เผยแพร่:
เผยแพร่:
อ.พจ.ธนานันต์ แสงวณิช แพทย์แผนจีน สาขากุมารเวชศาสตร์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
การแพทย์แผนจีน ถือเป็นหนึ่งในการแพทย์ทางเลือกที่สำคัญและเป็นที่นิยมในเมืองไทย เป็นศาสตร์การแพทย์ที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจพื้นฐานด้านทฤษฎีทางการแพทย์แผนจีน รวมถึงการนำไปใช้อย่างถูกวิธี สามารถเชื่อมโยงกับธรรมชาติและร่างกายมนุษย์เข้าด้วยกัน ตามทฤษฎีหยิน-หยาง ซึ่งเป็นทฤษฎีคู่ตรงกันข้ามของมนุษย์และสรรพสิ่งในธรรมชาติ ซึ่งมักกล่าวถึง ความเย็น-ความร้อน ความชุ่มชื้น-ความอบอุ่น ความมืด-แสงสว่าง พื้นดิน-ท้องฟ้า ที่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างพึ่งพา และอีกทฤษฎีหนึ่งที่สำคัญ คือ “ทฤษฎีปัญจธาตุ” ประกอบด้วยธาตุ 5 ชนิด ในธรรมชาติ ได้แก่ ธาตุไม้ ซึ่งเชื่อมโยงกับ ตับและถุงน้ำดี ธาตุไฟ เชื่อมโยงกับ หัวใจและลำไส้เล็ก ธาตุดิน เชื่อมโยงกับ ม้ามและกระเพาะอาหาร ธาตุทอง เชื่อมโยงกับ ปอดและลำไส้ใหญ่และธาตุน้ำเชื่อมโยงกับ อวัยวะไตและกระเพาะปัสสาวะ โดยธาตุทั้งหมดนี้ เชื่อมโยงถึงการเคลื่อนที่ของลมปราณ ที่ทำให้เกิดความสมดุลในร่างกายมนุษย์ เริ่มต้นตั้งแต่เด็กจนไปสู่วัยชรา
สำหรับการรักษาโรคและอาการในเด็กด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน ถูกนำมาใช้ในการรักษาโดยอาศัยวิธีการรักษาหลายรูปแบบร่วมกัน เช่น เด็กมีปัญหาท้องผูก ท้องอืด การเลือกวิธีรักษาด้วยการฝังเข็มและใช้สมุนไพรจีน สามารถช่วยให้อาการดีขึ้น สำหรับผู้ปกครอง เมื่อเด็กมีอาการเหล่านี้ การเรียนรู้การใช้หัตถการการนวดทุยหนาเด็กช่วยให้เด็กมีระบบขับถ่ายดีขึ้น ทานยาลดกรดน้อยลง หรือเด็กที่มีอาการจากจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ศาสตร์การแพทย์แผนจีนมีบทบาทในการลดความถี่ของอาการภูมิแพ้ อาทิ คัดจมูก จามและมีน้ำมูกไหลสีใสปริมาณมาก มักเลือกวิธีปรับสมดุลลมปราณปอด ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาการในกลุ่มระบบทางเดินหายใจ และปรับสมดุลเจิ้งชี่ (Vital Qi) ซึ่งเป็นลมปราณที่คุ้มกันโรคของเด็ก ๆ ลดการตอบสนองต่อปัจจัยก่อโรคในมุมมองของศาสตร์การแพทย์แผนจีน เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงของลมปราณ สามารถนำมาซึ่งการวิเคราะห์โรคตามหลักศาสตร์การแพทย์แผนจีนได้ โดยให้ความสำคัญกับการปรับสมดุลของลมปราณและเลือดในร่างกาย นำไปสู่การเลือกหัตถการที่จะนำมาใช้ทางคลินิก สำหรับการรักษาในเด็กนั้นจะต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งคือ “ทฤษฎีทางกุมารเวชศาสตร์แผนจีน” เนื่องจากพื้นฐานการเกิดโรคในเด็กนั้นจะมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ ทำให้แนวทางการรักษาที่นำมาใช้ก็จะแตกต่างกันด้วย
อ.พจ.ธนานันต์ กล่าวว่า การรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศจีนบางกลุ่มโรคอาจใช้เป็นการรักษาทางหลักหรือทางเสริมควบคู่กับการรักษาอื่น หรือเป็นทางเลือกของการรักษา (Complementary and Alternative Medicine, CAM) แต่ในประเทศไทยนั้น การแพทย์แผนจีนมักอยู่ในบริบทของการเป็นการแพทย์แผนทางเลือก ผู้ปกครองจะหันมาใช้การแพทย์แผนจีนมาเป็นทางเลือกในการรักษาสำหรับเด็ก ในการช่วยเสริมหรือบรรเทาอาการ เพราะเชื่อว่าเป็นแนวทางธรรมชาติ แต่ก็อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคนเสมอไป จำเป็นต้องอยู่ในดุลพินิจของผู้เชี่ยวชาญ โดยวิธีการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนประกอบด้วย การใช้สมุนไพร การฝังเข็ม การนวดทุยหนา และการครอบแก้ว ซึ่งวิธีการรักษาแต่ละอย่างก็มีข้อบ่งใช้และข้อควรระวังแตกต่างกันไป ดังนี้
การใช้สมุนไพร – โดยมุมมองทั่วไป เรามักเข้าใจว่าสมุนไพรคือสิ่งที่มาจากธรรมชาติและปลอดภัย การใช้สมุนไพรถึงแม้จะมาจากธรรมชาติแต่ควรสร้างความเข้าใจการใช้อย่างถูกต้องให้แก่ผู้ปกครอง ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานการเข้าใจความสมดุลของหยิน-หยางในร่างกายของเด็ก ยกตัวอย่าง เช่น เด็กที่ขี้หนาว ป่วยง่าย มักเป็นกลุ่มพลังหยางพร่องหรือลมปราณพร่อง ควรใช้สมุนไพรที่ให้ฤทธิ์อุ่นร้อนแก่ร่างกาย หรือกรณีตรงข้ามกัน ถ้าเด็กขี้ร้อน มักให้สมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น และอาจปรับการรับประทานอาหาร เรียกว่าโภชนาบำบัดทางการแพทย์แผนจีน หรือปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันร่วมด้วย
การฝังเข็ม – ปกติแล้ว ไม่มีกำหนดว่าการฝังเข็มฝังสามารถฝังให้กับเด็กได้ตั้งแต่อายุเท่าไร ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์แผนจีนถึงความจำเป็น รวมถึงพิจารณาถึงตำแหน่งและรูปแบบของการฝังเข็มโดยอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยและความร่วมมือจากเด็กด้วย
การนวดทุยหนาเด็ก – เป็นการนวดเด็กทางศาสตร์การแพทย์แผนจีน เพื่อบำบัดหรือบรรเทาอาการบาง ประการที่สามารถนวดให้เด็กได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไปโดยแพทย์แผนจีน เนื่องจากมีข้อกำหนดในการนวด อาทิ การลงน้ำหนักอย่างเหมาะสม ทิศทางการนวดและตำแหน่งที่ทำหัตถการ แต่ถ้าเป็นการนวดโดยพ่อ แม่ ผู้ปกครองที่ได้เรียนรู้วิธีการนวดที่ถูกต้อง ก็สามารถนำไปนวดให้เด็กได้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่กับเด็ก ถือเป็นประโยชน์ทางอ้อมที่เกิดขึ้นในครอบครัวอีกทางหนึ่ง
โดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มีแนวทางในการดำเนินงานด้านกุมารเวชศาสตร์แผนจีน เพื่อสร้างงานการแพทย์แผนจีนเพื่อดูแลสุขภาพเด็กตั้งแต่ปฐมวัย วัยเรียนและวัยรุ่นด้วยการปฏิบัติงานทางคลินิกควบคู่กับงานบริการวิชาการ สร้างความเข้าใจแก่บุคคลทั่วไปต่อศาสตร์การแพทย์แผนจีนและกุมารเวชศาสตร์แผนจีน ต่อยอดไปยังงานวิจัยเพื่อพัฒนางานกุมารเวชศาสตร์ทางการแพทย์แผนจีนให้เป็นรูปธรรมในอนาคต และการขยายข่ายงานเพื่อให้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการเรียนรู้และสุขภาพของเด็กบนฐานธรรมชาติ โดยมีความตั้งใจให้ศาสตร์สุขภาพแผนจีนสำหรับเด็กและครอบครัวมามีบทบาทในการสร้างสุขภาวะและช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กทุกช่วงวัย ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสุขภาพดีอย่างยั่งยืนตลอดช่วงชีวิตของมนุษย์
เรียบเรียงบทความโดย ศรัณย์ จุลวงษ์
Cookie | Duration | Description |
---|---|---|
cookielawinfo-checkbox-analytics | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Analytics". |
cookielawinfo-checkbox-functional | 11 months | The cookie is set by GDPR cookie consent to record the user consent for the cookies in the category "Functional". |
cookielawinfo-checkbox-necessary | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookies is used to store the user consent for the cookies in the category "Necessary". |
cookielawinfo-checkbox-others | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Other. |
cookielawinfo-checkbox-performance | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Performance". |
viewed_cookie_policy | 11 months | The cookie is set by the GDPR Cookie Consent plugin and is used to store whether or not user has consented to the use of cookies. It does not store any personal data. |