ม.มหิดล เผยเทคนิค ใช้ "ใจสัมผัสใจ" เพื่อเข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์ - กองบริหารงานทั่วไป

ม.มหิดล เผยเทคนิค ใช้ “ใจสัมผัสใจ” เพื่อเข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์

นับเป็นเวลาเกือบครึ่งทศวรรษแล้วที่ “กลุ่ม iCulture” หรือ “กลุ่มพันธกิจวัฒนธรรมสถานบริรักษ์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล” ได้ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรม ร่วมสร้างบูรณภาพทางสังคมให้คนทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

เพื่อสืบสานพันธกิจของสถาบันฯ กลุ่ม  iCulture ได้ออกตระเวนนำรถบ้านพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ “วิวิธชาติพันธุ์” (Vivid Ethnicity) เพื่อสื่อความหมายสีสันสดใสของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีหลากหลายในสังคมไทย

ความวิเศษเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อประตูรถเปิดออกให้ทุกคนได้เข้ามาเยือน โดยไม่ใช่ในฐานะแขกผู้มาเยือน แต่เป็นผู้สร้างสรรค์ความมีชีวิตชีวาใน “ห้องนั่งเล่น” หรือ “living room” อันอบอวลไปด้วยมิตรภาพโดยไม่เลือกชาติเลือกภาษา ซึ่งมี “พะตี่” หรือ “คุณลุง” และ “มื้อก่า” หรือ “คุณป้า” ในภาษาชาวไทยภูเขากลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) คอยต้อนรับอย่างอบอุ่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา และหัวหน้าโครงการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม (Mahidol Social Engagement) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา และประธานกลุ่ม iCulture สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (RILCA) มหาวิทยาลัยมหิดล เปรียบเหมือน “พะตี่” และ “มื้อก่า” ประจำรถบ้านวิวิธชาติพันธุ์ของกลุ่ม iCulture ผู้คอยเชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนห้องนั่งเล่นที่มีชีวิตชีวาแห่งนี้ได้ “สวมหมวกแห่งมิตรภาพ” ชาว “อาข่า” ที่มีสีสันโดดเด่นสวยงามประกอบด้วยผ้าและโลหะ เพื่อถ่ายภาพประทับใจก่อนเปิดประตูกลับออกไปด้วยรอยยิ้มแห่งมิตรภาพ

เป็นเรื่องน่ายินดีที่เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีราชกิจจานุเบกษาประกาศเปลี่ยนชื่อ “หมู่บ้านอีก้อผาฮี้” ให้เป็น “หมู่บ้านผาฮี้” เพื่อลดและหลีกเลี่ยงการเหยียดกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณแห่งสันติภาพ ที่กำลังเติบโตเบ่งบานในประเทศไทย

เช่นเดียวกับหมวกของชาวไทยภูเขากลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ประจำรถบ้านวิวิธชาติพันธุ์ของกลุ่ม iCulture ดังกล่าว ที่จะทำให้ทุกหัวใจได้เบ่งบานด้วยมิตรภาพในทุกครั้งที่สวมใส่ เพราะไม่ว่าจะมาจากชาติใดภาษาใดก็สามารถสวมหมวกใบนี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย ได้กล่าวถึงรถบ้านวิวิธชาติพันธุ์ ของกลุ่ม iCulture ว่า เป็นเหมือน “ห้องนั่งเล่น” สำหรับนั่งคุย นั่งเล่นอย่างเป็นกันเอง มากกว่า “ห้องรับแขก” ที่จะต้องมานั่งตัวเกร็งหลังตรง ผู้ชมจะรู้สึกเหมือนอยู่บ้านตัวเอง บทสนทนาที่เกิดขึ้นในรถบ้านช่วยให้ทุกคนได้สัมผัสถึงเรื่องราวแห่งความประทับใจ ความน่าสนใจของผู้คนที่มีความคิดจิตใจ วิถีชีวิตแตกต่างกันไป

รถบ้านวิวิธชาติพันธุ์ ของกลุ่ม iCulture จึงเปรียบเหมือน “ทูตแห่งสันติภาพทางภาษาและวัฒนธรรม” ผู้ไปเยือนพร้อมทั้งรวบรวมเอาความประทับใจจาก “สัญลักษณ์แทนใจ” มาเป็นวัตถุจัดแสดงในรถบ้านซึ่งล้วนเป็นของที่ระลึกจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั่วประเทศที่ได้เคยหยิบยื่นให้ด้วยน้ำใจ

ภายในรถบ้านตกแต่งด้วยโทนสีธรรมชาติ ให้ความรู้สึกถึงความเป็นบ้านที่อบอุ่น โดยมีทั้งโซฟา และเตาอบ นอกจากหมวกซึ่งเป็น “สัญลักษณ์แทนใจ” จากชาวไทยภูเขากลุ่มชาติพันธุ์อาข่าแล้ว ยังมีหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวด้วยตัวอักษรและภาพ พร้อมด้วยของเล่น และของที่ระลึกจากชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกมากมาย

ของเล่นชิ้นหนึ่งที่น่าสะดุดตา ซึ่งไม่อาจหาดูได้ง่ายๆ จากที่ใดๆ เป็นของเล่นทำมือจากวัสดุที่เป็นไม้และยางแผ่นของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์มลายูมุสลิมที่เรียกขานกันว่า “มวยน้ำ” โดยเป็นไม้ที่ขึงแผ่นยางขนาดกว้างประมาณ 1 – 2 นิ้ว เพื่อทำเป็นรางให้เด็กๆ ได้นำดอกหญ้ามาวางแล้วใช้ไม้เล็กๆ ของแต่ละฝ่ายเคาะแข่งกันให้ดอกหญ้าวิ่งตกราง คอยสร้างความสนุกสนานและเพลิดเพลินได้ไม่น้อย

วัตถุชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่ง คือ แก้วพลาสติกซ้อนกัน 3 ชั้น โดยวาดลวดลายชุดชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในส่วนของศีรษะ ลำตัวช่วงกลาง และลำตัวช่วงล่าง ลงบนแก้วในแต่ละใบ ให้สามารถหมุนมาต่อกันพอดี ก็สามารถสร้างความประทับใจได้ไม่แพ้กัน

แม้จะมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด แต่จากคำบอกเล่าของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ ผู้เป็นประธานกลุ่ม iCulture ทราบว่า รถทูตแห่งสันติภาพทางภาษาและวัฒนธรรมดังกล่าว เคยบรรจุได้ถึง 15 คน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ จะเป็นเพศใด จากชาติใด ภาษาใด ก็สามารถขึ้นมานั่ง “ใช้ใจคุยกัน” ได้

ก่อนกลับยังสามารถออกไปนั่งจิบกาแฟออร์แกนิกจากชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ที่กลุ่ม iCulture ได้ไปเยือนมาแล้วจากทั่วประเทศ พร้อมนั่งคุยกันฉันท์เพื่อนในมุมกาแฟที่จัดไว้ใกล้กัน

ซึ่งเคล็ดลับของการเข้าถึงชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ของ iCulture คือการใช้ “ใจสัมผัสใจ” ที่จะทำให้ทุกคนกลับออกไปด้วยความรู้สึกที่งดงามทุกครั้งที่ได้มาเยือน การันตีได้จากรางวัลที่ได้รับจากโครงการ 50 ความดี 50 ปีวันพระราชทานนาม 131 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2562 และจากคำบอกเล่าปากต่อปากของผู้มาเยือนที่ให้ความสนใจ ทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ ที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย

รวมทั้งได้เป็นแรงผลักดันให้ “สาขาวิชาพิพิธภัณฑ์ศึกษา” ที่เคยเป็นเพียงแขนงหนึ่งของหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา ได้พัฒนาขึ้นเป็น “หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพิพิธภัณฑ์ศึกษา” ซึ่งจะเป็นหลักสูตรใหม่ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล คาดว่าจะสามารถเปิดรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษารุ่นแรกได้ภายในปีหน้า หรือปีพ.ศ.2566 นี้แล้ว

แม้ COVID-19 จะยังคงมีต่อไป แต่รถบ้านวิวิธชาติพันธุ์ ของกลุ่ม iCulture สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมมุมกาแฟที่ทำจากมือและหัวใจของเพื่อนๆ ชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ จะยังคงรอคอยต้อนรับทุกท่านให้ได้มาสัมผัสที่ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม ด้วยความอบอุ่นและมิตรภาพเสมอ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียด และสอบถามได้ทาง inbox ของ Facebook: RILCA, Mahidol University

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ม.มหิดล เตรียมผลักดันเทคโนโลยีใหม่ T-cells รักษามะเร็ง สู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูง
01/11/2022
ม.มหิดล ชี้ทางเพิ่มทักษะ เพิ่มโอกาสชีวิตในโลกยุคเมตาเวิร์ส
01/11/2022
ม.มหิดล เตรียมผลักดันเทคโนโลยีใหม่ T-cells รักษามะเร็ง สู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูง
01/11/2022
ม.มหิดล ชี้ทางเพิ่มทักษะ เพิ่มโอกาสชีวิตในโลกยุคเมตาเวิร์ส
01/11/2022