การปลูกฝังการอ่านเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กไทย
15/11/2022
การวางแผนระบบธุรกิจ Marketing Online ส่งสินค้าชุมชน
15/11/2022
การปลูกฝังการอ่านเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กไทย
15/11/2022
การวางแผนระบบธุรกิจ Marketing Online ส่งสินค้าชุมชน
15/11/2022

“การเรียน การสอน ในยุคดิจิทัลกับแนวโน้มการศึกษาในอนาคต”

เผยแพร่: 

ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์
คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล

ในยุค Digital Transformation การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง ทำให้รูปแบบการเรียนการสอนจากอดีตถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีนัยสำคัญ จากเมื่อก่อนที่นักศึกษาถือหนังสือ ถือกระเป๋าเข้าห้องเรียน ปัจจุบันมีเพียงแค่คอมพิวเตอร์ Notebook หรือ Tablet อันเดียวก็สามารถเรียนหรือค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ทั้งหมด ซึ่งข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ ถูกจัดเก็บในรูปแบบออนไลน์ แค่มี Internet ก็สามารถหาข้อมูลด้วยตนเองได้

สถานการณ์ Covid-19 พลิกโฉมการเรียน การสอน ในสมัยปัจจุบันเป็นอย่างมาก ช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม Zoom, Webex ฯลฯ กลายเป็นช่องทางให้นักศึกษาและอาจารย์สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ ทั้งการสร้างบทเรียน การทดสอบความรู้ รวมถึงการเรียนการสอน ก็สามารถบันทึกเก็บเอาไว้และอัปโหลดเพื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ทำให้นักศึกษาและผู้ที่สนใจสามารถเลือกเรียนกับอาจารย์ผู้สอนหรือหลักสูตรที่เราสนใจได้ตามใจชอบ เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้มากขึ้น ดังนั้น การศึกษาในอนาคตจะเปลี่ยนรูปแบบไป “ผู้เรียนจะเป็นผู้เลือก เมื่อไหร่ ที่ไหน ได้ตามอัธยาศัยของผู้เรียน” จึงทำให้มหาวิทยาลัยจะต้องพัฒนารูปแบบและจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์มากขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตรงนี้
การเรียนการสอนออนไลน์มีข้อดีหลายอย่าง แต่สิ่งที่นักศึกษาไทยควรจะพัฒนาควบคู่ไปด้วยคือ ความรับผิดชอบและความเอาใจใส่ในการบริหารจัดการเวลาของตนเอง ต้องจัดลำดับความสำคัญในชีวิตให้ได้ ในเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ เพราะเวลาเรียนนักศึกษาบางคนปิดกล้อง อาจารย์ก็ไม่สามารถสื่อสารกับเด็กได้ ซึ่งทางแก้ก็คือต้องมีการปรับกันทั้งในส่วนของผู้เรียนและผู้สอนควบคู่กันไป ผู้เรียนต้องตั้งใจมีแรงกระตุ้นที่อยากจะได้องค์ความรู้ ผู้สอนต้องหาเทคนิค วิธีการที่เหมาะสมมาปรับใช้ให้นักศึกษาเข้าใจ หรือมีกิจกรรม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ โดยจะต้องวิเคราะห์พฤติกรรมของนักศึกษาแต่ละคนให้ได้ อาจารย์อาจจะต้องใช้ Digital Technology เข้ามาช่วย โดยอาจจะใช้เทคโนโลยีด้าน AI เพื่อมาช่วยศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมของนักศึกษา เพื่อให้ทราบว่านักศึกษาแต่ละคนมีจุดแข็ง จุดอ่อนตรงไหน ควรส่งเสริมหรือผลักดันนักศึกษาเหล่านั้นอย่างไร เพื่อให้ได้รับความรู้ตามมาตรฐานที่เขาควรรู้ จะได้นำองค์ความรู้ไปใช้ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จในชีวิตได้

ปัจจุบันหลักสูตรด้าน IT มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าสู่ยุค Digital Transformation มีความต้องการบุคลากรที่มีองค์ความรู้ทางด้าน IT ไปพัฒนาวิธีการทำงานใหม่ๆ ที่ใช้ Digital Technology มาช่วยเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ดังนั้น นักศึกษาทางด้าน IT ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปรแกรม (Software Engineering) หรือ การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Science) มีความต้องการในตลาดสูงมาก เพราะต้องการบุคลากรที่จะชี้นำองค์กรในการดำเนินงานโดยใช้ IoT ในการเก็บข้อมูลจำนวนมากเพื่อมาวิเคราะห์ข้อมูล หรือแม้แต่ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ไปจนถึงการเก็บรักษาข้อมูล การบริหารจัดการข้อมูล (Management Information System) ในส่วนนี้ก็น่าสนใจสำหรับคนที่ไม่ถนัดเรื่องการเขียนโปรแกรม อาจบอกได้ว่า องค์ความรู้ทางด้าน Computer Science จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อน Digital Transformation ให้เกิดขึ้นได้

ซึ่งคณะเทคโนโลยีสารเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล มีทั้งหลักสูตรปริญญาตรี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (นานาชาติ) (ICT Program) หลักสูตรปริญญาโท สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) สาขาเทคโนโลยีเกมและเกมมิฟิเคชัน (Game Technology and Gamification) สาขาความมั่นคงไซเบอร์และการประกันสารสนเทศ (Cybersecurity and Information Assurance) ปริญญาเอก สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) และอีก 1 หลักสูตรใหม่ คือ หลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิทยาการและเทคโนโลยีดิจิทัล (หลักสูตรไทย) (DST Program) ซึ่งมีการปรับหลักสูตรเป็นรูปแบบ Flexible โดยนักศึกษาสามารถปรับการเรียนการสอนให้เหมาะกับตัวเองได้มากขึ้น เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการ จุดประสงค์การเรียนรู้ในแบบของตนเองได้ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับบริษัท ในการเปลี่ยนห้องเรียนเป็นห้องปฏิบัติงานร่วมกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง เชื่อมโยงองค์ความรู้ให้นักศึกษาเรียนรู้ตามความสนใจที่ตนเองต้องการได้ ทำให้นักศึกษาเข้าใจและรู้บริบทในการทำงานจริง มีการบูรณาการองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จได้
สุดท้ายนี้ อยากฝากถึงเด็กๆ ในยุคดิจิทัลว่า ต้องหาฮีโร่ของเราให้เจอ สิ่งที่เราใฝ่ฝันอยากจะเป็น เป้าหมายที่อยากไปให้ถึง จงสร้างแรงบันดาลใจ สร้างจุดหมายในชีวิตให้กับตนเอง ความชอบ และรักที่จะเรียนรู้จะเป็นตัวของตัวเอง และผลักดันให้ก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ไป จนทำให้ประสบความสำเร็จในอนาคตได้


เรียบเรียงบทความโดย ศรัณย์ จุลวงษ์