เปิดงานวิจัย“ความทุกข์ทางสังคม:ประสบการณ์ชีวิต ของแรงงานที่กลายเป็นผู้พิการอย่างถาวร”
28/06/2022การศึกษาวิจัยระดับชาติเกี่ยวกับอุบัติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยา สู่การวางแผนนโยบายชาติ
28/06/2022วันที่ 25 ก.ค. 2564 เวลา 14:27 น.
โดย ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์
*****************************
“เราเตรียมพร้อมกันหรือยัง กับการดูแลผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพและครอบคลุม”
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย (Aged Society) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบันปี พ.ศ. 2564 ไทยมีสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 12 ล้านคน(1) หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 6ของประชากรไทย ถือเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ไทยก็ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) เนื่องจากอัตราการเกิดของคนไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องโดยมีจำนวนการเกิดเพียงประมาณ 6 แสนคนต่อปี ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปแล้วนอกจากจำนวนประชากรไทยโดยรวมจะเริ่มลดลงแล้วไทยจะขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper Aged Society) ซึ่งมีสัดส่วนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีถึงร้อยละ 20 หรือมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีกว่าร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2584 โดยคาดว่าการขยับนี้ใช้เวลาเร็วกว่าประเทศญี่ปุ่นเสียอีก(2)
การเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ มีผลกระทบกับจำนวนแรงงานในตลาดอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อวัยแรงงานลดลง เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการใช้แรงงานสูง ทำให้มีต้องพึ่งแรงงานข้ามชาติหลายล้านคน เพื่อพยุงประเทศไทยให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป(3) รัฐบาลไทยจึงควรส่งเสริมให้มีการเพิ่มผลิตภาพ หรือ Productivity ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัย โดยปรับโครงสร้างแรงงาน การศึกษา การพัฒนาสมรรถนะของผู้สูงวัย และต้องเพิ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่จะสามารถทำให้ผู้สูงวัยยังคงทำงานต่อไปได้อย่างสะดวก
นอกจากปัญหาทางเศรษฐกิจ การเตรียมการด้านสาธารณสุข และสังคมที่ต้องให้การดูแลผู้สูงวัยที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงจนติดบ้าน ติดเตียงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารประเทศจะต้องให้ความสำคัญและเตรียมความพร้อมให้เพียงพอ เมื่อประชาชนมีอายุที่ยืนยาวขึ้น นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย คาดการณ์ว่า มีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่ต้องการดูแล หรือต้องการนักบริบาล (caregivers) ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง หรืออาสาบริบาลท้องถิ่น จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี อยู่ที่หลักหลายแสนคนซึ่งถ้าจะต้องหาผู้บริบาลมาดูแลอย่างเต็มเวลาจะต้องใช้งบกว่าสี่หมื่นล้านบาทต่อปี(4)
จากการประมาณการดังกล่าวผู้กำหนดนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตระหนักถึงภาวะพึ่งพิงในอนาคต ได้เริ่มโครงการดูแลผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียงในชุมชนตั้งแต่ปี 2558 และ กระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบการจ่ายเงินอาสาบริบาลท้องถิ่นตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา โครงการสานพลังติดตามและสนับสนุนกระบวนการนโยบายสุขภาพเพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ติดตามและวิเคราะห์นโยบายการดูแลผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียงในท้องถิ่นต่าง ๆ พบว่านโยบายดังกล่าวสามารถเพิ่มให้มีผู้ดูแลผู้สูงอายุแบบบางเวลา (ประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน) ได้ประมาณตำบลละ 9 คนซึ่งคาดว่าเป็นการบรรเทาสถานการณ์การถูกทอดทิ้งของผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ดีพอสมควรด้วยงบประมาณปีละ 2 พันล้านบาท โดยประมาณ
แต่ถ้าต้องการพัฒนาให้การดูแลนี้มีคุณภาพและครอบคลุมสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นทุกคนในประเทศไทย คาดว่ารัฐบาลต้องลงทุนในการให้เกิดการดูแลนี้เพิ่มเติม ตัวเลขงบประมาณจะขยับไปจาก 2 พันล้าน เป็นหลายพันล้านหรือหมื่นล้าน ตามความต้องการพัฒนาคุณภาพและความทั่วถึงของบริการ โครงการสานพลังฯ จึงเสนอให้ผู้กำหนดนโยบาย หรือผู้ที่ต้องการเสนอตัวมากำหนดนโยบายได้มองเห็นช่องทางพัฒนางานเพื่อประชาชนว่า ยังมีช่องทางในการพัฒนางานดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง ที่ต้องการนโยบายที่ชัดเจน และต้องการงบประมาณเพิ่มเติมอีกในอนาคต
การดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียงนี้รวมเรียกกันว่า ระบบการดูแลระยะยาว (Long-term care) ซึ่งประเทศไทยใช้รูปแบบที่เรียกว่า Community Based long term care หรือการส่งนักบริบาลหรืออาสาบริบาลท้องถิ่นไปดูแลผู้สูงวัยที่ป่วยติดเตียงตามบ้านวันละ 1 – 2 ชั่วโมง เพื่อการดูแลขั้นพื้นฐาน ทำความสะอาดร่างกาย ป้อนอาหาร ป้อนยา ซักล้าง ซึ่งเป็นบริการทางสังคมที่มุ่งมั่นที่จะคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไม่ให้ถูกทอดทิ้ง เพราะบริบททางสังคมมีการเปลี่ยนแปลงขนาดของครอบครัวมีขนาดเล็กลง วัยทำงานยังคงต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพ ไม่สามารถดูแลผู้สูงวัยได้ เพราะหากต้องออกจากงานก็จะขาดรายได้ในระดับครัวเรือนซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ
สำหรับประเทศไทยพบว่าผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายเกินกว่าครึ่ง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยต้องกลายสภาพเป็นผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง การมีนักบริบาลลงไปดูแลกลับสร้างความแตกต่างให้ชีวิตผู้ป่วยจำนวนมากที่กลับมาเดินได้อีกครั้ง ซึ่งเป็นที่น่าประทับใจกับนักบริบาลเอง และบุคลากรทางการแพทย์ทั่วไป ที่คิดว่าเมื่อไม่ได้รับการฟื้นฟูในระยะต้น (6 เดือนแรก) โอกาสกลับมามีความสามารถทางกายอีกจะน้อยลงไป ระบบการดูแลระยะยาวของไทยจึงมีคุณูปการสูงกว่าในตำราต่างประเทศที่มุ่งให้บริการทางสังคมอย่างเดียว เพราะสามารถช่วยพื้นฟูให้ผู้ป่วยกลับมาพึ่งตนเองได้อีกครั้ง
ถ้าต้องการพัฒนางานดูแลระยะยาวให้มีคุณภาพและครอบคลุมเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย คาดว่าต้องใช้งบประมาณหลักหมื่นล้านบาท จึงต้องย้อนกลับมามองถึงแหล่งรายได้ของเงินงบประมาณเหล่านั้นว่าจะนำมาจากไหน อาทิ การให้ประชาชนจ่ายค่าบริการ ณ จุดบริการแบบรายวัน (Post-Paid) การเก็บภาษีเพิ่ม หรือการจ่ายรายเดือนล่วงหน้าคล้ายการจ่ายค่าประกันสังคม (Pre-Paid) เพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อเข้าสูงวัยสูงอายุ จะมีผู้ดูแลอย่างดี เป็นต้น
การเตรียมความพร้อมเรื่องงบประมาณด้านนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก หากต้องการการดูแลอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้ดูแลโครงการฯ จึงจัดเวทีระดมสมองเรื่อง การประกันการดูแลระยะยาว หรือ Long Term Care Insurance เครื่องมือสำคัญในสังคมสูงวัย โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่น Prof.Dr. Kenji Sekiguchi, Department of General Medicine, Shinshu University Hospital, Japan เป็นวิทยากร ทำให้เห็นบริการของประเทศญี่ปุ่นที่มีระบบประกันการดูแลระยะยาวที่มีคุณภาพและครอบคลุม แต่ได้พึ่งสถานดูแลผู้สูงอายุ (nursing home) เป็นหลักทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลระยะยาวแต่ละปีมากถึงกว่า 8 ล้านล้านเยนต่อปี (เกือบเท่างบประมาณประเทศไทยทั้งปี) ทำให้เห็นว่าประเทศไทยเราเดินทางถูกแล้วที่ใช้ชุมชนเป็นฐานในการให้บริการ และเริ่มจากบริการบางส่วนก่อนที่จะค่อย ๆ พัฒนาเพิ่มเติม แต่การรับฟังข้อมูลจากประเทศญี่ปุ่นก็ย้ำเตือนว่า การเตรียมการทางด้านงบประมาณโดยการจัดให้เกิดระบบการประกันการดูแลระยะยาวภาครัฐนั้นมีความจำเป็นต้องสร้างให้เกิดในสังคมที่ก้าวตามประเทศญี่ปุ่นไปสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ เช่นประเทศไทย
************************************
อ้างอิง
1.ปราโมทย์ ประสาทกุุล (บรรณาธิการ). รายงานสถานการณ์ผู้สููงอายุุไทย พ.ศ. ๒๕๖๐. กรุุงเทพ: มููลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สููงอายุุไทย
2.ทย ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ แต่ปัญหาใหญ่ รายได้น้อย เงินออมไม่พอ ยืดเวลาเกษียณ
3.เมื่อไทยจะกลายเป็นสังคมชราภาพ ควรต้องแก้สมการอย่างไรเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
4.วรวรรณ ชาญด้านวิทย์ และ ยศ วัชระคุปต์ ระบบประกันการดูแลระยะยาว: ระบบที่เหมาะสมกับประเทศไทย จัดทำโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2017/12/OldAge_Insure_system_optimise.pdf
เรียบเรียงโดย : งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล
คุณกณิศอันน์