอาหารที่ยั่งยืน

เผยแพร่: 

เมื่อพูดถึงเรื่องอาหารในประเทศไทยเรามักจะได้ยินคำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ซึ่งเป็นที่รับรู้กันในสังคมว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ มีอาหารการกินไม่ขาดแคลน และยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้นของโลกอีกด้วย

แต่คำกล่าวนั้นยังเป็นจริงอยู่มากน้อยเพียงใดในปัจจุบัน คำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ไม่ได้สะท้อนแง่มุมของระบบอาหารที่ครอบคลุม เนื่องจากเรื่องอาหารไม่ได้เกี่ยวข้องถึงความเพียงพอของปริมาณอาหารเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับคุณค่าทางโภชนาการ ผลกระทบของสิ่งแวดล้อม ความสามารถในการรับมือกับวิกฤต ความปลอดภัยทางอาหาร และการจัดการของเสีย เช่น ขยะอาหาร ประเทศไทยได้ผ่านเหตุการณ์ที่ทำให้เราเห็นสภาวะเปราะบางของระบบอาหารในประเทศ คือวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 และการปิดเมือง ซึ่งทำให้เราเห็นว่าการเข้าถึงอาหารเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤต มีชุมชนจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ การขนส่งหยุดชะงัก อาหารในตลาดหรือร้านสะดวกซื้อก็ไม่เพียงพอต่อการจับจ่าย จากเหตุการณ์นี้จึงทำให้เห็นว่าระบบอาหารของประเทศไทยยังไม่สามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ได้ดีพอ และประชากรไทยจำนวนมากยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองด้านอาหารได้ ทำให้เกิดคำถามว่า ระบบอาหารของไทยมีความยั่งยืนมากน้อยเพียงใด

รองศาสตราจารย์ ดร. จงจิตต์ ฤทธิรงค์ และ อาจารย์ ดร.ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ พร้อมทีมจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาสถานการณ์ระบบอาหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัย เพื่อพัฒนาตัวชี้วัดระบบอาหารของประเทศไทยซึ่งได้รับทุนจากสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมส่งสุขภาพ (สสส.) สหประชาชาติได้ให้นิยามว่าระบบอาหาร คือ “ทรัพยากร วัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่ง อุตสาหกรรมเชิงกระบวนการและการผลิต การค้าปลีก การบริโภคอาหาร และ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม” การพัฒนาตัวชี้วัดนี้มีจุดประสงค์ ในการสร้างเครื่องมือเพื่อให้ทราบสถานการณ์ระบบอาหารของประเทศว่ามีจุดใดที่เป็นจุดแข็ง จุดอ่อน จุดใดเป็นโอกาส หรือต้องการการแก้ไข ซึ่งมี 7 มิติด้วยกัน คือ 1.การได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ 2.เสถียรภาพของระบบนิเวศ 3. ความสามารถในการซื้ออาหารและการมีอาหารในปริมาณที่เพียงพอ 4.ความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคมวัฒนธรรม 5.ความยืดหยุ่นหรือการฟื้นคืน 6.ความปลอดภัยทางอาหาร และ 7.การลดของเสียและการสูญเสีย การศึกษานี้ยังมีเป้าหมาย เพื่อชี้ทิศทางให้ประเทศไทยไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน หรือระบบอาหารที่มีความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการสำหรับทุกคน เป็นระบบที่ฐานเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม จะต้องไม่ถูกทำลาย โดยผลจากการศึกษาสถานการณ์อาหารของไทยเบื้องต้นในทั้ง 7 มิติ มีดังนี้

มิติแรก คือมิติการได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ประเทศไทยสามารถผลิตอาหารหลักอย่างเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ คนไทยมีแนวโน้มบริโภคข้าวน้อยลง ในขณะที่บริโภคโปรตีนมากขึ้น ในด้านการบริโภคผักผลไม้พบว่า คนไทยส่วนใหญ่บริโภคผักและผลไม้ต่ำกว่าข้อแนะนำมาตรฐาน มีเพียง 21.2% ของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่บริโภคผักและผลไม้เพียงพอ ประเทศไทยสามารถผลิตอาหารเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและส่งออกได้ แต่พฤติกรรมการบริโภคของคนไทยยังไม่สมดุล การรับสารอาหารที่มีประโยชน์บางกลุ่มยังไม่เพียงพอ

มิติเสถียรภาพของระบบนิเวศ ประเทศไทยมีแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นในทุกปี ซึ่งส่งผลต่อภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยยังเผชิญกับภาวะแล้งในบางพื้นที่ ในขณะที่บางพื้นที่ประสบอุทกภัยรุนแรง

มิติความสามารถในการซื้ออาหารและการมีอาหารในปริมาณที่เพียงพอ ประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตอาหารมากกว่าที่บริโภคในประเทศ แต่คนไทยมีปัญหาการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอโดยเฉพาะกลุ่มผักผลไม้ ประกอบกับราคาผักผลไม้ที่เพิ่มมากขึ้น เป็นปัจจัยให้คนไทยบริโภคผักผลไม้น้อยลง นอกจากนี้ยังพบว่าราคาอาหารอ้างอิงจากดัชนีผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พ.ศ. 2553 ดัชนีราคาอาหารอยู่ที่ 77.92 และเพิ่มขึ้นเป็น 100.88 ในพ.ศ. 2564 ซึ่งแสดงให้เห็นแนวโน้มราคาอาหารที่สูงขึ้นอย่างมากทั้งวัตถุดิบและอาหาสำเร็จรูป ซึ่งอาจส่งผลต่อการเข้าถึงอาหารของกลุ่มเปราะบางในสังคม

มิติความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคมวัฒนธรรม การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูก(5) การสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทย พบว่าพ.ศ. 2562 แรงงานได้รับค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 14,315 บาท แรงงานในภาคเกษตรกรรมมีรายได้เฉลี่ยเพียง 6,010 บาทต่อเดือน ต่ำกว่าภาคการผลิตและการค้า (12,957 บาทต่อเดือน) และบริการ (16,507 บาทต่อเดือน) แรงงานนอกระบบในภาคเกษตรกรรมได้รับค่าจ้างเฉลี่ยเพียง 5,587 บาทต่อเดือน ค่าจ้างของแรงงานในระบบอาหารไม่สอดคล้องกับการดำรงชีพ

มิติความยืดหยุ่นหรือการฟื้นคืน ช่วงพ.ศ. 2552-2561 อุทกภัยสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 50,000 ล้านบาท นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกในการทำนาปรังต้องใช้น้ำมากยิ่งขึ้น ช่วงพ.ศ. 2552-2560 ภัยแล้งสร้างความเสียหายกว่า 6,000 ล้านบาท ภัยพิบัติทางธรรมชาติทำให้พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 14 ล้านไร่ ประเทศไทยจึงต้องเพิ่มความสามารถในการป้องกัน รับมือกับภัยพิบัติ และเสริมมาตรการฟื้นฟู เพื่อให้ระบบอาหารกลับคืนมาให้สภาพเดิมหรือดีกว่าเดิมให้ได้เร็วที่สุด

มิติความปลอดภัยทางอาหาร คนไทยยังเสี่ยงกับการบริโภคอาหารที่มีสารเคมีตกค้าง ทั้งสารกำจัดศัตรูพืช สารเร่งเนื้อแดง ยาปฏิชีวนะและอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น 58.7% ของผักผลไม้ที่สุ่มตรวจพบสารพิษตกค้าง 17.9% ของเนื้อวัวที่สุ่มตรวจพบหรือสารซาลบูทามอลหรือสารเร่งเนื้อแดงในระดับสูง และ กว่า 40% ของเนื้อไก่และตับไก่ที่สุ่มตรวจพบยาปฏิชีวนะตกค้าง การสะสมของสารเคมีในร่างกายจะส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้ในอนาคต ในกรณีของยาปฏิชีวนะที่ตกค้างในเนื้อสัตว์พบว่า ยาปฏิชีวนะสามารถส่งต่อสู่คนผ่านการบริโภคและก่อให้เกิดภาวะดื้อยาในคน

สุดท้ายคือ มิติการลดของเสียและการสูญเสียอาหาร ในปี 2562 ประเทศไทยผลิตขยะมูลฝอยประมาณ 28.7 ล้านตัน ซึ่ง 64% เป็นขยะอาหาร ประเทศไทยผลิตขยะอาหารปริมาณมากแต่ยังไม่มีระบบจัดการขยะที่ดีพอ ขยะอาหารจึงถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบ เกิดการเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น และสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน นอกจากขยะอาหารแล้ว เรายังสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิตและขนส่งอีกด้วย ตัวอย่างเช่น มะเขือเทศ และกะหล่ำปลี มีค่าดัชนีการสูญเสียอยู่ที่ 45% และ 43% ตามลำดับ โดยการสูญเสียเกิดจากการตัดแต่งผลผลิตและการขนส่ง

อาจารย์ ดร.ภัทราภรณ์ หนึ่งในทีมวิจัย ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากการศึกษาสถานการณ์ระบบอาหารเบื้องต้นในทั้ง 7 มิติ ที่ทำให้เราเห็นว่าระบบอาหารของประเทศไทย แม้ว่าจะมีจุดแข็งหลายประการ แต่ก็ยังมีจุดที่น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย การจะไปให้ถึงระบบอาหารที่ยั่งยืนอาจดูไม่ง่ายนัก แต่ถ้าหากเรารู้ถึงสถานการณ์ระบบอาหารของประเทศไทยในปัจจุบันแล้ว เราจะสามารถวางแผนและหาหนทางเพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น และเสนอตัวชี้วัดระบบอาหาร เป็นเครื่องมือในการสำรวจสถานการณ์ระบบอาหารในบริบทต่าง ๆ ตัวชี้วัดนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น และระดับประเทศ


ข้อมูลอ้างอิง
1.Braun Jv, Afsana K, Fresco L, Hassan M, Torero M. Food Systems – Definition, Concept and Application for the UN Food Systems Summit. United Nations: United Nations Food Systems Summit 2021 Scientific Group; 2021.
2.Gustafson D, Gutman A, Leet W, Drewnowski A, Fanzo J, Ingram J. Seven Food System Metrics of Sustainable Nutrition Security. Sustainability. 2016;8 (3).
3.วิชัย เอกพลากร, หทัยชนก พรรคเจริญ, วราภรณ์ เสถียรนพเก้า. การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563. กรุงเทพฯ: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล; 2564.
4.กระทรวงพาณิชย์. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป 2564 [Available from: https://data.moc.go.th/OpenData/CPIGIndexes.
5.The momentum. กับดักความคุ้นชิน : ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ ที่ไปไม่ถึง ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ 2560 [Available from: https://themomentum.co/minimum-wage-qwerty/.
6.กระทรวงแรงงาน. สถิติแรงงานประจำปี 2562. กรุงเทพฯ: กระทรวงแรงงาน; 2563. ฯลฯ


เรียบเรียงบทความโดย สุทธิรัตน์ สวัสดิภาพ

ให้คะแนน
PR
PR