โรคสมาธิสั้น: เป็นได้ก็รักษาได้
01/07/2022เนื้อสัตว์จากพืช – เทรนด์อาหารโลกช่วยลดโลกร้อน
01/07/2022วันที่ 30 ม.ค. 2565 เวลา 16:20 น.
โดย…ผศ.นพ.นายแพทย์คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์
************************************
โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่งที่เป็นโรคทางจิตเวช เกิดจากหลายปัจจัย หลายสาเหตุร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทางพันธุกรรม ความเครียด ปัญหาการเลี้ยงดู เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดความผิดปกติของสารเคมีในสมองส่วนหนึ่ง ทำให้ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ามีอารมณ์ที่เศร้าหรือไม่ค่อยมีความสุขร่วมกับอาการอื่น ๆ หากมีอาการเหล่านี้ต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไป จะส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันหรือการทำงานต่าง ๆ ถือว่าไม่ใช่ภาวะเศร้าตามปกติทั่วไป
ความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคซึมเศร้า หรือบางครั้งเกิดจากภาวะปัญหาที่ต้องเผชิญ เช่น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา อาจมีการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือคนในครอบครัว การถูกให้ออกจากงาน ขาดรายได้ การปรับตัวจากสถานการณ์โรคระบาด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุความเครียดหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งอาจส่งผลให้สังคมปัจจุบันพบผู้มีภาวะซึมเศร้ามากขึ้น แต่ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการรับรู้ข่าวสารโรคซึมเศร้าในปัจจุบันค่อนข้างมากขึ้น และผู้คนมักเกิดการยอมรับปัญหาสุขภาพจิตของตนเองมากขึ้น หรือเกิดการตระหนักถึงปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้มากขึ้น ทำให้บุคคลต่าง ๆ เข้ามาปรึกษา หรือเข้ารับการประเมินเยอะขึ้น
อาการของโรคซึมเศร้า ประกอบด้วย 9 ข้อ ได้แก่ 1. การมีอารมณ์เศร้าที่มีทุกวันทั้งวันอย่างต่อเนื่อง บางครั้งในเด็กหรือวัยรุ่นไม่ได้มีอาการเศร้า แต่จะรู้สึกหงุดหงิดง่าย 2. หมดความสนใจจากกิจกรรมที่เคยชอบ เช่น เคยชอบวาดรูป เล่นดนตรี เล่นกีฬา อาจจะไม่สนใจสิ่งเหล่านี้เหมือนแต่ก่อน หรือไปทำแล้วรู้สึกว่าไม่ค่อยสนุก หรือบางคนเปลี่ยนจากความสนใจจากกิจกรรมที่เคยชอบไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น การใช้อินเตอร์เน็ต หรือเล่นเกมมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาต่าง ๆ ตามมา 3. การมีน้ำหนักตัวลดหรือเพิ่ม หรือการเบื่ออาหาร บางรายกินมากขึ้น 4. เรื่องปัญหาการนอน บางคนอาจจะนอนไม่หลับ หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ อยู่บ่อยๆ หรือบางคนอาจจะง่วง เพลีย อยากจะนอนแทบทั้งวัน และไม่อยากทำอะไรก็เป็นได้
5. เฉื่อยชาลง ทำอะไรช้าลง รู้สึกกระสับกระส่าย อยู่เฉยๆ ไม่ได้ ในผู้ใหญ่อาจจะเจอบางอาการ มากหรือน้อยต่างกัน ในเด็กอาจจะเล่าอธิบายให้ฟังไม่ค่อยได้ เพราะขาดทักษะการสื่อสาร 6. รู้สึกเหนื่อยอ่อนเพลีย ไม่มีแรงอยู่บ่อย ๆ 7. รู้สึกไร้ค่า ไม่มีคุณค่า บางรายคิดโทษตำหนิตัวเองบ่อยครั้ง 8. ความจำแย่ลง ขาดสมาธิ อาจจะเหม่อลอย ใจลอยบ่อย ๆ ลืมของบ่อย ๆ 9. มีความคิดเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเอง วางแผนทำร้ายตัวเอง
หากมีอาการเหล่านี้มีมากกว่า 5 ข้อขึ้นไป ต่อเนื่องตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป จนส่งผลกระทบในการทำงาน การเรียน ความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป อาจจะเข้าได้กับการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้าประกอบด้วยหลายปัจจัย การแก้ไขป้องกันปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ได้ ก็อาจมีส่วนป้องกันภาวะโรคซึมเศร้าได้ เช่น บางคนก็อาจจะขาดทักษะในการจัดการ-แก้ไขปัญหา การจัดการความเครียดของตนเอง การพัฒนาทักษะดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยได้ แต่ในบางคนก็มีข้อจำกัดในการพัฒนาทักษะ การมีบุคคลรอบข้างได้แก่ พ่อแม่ พี่น้อง คนรัก หรือเพื่อนร่วมงานที่เข้าใจและคอยช่วยเหลือแก้ไขปัญหา ก็เชื่อว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยป้องกันผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าได้
การมีกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ดี เป็นประโยชน์ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลาย ก็ช่วยได้มากกว่าคนที่ใช้วิธีการใด วิธีการหนึ่งในการจัดการความเครียด เช่น บางคนอาจจะเลือกที่จะใช้แค่การช้อปปิ้ง การเล่นโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต หรือเล่นเกมส์ หากใช้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มากเกินไป ก็มักจะส่งผลทางลบ อาจจะทำให้เกิดปัญหาซึมเศร้าตามมามากว่า
การจัดการความเครียดด้วยวิธีที่หลากหลายจึงมีความสำคัญเช่นกัน โรคซึมเศร้าสามารถรักษาหายได้ ถ้าจำเป็นต้องรับประทานยาร่วมด้วย อาจจะใช้ระยะเวลา 3-4 สัปดาห์ ในขนาดยาที่เต็มที่ ในบางคนที่รับประทานยาแล้วอาการดีขึ้นแล้ว จะอยู่ในการดูแลของแพทย์ต่อก่อน ไม่ควรหยุดยากระทันหัน เพราะจะทำให้กลับมามีอาการซึมเศร้าซ้ำอีก แพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าอาการซึมเศร้าดีขึ้นหรือไม่ เป็นปกติหรือยัง หากมีอาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 6-12 เดือน แพทย์จะค่อยๆ พิจารณาการลดยาลง นอกจากการใช้ยาแล้ว แพทย์จะทำการประเมินเรื่องของความเครียดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาการทำงาน มีส่วนไหนที่จำเป็นต้องช่วยเหลือหรือแก้ไข หรือเป็นการจัดการความคิดของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าให้มีความคิดทางที่บวกและเป็นจริงมากขึ้น จะช่วยป้องกันไม่ให้อาการของโรคซึมเศร้ามาเป็นซ้ำได้
สิ่งที่ควรปฏิบัติต่อผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า คือ ไม่ต่อว่าหรือตำหนิผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า เข้าใจว่าสิ่งที่เป็นไม่ใช่ความอ่อนแอหรือไม่สู้ พยายามที่จะช่วยเหลือ ประคับประคองให้เขาแก้ไขปัญหา หรือจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น สิ่งนี้จะลดเรี่องปัญหาโรคซึมเศร้าได้ และผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเองไม่ตำหนิหรือโทษตัวเองที่มีภาวะดังกล่าว อาการดังกล่าวจะดีขึ้นได้สามารถรักษาให้หายได้ พยายามลุกขึ้นทำงานอดิเรก มีการจัดการความเครียดที่ดีขึ้น พัฒนาทักษะต่าง ๆ เหล่านี้ น่าจะช่วยลดปัญหาในส่วนนี้ได้เช่นกัน
หากผู้ที่เป็นพยายามปรับตัวและคนรอบข้างที่อาจจะพยายามช่วยเหลือแล้ว แต่ยังไม่ดีขึ้น การมาประเมินและปรึกษาก็จะช่วยเหลือได้เช่นกัน เนื่องจากโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องของสารเคมีที่มีความผิดปกติในสมอง บางครั้งอาจคิดว่าคนเป็นโรคซึมเศร้าไม่สู้ คิดแต่ในทางลบ คิดในทางบวกไม่ได้ การที่เป็นแบบนั้นแท้จริงแล้วเป็นเพราะตัวโรคทำให้คิดในทางลบอยู่บ่อย ๆ ไม่สามารถที่จะลุกขึ้นมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ฉะนั้น การรักษาตัวโรคให้ดีขึ้น จะทำให้เขาคิดในทางที่เป็นจริงบวกได้ดีขึ้น มีแรงลุกขึ้นมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ดีขึ้นด้วยเรียบเรียงโดย : งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
คุณสาธิดา