ม.มหิดล แนะกินผักปลอดภัย “เทศกาลกินผัก 7 อย่าง” เนื่องในวันตรุษจีน
17/05/2022
ม.มหิดล เบิกทางนักวิจัยพิชิตเป้าหมายสร้างนวัตกรรมแห่งอนาคต
17/05/2022
ม.มหิดล แนะกินผักปลอดภัย “เทศกาลกินผัก 7 อย่าง” เนื่องในวันตรุษจีน
17/05/2022
ม.มหิดล เบิกทางนักวิจัยพิชิตเป้าหมายสร้างนวัตกรรมแห่งอนาคต
17/05/2022

ม.มหิดลสืบสานโครงการเล่าขานตำนานศาลายา สู่รูปแบบออนไลน์

จากแผ่นดินอันเป็น “ที่นาพระราชมรดก” สู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งสร้างองค์ความรู้ซึ่งเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหิดล จะครบรอบ “53 ปีวันพระราชทานนามมหิดล 134 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล” ในวันที่ 2 มีนาคม 2565 ที่จะถึงนี้ ยังคงยืนยันเจตนารมณ์แห่งการเป็นที่พึ่งทางสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับปวงชนชาวไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา

จากคำบอกเล่าของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มโครงการ “เล่าขานตำนานศาลายา” นับตั้งแต่สมัยศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ได้ทราบว่า นับตั้งแต่สมัยที่มีการขุดคลองมหาสวัสดิ์ขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญของจังหวัดนครปฐม

ได้มีการสร้างศาลา 7 แห่งขึ้นระหว่างการขุดคลอง “ศาลายา” นับเป็นศาลาที่ 6 ที่สร้างขึ้นเพื่อการดูแลรักษาสุขภาวะของประชาชนในสมัยนั้น ซึ่งในปัจจุบันได้กลายเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดล และยังคงเจตนารมณ์ในการดูแลรักษาสุขภาวะของประชาชนสืบมา

เพื่อให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลได้รู้จักชุมชนศาลายา อันเป็นพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดล โครงการ “เล่าขานตำนานศาลายา” จึงได้ริเริ่มขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาวรรณคดีท้องถิ่น โดยในระยะแรกเป็นการจัดขึ้นภายในรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาได้จัดเพื่อให้เป็นกิจกรรมที่คอยเชื่อมโยงนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล เข้ากับชุมชนศาลายาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ยังได้ริเริ่มให้มีการจัดทำโครงการ “ร้อยคนร้อยเรื่องเล่าชาวศาลายา” โดยได้สัมภาษณ์เก็บข้อมูลเรื่องราวดีๆ ของพี่น้องชาวอำเภอพุทธมณฑล จำนวน 100 ราย ซึ่งต่อมาได้ขยายผลสู่การจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป “พุทธมณฑลศึกษา” เพื่อให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพื้นที่  ตลอดจนได้จัดให้มีเวิร์คช็อปเพื่อการระดมองค์ความรู้จัดทำโปรเจคร่วมสืบสานและสร้างสรรค์ชุมชน

ตัวอย่างโปรเจคของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อชุมชนศาลายาที่น่าสนใจ ได้แก่ การที่นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลสร้างสรรค์นวัตกรรมจากการได้ลงพื้นที่นาบัวร่วมกับชาวบ้าน แล้วพบว่าการที่ชาวบ้านต้องก้มเก็บบัวเป็นเวลาต่อเนื่องและยาวนาน ในทุกวัน ทำให้เกิดอาการปวดหลัง จึงได้ใช้วิชาความรู้ที่ได้รำ่เรียนมาทางการทำกายบำบัดสอนวิธีการยืดเหยียดให้กับชาวบ้าน พร้อมแนะให้ชาวบ้านใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ภายในชุมชนมาประยุกต์ดัดแปลงเพื่อใช้ช่วยลดอาการปวดหลัง เป็นต้น

ซึ่งรายวิชาศึกษาทั่วไป “พุทธมณฑลศึกษา” ดังกล่าว เตรียมจะขยายผลเปิดเป็นหลักสูตรออนไลน์ “MUx” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่ที่สนใจได้ร่วมสืบสานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการสร้างสรรค์ชุมชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายต่อไปอีกด้วย

แม้วิกฤติ COVID-19 จะทำให้โครงการ “เล่าขานตำนานศาลายา” ต้องหยุดพัก แต่ในปี 2565 นี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ตั้งใจจะต่อยอดโครงการ “เล่าขานตำนานศาลายา” สู่รูปแบบออนไลน์ ตลอดจนร่วมกับชุมชนจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อการสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ตลอดจนภูมิปัญญาของชุมชนให้คงอยู่คู่แผ่นดินสืบไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วรรณพร ยังศิริ นักวิชาการสารสนเทศ
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210