ม.มหิดล เปิดอาณาจักรข้อมูลสุขภาพ สู่ความหวังใหม่เพื่อคนไทยใช้ชีวิตง่ายขึ้น
14/02/2023
ครั้งแรกในไทย ม.มหิดล เปิดหลักสูตร 2 ปริญญา ผลิตป.เอก “พยาบาลนวัตกร”
14/02/2023
ม.มหิดล เปิดอาณาจักรข้อมูลสุขภาพ สู่ความหวังใหม่เพื่อคนไทยใช้ชีวิตง่ายขึ้น
14/02/2023
ครั้งแรกในไทย ม.มหิดล เปิดหลักสูตร 2 ปริญญา ผลิตป.เอก “พยาบาลนวัตกร”
14/02/2023

ม.มหิดล สานต่อพลังหนุนส่งองค์ความรู้วิศวกรรมศาสตร์สู่ความยั่งยืน

จาก “มหาวิทยาลัยสีเขียว” (Green University) สู่ “มหาวิทยาลัยยั่งยืน” (Sustainable University) เป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ห่วงใยอนาคตของโลก และพร้อมร่วมขับเคลื่อนแนวคิดที่จะทำให้โลกให้อยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดลในการขับเคลื่อน มหาวิทยาลัยมหิดล สู่ “มหาวิทยาลัยสีเขียว” (Green University) สู่ “มหาวิทยาลัยยั่งยืน” (Sustainable University) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเป็นส่วนงานที่ริเริ่มนำพลังงานทดแทนจากธรรมชาติมาเป็นต้นแบบของแนวคิดเพื่อการประหยัดพลังงาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ก่อพร พันธุ์ยิ้ม รองคณบดีฝ่ายบริหารและการคลัง และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในคณะทำงานของคณะฯ ได้กล่าวถึงแนวคิดเพื่อการประหยัดพลังงานดังกล่าว ซึ่งได้มีการริเริ่มโครงการ “SMART GREEN ENERGY” เพื่อสนองยุทธศาสตร์ “มหาวิทยาลัยสีเขียว” (Green University) ของมหาวิทยาลัยมหิดลในยุคแรกเริ่ม

ด้วยแนวคิดการนำทรัพยากรที่มีอยู่แล้วไปทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากการนำจักรยานเก่าที่ไม่ใช้แล้วภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา มาดัดแปลงเป็น “จักรยานปั่นไฟ” ติดตั้ง ณ บริเวณหอพระพุทธมหิดลมงคลวรญาณ หน้าหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

โดยมีนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล แวะเวียนกันมาร่วมกันปั่นจักรยานเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าเก็บไว้ส่องสว่างในยามค่ำคืน สนับสนุนองค์ความรู้ในการสร้างระบบการติดตามสถานะการชาร์จและจ่ายไฟโดย ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ต่อมา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขยายผลสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยยั่งยืน” (Sustainable University) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ยังคงดำเนินการเพื่อร่วมสนองตอบยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างต่อเนื่อง โดยได้บรรจุไว้เป็น 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์การวิจัยของคณะฯ อันได้แก่ Healthcare Engineering, Logistic and Railway Engineering, Digital Engineering และ Sustainable and Environmental Engineering และขยายผลสู่ชุมชน ซึ่งตามมาด้วยโครงการย่อยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ภายใต้โครงการ “SMART GREEN ENERGY”

ตัวอย่างจากแนวคิดเรื่อง “จักรยานปั่นไฟ” ที่ได้ริเริ่มขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาสู่โครงการ “กังหันปันน้ำ” โดยการนำเอาจักรยานที่ไม่ใช้แล้วมาดัดแปลงให้สามารถปั่นไฟเพื่อเก็บไว้เป็นพลังงานหมุนกังหันบำบัดน้ำไม่ให้เน่าเสีย และการสร้าง Mobile Battery Charger เพื่อเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานสัญจรจากแสงอาทิตย์ ที่สามารถเคลื่อนย้ายเพื่อนำไปใช้เป็นสาธารณประโยชน์ต่างๆ ได้แก่ โรงพยาบาลในจังหวัดนครปฐม และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ทั้งหมดนี้เป็นภารกิจสำคัญภายใต้การขับเคลื่อนโดยหน่วย “Engineering for Social Responsibility” ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน ที่มุ่งมั่นนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ไปทำให้เกิดความยั่งยืน โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สู่ชุมชน โดยหวังเป็นพลังหนุนส่งสู่ความยั่งยืน เพื่อให้โลกและลูกหลานได้คงอยู่ต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โทร. 0-2849-6210