COVID-19 ในยุคแรก มาพร้อมกับความวิตกกังวลในเรื่องผลกระทบต่อปอด หรือระบบทางเดินหายใจ จนเมื่อมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเช่นในปัจจุบัน ก็ยังคงพบอย่างน้อย 1 ใน 3 ของผู้ป่วย COVID-19 มีอาการปอดอักเสบ
โครงการ “RAMAAI” หรือ “ระไม” คือ ผลผลิตของความร่วมมือและตั้งใจจากทีมบุคลากรทางการแพทย์ และทีมผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี ที่ไม่ย่อท้อต่อวิกฤติ COVID-19 ที่ทำให้โลกแทบหยุดหมุน โดยมีเป้าหมายหลักเดียวกัน คือ เพื่อเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้การวินิจฉัย รักษา โรคปอดอักเสบจาก COVID-19 เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในช่วงการระบาด อันเป็นภาวะวิกฤติของประเทศ
ในทันทีที่ผู้ป่วย COVID-19 มีอาการที่บ่งชี้ หรือสงสัยภาวะปอดอักเสบ จะถูกส่งถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ เพื่อส่งต่อให้รังสีแพทย์ให้ประกอบการวินิจฉัย ซึ่งหากพบการติดเชื้อที่ปอด ผู้ป่วยจะต้องเปลี่ยนแนวทางการรักษา โดยมุ่งรักษาที่อาการปอดอักเสบก่อนเป็นอันดับแรก
ดังนั้น ขั้นตอนดังกล่าวจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ซึ่งรังสีแพทย์และแพทย์ผู้ให้การรักษาจะรอช้าไม่ได้หากเป็นนาทีวิกฤติแห่งความเป็นและความตาย
ทีมอาจารย์แพทย์ประจำภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นำโดย อาจารย์ แพทย์หญิงชญานิน นิติวรางกูร ได้ร่วมกับ ภาควิชาระบาดคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างสรรค์และพัฒนา “RAMAAI” ขึ้น เพื่อต่อชีวิตผู้ป่วย ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยทำให้รังสีแพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ผ่านเว็บไซต์ และ LINE BOT ซึ่งได้ช่วยทำให้โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
โดยสามารถนำไปใช้ทั้งในระบบโรงพยาบาล และแพทย์สนาม พัฒนาขึ้นจากฐานข้อมูลของผู้ป่วยจากทั่วโลก เทียบเคียงกับข้อมูลผู้ป่วยโรงพยาบาลรามาธิบดีที่คอย update อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรับรองผลได้ถึงความถูกต้อง และแม่นยำ
สะดวกทั้งในระบบ web-based โดยการนำภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ของผู้ป่วยที่เชื่อมต่อจากห้องถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์มาดาวน์โหลดเพื่อให้ AI ในระบบได้ประมวลผล แสดงให้แพทย์ได้ใช้ประกอบการวินิจฉัยได้ในทันที หรือจะส่งภาพปรึกษาผ่าน LINE BOT ก็ย่อมได้
อาจารย์ ดร.สุเมธ ยืนยง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ดูแลฝ่ายเทคนิค กล่าวเสริมว่า จุดเด่นของ “RAMAAI” อยู่ที่การออกแบบให้ใช้งานง่าย แม้แต่แพทย์ที่ไม่ได้มีความชำนาญเฉพาะด้านรังสีวิทยาก็สามารถใช้งานได้
การทำงานของระบบไม่ได้มุ่งออกแบบเพื่อให้ใช้แทนการวินิจฉัยโดยแพทย์ในระบบปกติ แต่จะใช้เพื่อช่วยแพทย์วินิจฉัย โดยสามารถจำแนกภาพได้ครอบคลุม 3 ประเภท คือ ภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์แบบปกติที่ไม่มีลักษณะบ่งชี้ ภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ที่แสดงอาการปอดติดเชื้อจาก COVID-19 และภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ที่แสดงความผิดปกติอื่นๆ
ในอนาคต เพื่อให้เกิดการต่อยอดประยุกต์ใช้นวัตกรรมขยายผลออกไป ทีมวิจัยเตรียมพัฒนา “RAMAAI” ให้สามารถรองรับการวินิจฉัยความผิดปกติทางปอดให้ครอบคลุมถึง 14 กลุ่มโรคหรือความผิดปกติ ได้แก่ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด โรควัณโรค และโรคหัวใจโต เป็นต้น
ทุกชีวิตมีค่า และจะยิ่งมีความหมาย หากได้ “ช่วยชีวิต เพื่อต่อชีวิต” ให้ได้มีโอกาสอยู่ต่อไปเพื่อทำสิ่งที่ดี มีคุณค่า ต่อสังคมประเทศชาติ และคนรุ่นหลัง ด้วยการใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม และเกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วิไล กสิโสภา นักวิชาการสารสนเทศ
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210