สถานการณ์เด็กกับโรคขาดธรรมชาติ : เด็กกับสังคมสูงวัยในสภาวะเปลี่ยนแปลง
28/06/2022ถอดบทเรียนความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเหตุโรงงานผลิตเม็ดโฟมระเบิด
28/06/2022วันที่ 04 ก.ค. 2564 เวลา 11:45 น.
โดย ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม
****************************
นับตั้งแต่ทั่วโลกประสบปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เราจะได้อ่านข่าวจากต่างประเทศเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ในสวนสัตว์ที่มีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากมนุษย์อยู่บ้าง โดยจากรายงานการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า สัตว์เลี้ยงประจำบ้านอย่างสุนัข แมว หรือสัตว์ชนิดอื่น สามารถติดไวรัสโคโรนา 2019 ชนิดเดียวกับมนุษย์ได้ สันนิษฐานว่าเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อไวรัส แต่พบน้อยมาก เมื่อเทียบสัดส่วนประชากรสัตว์เลี้ยงทั้งหมด นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีการรายงานการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากสุนัข หรือแมวสู่คน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เห็นข่าวในต่างประเทศว่าเจ้าของบางคนนำสุนัขและแมวไปปล่อย เพราะกลัวว่าสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นจะเป็นพาหะของโรคมาสู่ตนเอง ทั้งนี้ จากรายงานพบว่าสุนัขและแมวที่ติดเชื้อจะแสดงอาการน้อยมากและไม่รุนแรงเท่ามนุษย์
โคโรนาไวรัสที่พบในสุนัขและแมว จะเป็นคนละสายพันธุ์กับมนุษย์ โดยโคโรนาไวรัสในสุนัขจะเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารเป็นหลัก สุนัขที่ติดเชื้ออาจมีการถ่ายเหลว ส่วนโคโรนาไวรัสที่พบในแมว ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรง ยกเว้นบางสายพันธุ์ที่สามารถทำให้เกิดโรคที่มีอาการรุนแรงได้ เช่น มีของเหลวคั่งในช่องท้อง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ท่านที่มีสัตว์เลี้ยงก็ควรดูแลและป้องกันตัวเองและสัตว์เลี้ยงด้วยการรักษาสุขลักษณะที่ดี เช่น ล้างมือทั้งก่อนและหลังการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง และหากเจ้าของมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคโควิด-19 และต้องกักตัว 14 วัน ในช่วงดังกล่าว เจ้าของยังสามารถให้อาหารสัตว์เลี้ยง และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้ตามปกติ แต่ควรเลี่ยงการสัมผัสที่ใกล้ชิด เช่น การกอด จูบ หอม หรือนอนด้วยกัน แต่หากเจ้าของติดเชื้อโรคโควิด-19 และต้องเข้ารับการรักษาตัว
การจัดการกับสัตว์เลี้ยง ควรเน้นการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมรอบตัวสัตว์ที่น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้สัตว์เกิดความเครียดมากจนเกินไป และอาจให้สมาชิกในบ้านคนอื่นๆ ที่คุ้นเคยเข้ามาดูแลแทน โดยผู้ดูแลก็ควรปฏิบัติตัวในการรักษาสุขลักษณะตามปกติ อย่างไรก็ตามหากจำเป็นที่สัตว์เลี้ยงจะต้องมีการย้ายที่อยู่ แนะนำให้พิจารณานำสัตว์เลี้ยงไปอยู่กับครอบครัวของญาติพี่น้องที่เขาพอจะรู้จักหรือคุ้นเคยบ้างก่อน แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฝากตามโรงพยาบาลสัตว์หรือโรงแรมที่รับเลี้ยงจริงๆ ก็อาจจะนำข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่สัตว์เลี้ยงคุ้นเคยติดไปด้วย เพื่อให้เขามีกลิ่นที่คุ้นชิน เป็นการช่วยลดความเครียดให้แก่สัตว์ ก่อนการขนย้ายสามารถอาบน้ำให้สัตว์ได้ตามปกติโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อพิเศษใดๆ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังของสัตว์ได้
การดำเนินชีวิตแบบ New Normal หรือ การทำงานแบบ Work From Home ก็สามารถส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของสัตว์เลี้ยงเช่นกัน เนื่องจากพฤติกรรมของเจ้าของมีการเปลี่ยนแปลง จากที่ไม่อยู่บ้านทั้งวัน กลายมาเป็นการอยู่แต่ในบ้าน และในอนาคตเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เจ้าของก็จะกลับไปทำงานหรือเรียนตามปกติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของสัตว์จนอาจทำให้เกิดความเครียดได้ สัตว์บางตัวสามารถรับมือกับความเครียดได้ดี บางตัวรับมือไม่ค่อยได้ ดังนั้น เจ้าของจึงควรมีการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดปัญหาทางจิตใจที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยควรรักษากิจวัตรประจำวันต่างๆ ของสัตว์เลี้ยงให้เหมือนเดิมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น พยายามให้อาหารเวลาเดิม พาไปเดินเล่นเวลาเดิม เล่นกับสุนัขในเวลาเดิม หรือหากในระหว่างวันสุนัขมักจะนอนพักผ่อน เราก็ควรจะมีช่วงเวลาที่ให้สุนัขได้อยู่เพียงลำพังเพื่อพักผ่อนเช่นกัน
เป็นช่วงเวลาที่เราไม่มีปฏิสัมพันธ์กับสุนัข เพื่อให้คล้ายกับในสถานการณ์ปกติมากที่สุด สำหรับแมว ในช่วงระหว่างวันที่เจ้าของเคยไม่อยู่บ้าน แมวอาจจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวในการพักผ่อน เมื่อเจ้าของเปลี่ยนมาอยู่บ้านทั้งวัน บางครั้งแมวก็อาจจะรู้สึกถูกรบกวน ซึ่งก็อาจทำให้เกิดความเครียดได้ เราสามารถสังเกตความเครียดของแมวได้จากพฤติกรรมหลายๆ อย่าง เช่น การเลียขนตัวเองมากขึ้นหรือลดลงกว่าปกติ การไปหลบซ่อนอยู่ในซอกหลืบต่างๆ ไม่ยอมออกมา หรือการขับถ่ายนอกกระบะทราย เป็นต้น ดังนั้น ในช่วง Work from Home ถึงแม้ว่าเราจะอยู่บ้านตลอดทั้งวัน แต่ก็มีช่วงเวลาที่เราต้องปฏิบัติงานเสมือนอยู่ออฟฟิศ เราจึงไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่กับสัตว์เลี้ยงของเราตลอดเวลา โดยอาจจะอยู่กันคนละห้อง หรือหากสัตว์เลี้ยงพยายามเข้าหาเราตลอดเวลา ก็ควรมีการฝึกสัตว์เลี้ยงให้เคยชินกับการแยกจากเจ้าของ ควรทำให้ช่วงเวลาที่แยกกันนั้นเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับสัตว์ ซึ่งสามารถทำได้โดยการให้ขนมหรือของเล่นแก่สัตว์เลี้ยงเมื่อแยกจากผู้เลี้ยง การปฏิบัติดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาทางจิตใจของสัตว์เมื่อทุกอย่างกลับเป็นปกติ และเจ้าของจะต้องกลับไปทำงานหรือเรียนในช่วงกลางวันตามเดิม
ในระหว่างการ WFH เจ้าของควรปรับรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ ตามสถานการณ์ของโรค เช่น หากปกติเรามักพาสุนัขไปเดินออกกำลังในสวนสาธารณะเป็นประจำในช่วงเย็น การพาสัตว์เลี้ยงจูงเดินในช่วงนี้ ก็ควรมีการรักษาระยะห่างทางสังคมจากผู้อื่นที่มาใช้สถานที่ในเวลาเดียวกัน แต่ถ้าเป็นช่วงที่ไม่สามารถพาสุนัขไปออกกำลังกายได้ เจ้าของอาจมีกิจกรรมอื่นเพื่อให้สุนัขได้ใช้พลังงานทดแทนการออกกำลังกาย เช่น การให้สุนัขออกกำลังสมอง โดยการดมกลิ่นต่างๆ ที่ไม่คุ้นเคย อาจจะซ่อนกลิ่นเหล่านั้นไว้ในบ้าน เป็นการส่งเสริมให้เขาได้ใช้พฤติกรรมตามธรรมชาติ เกิดการค้นหา ได้ใช้ความคิดและพลังงาน หรือใช้ของเล่นสำหรับสุนัขที่ใส่อาหารเข้าไปได้ (puzzle feeder) ก็ช่วยให้สุนัขได้ออกกำลังสมอง และยังใช้ในการฝึกให้สุนัขสามารถอยู่เพียงลำพังได้อีกด้วย นอกจากนี้ การฝึกเชื่อฟังคำสั่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง หมอบ คอย ขอมือ กลิ้ง ก็จะช่วยให้สุนัขใช้ความคิด และใช้พลังงานในร่างกายไปได้อย่างมากเช่นกัน
สำหรับแมวนั้น การเลี้ยงในปัจจุบันยังมีทั้งแบบระบบปิดและระบบเปิด ซึ่งถ้าดูในเชิงพฤติกรรมและสวัสดิภาพของแมว การเลี้ยงในระบบปิดแต่มีพื้นที่ภายนอกที่กั้นรั้วไว้อย่างมิดชิดรอบด้าน จะเป็นรูปแบบการเลี้ยงที่ส่งผลดีต่อสวัสดิภาพของแมวมากที่สุด เพราะแมวจะมีโอกาสได้เห็น ได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมนอกบ้าน ในขณะที่ก็ยังมีความปลอดภัยทางร่างกายอยู่ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ เจ้าของสามารถชดเชยพฤติกรรมตามธรรมชาติที่ขาดหายไปจากการเลี้ยงในระบบปิด เช่น พฤติกรรมการล่า ได้โดยการเล่นกับแมวโดยใช้ไม้ตกแมว ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ตอบสนองความต้องการทางธรรมชาติของแมวได้เป็นอย่างดี และถือว่าเป็นวิธีการเล่นที่เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากเป็นการเล่นที่มีระยะห่าง และไม่ต้องมีการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้การใช้ puzzle feeder ในการให้อาหารแมว ก็ถือเป็นการช่วยทดแทนพฤติกรรมการล่าที่ขาดหายไปจากการเลี้ยงแต่ในบ้านได้เป็นอย่างดี
ในการเลี้ยงสัตว์นั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดหรือไม่ก็ตาม สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการทำความเข้าใจกับพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์ในแต่ละช่วงวัยอย่างถูกต้อง การใช้เพียงประสบการณ์หรือคำบอกเล่าที่ทำตามกันมานั้น อาจจะไม่เพียงพอและไม่ถูกต้องทั้งหมด ผู้เลี้ยงควรใช้ความรู้ทางวิชาการที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ และเลือกใช้วิธีการเลี้ยงที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สัตว์เลี้ยง สร้างสวัสดิภาพที่เหมาะสมและทำให้สัตว์เลี้ยงมีความสุขในการมีชีวิตอยู่ร่วมกับเรามากที่สุด
เรียบเรียงโดย : งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล
คุณวราภรณ์