สถานการณ์ระบบอาหารไทย อีกไกลแค่ไหน…จะไปถึงระบบอาหารที่ยั่งยืน
23/12/2022
ม.มหิดล บ่มเพาะนักศึกษาด้วยหลัก “พุทธเศรษฐศาสตร์” ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพไปสู่ความหมายของมนุษย์ (ผู้มีใจสูง) และใส่ใจสิ่งแวดล้อม
28/12/2022

“ดนตรี” กับการส่งเสริมพัฒนาการในเด็กปฐมวัย

เผยแพร่: 

อาจารย์ ดร.ประภัสสร พวงสำลี
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิด

“ดนตรี” คือ สื่อประเภทหนึ่งที่ใช้องค์ประกอบทางด้านดนตรีมาเรียงร้อยต่อกันจนเกิดเป็นงานศิลปะ สามารถถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกไปสู่ผู้ฟังได้ จึงมีการนำดนตรีมาใช้กับเด็ก โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยดนตรีสามารถส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ในหลายด้าน ทั้งด้านสุนทรียศาสตร์และการเรียนรู้ โดย “ดนตรี” ถูกนำมาใช้ในการสื่อสาร สร้างอารมณ์และการรับรู้เป็นหลัก โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้ 

1.ดนตรีเพื่อการเตรียมความพร้อมสำหรับเด็ก เช่น เพลงที่เปิดในโรงเรียนตอนเช้า จะเป็นเพลงที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ เพลงตัวเลข เพลงภาษาอังกฤษ ฯลฯ เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้เตรียมเข้าสู่บรรยากาศของการมาโรงเรียน จากนั้น ก็เป็นเพลงเพื่อเป็นสัญญานให้ทราบว่า ต้องเตรียมตัวเข้าแถวเตรียมเคารพธงชาติ เพลงทำสมาธิ เพลงเดินกลับห้อง รวมไปถึง เพลงการเตรียมความพร้อมในห้องเรียน ในบางห้องเรียนคุณครูยังใช้เพลงเพื่อขับกล่อมให้เด็ก ๆ นอนกลางวันด้วย

2.ดนตรีเพื่อความผ่อนคลาย โดยเลือกใช้เพลงที่ทำนองช้า ๆ ไม่เน้นเสียงกลองหรือกีตาร์หนัก ๆ อาจจะเป็นเพลงเดียวกันกับเพลงกล่อมนอน เพราะต้องการให้เด็กรู้สึกสบาย สงบและนอนหลับกลางวัน หรือเป็นเพลงสบาย ๆ ที่เปิดในช่วงกลางวันในขณะที่เด็กทำกิจกรรมระหว่างวันเพื่อสร้างสมาธิระหว่างทำกิจกรรมนั้นด้วย เนื่องจากดนตรีสำหรับเด็กนั้นไม่จำเป็นต้องเน้นสร้างความสนุกสนาน ต้องกระโดดหรือเต้นเท่านั้น การใช้ดนตรีดนตรีที่มีท่วงทำนองสบายในเด็กปฐมวัย ก็ช่วยให้เด็กสงบขึ้น มีสมาธิมากขึ้นได้

3.ดนตรีเพื่อเป็นสื่อในการเรียนการสอน อันนี้หมายถึง “วิชาดนตรี” ที่มีการเรียนการสอนในห้องเรียนอยู่แล้ว เช่น ในเรื่องของการฝึกเล่นเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ เด็กจะเกิดกระบวนการเรียนรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย ได้พัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย ความคิด และสติปัญญา

“ถ้าหากจะมอบของขวัญสักชิ้นให้กับเด็ก ๆ ก็แนะนำให้เป็นวิชาดนตรี อยากให้ดนตรีเป็นของขวัญชิ้นสำคัญที่จะติดตัวเด็ก ๆ ไปตลอดชีวิต”

การนำดนตรีมาใช้ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยนั้น จะมุ่งเน้นพัฒนาทักษะของเด็กในหลาย ๆ ด้าน เช่น การฟัง การเคลื่อนไหว การร้องเพลง การเล่นดนตรี และการสร้างสรรค์ โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นจะส่งเสริมพัฒนาการเด็กในแต่ละด้านได้ เช่น กิจกรรมด้านการฟังและการร้อง จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านภาษา ได้เพิ่มคลังคำศัพท์ ฟังเสียงและฝึกการออกเสียงผ่านเพลงได้อย่างถูกต้อง รู้จักการรอคอย เพื่อที่จะร้องเพลงในท่อนของตนเอง หรือรอจังหวะในช่วงของทำนองเพลง

กิจกรรมด้านการเล่นและการเคลื่อนไหว จะช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของร่างกายในทุกส่วน ทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ผ่านกิจกรรมการเคลื่อนไหวและการเล่นเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ 

ในส่วนของพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม กิจกรรมดนตรีเป็นกิจกรรมที่สามารถทำกิจกรรมที่สามารถทำเป็นกลุ่มและเดี่ยวได้ มีผู้นำและผู้ตามสลับหน้าที่กันไปในแต่ละกิจกรรม ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้บทบาทของตนเองในกลุ่ม รู้จักการเป็นผู้ฟัง เรียนรู้การเป็นผู้นำ ส่งเสริมความกล้าแสดงออก เป็นกำลังใจให้เพื่อนในกลุ่ม ได้ฝึกแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือไอเดียต่าง ๆ ระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์

ทั้งนี้ มีข้อพึงระวังสำหรับการเลือกเครื่องมือที่ใช้ เช่น เพลงจาก YouTube ที่มีภาพประกอบ ที่จะเกิดภาวะเด็กติดจอไปด้วย หรือของเล่นที่เป็นเครื่องดนตรีที่มีระดับเสียงที่ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลต่อสุนทรียภาพทางดนตรีของเด็ก

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ในการใช้ดนตรีเพื่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็กนั้นมีอยู่มาก ในฐานะครู ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็ก ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจในการคัดกรองสื่อต่าง ๆ ที่นำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด การใช้ดนตรีในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถทำได้เลย ไม่ต้องรอคุณครู เพราะบางทีอาจมีรูปแบบการที่หลากหลายมากกว่า อยากให้ลองเลือกวิธีและแนวทางในการใช้เพื่อให้เด็ก ๆ เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีพัฒนาการที่สมวัย


เรียบเรียงบทความโดย ศรัณย์ จุลวงษ์

5/5 - (1 vote)
PR
PR