ม.มหิดลสืบสานโครงการเล่าขานตำนานศาลายา สู่รูปแบบออนไลน์
17/05/2022
ม.มหิดล หวั่นเมตาเวิร์ส เป็นดาบสองคม เตือนเฝ้าระวังผลกระทบต่อเด็กและกลุ่มเปราะบาง
17/05/2022

ม.มหิดล เบิกทางนักวิจัยพิชิตเป้าหมายสร้างนวัตกรรมแห่งอนาคต

การสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรม คือ การลงทุนเพื่อมุ่งสู่การค้นพบสิ่งใหม่ที่ดีกว่า แต่ผลการวิจัยจะไม่สามารถเกิดผลได้อย่างเต็มที่ หากไม่ได้นำไปสู่การใช้ประโยชน์จริง

ปัจจุบันประเทศไทยได้มี “พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.๒๕๖๔” ที่จะช่วยส่งเสริมให้นักวิจัยได้มีทิศทางการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรม ทำให้นักวิจัยได้รับแรงบันดาลใจและเกิดความเป็นธรรม อันจะนำไปสู่การก่อให้เกิดประโยชน์ของผลงานวิจัยได้อย่างแท้จริง

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย  มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ย้ำว่า ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญในการกำหนดทิศทางงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศไทย จากการจัดอันดับระดับนานาชาติหลายแห่ง โดยมุ่งเน้นให้งานวิจัยตอบโจทย์การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นักวิจัยก็ต้องเข้าใจ พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ถึงบทบาทหน้าที่ และสิทธิของผู้รับทุน ซึ่งมีขั้นตอนสำคัญในการต่อยอดองค์ความรู้ที่เกิดงานวิจัย คือ การเปิดเผย (Disclosure) เทคโนโลยีเพื่อวางแผนการดำเนินงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาร่วมด้วย

กว่าครึ่งทศวรรษที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้การช่วยเหลือดูแลนักวิจัยเพื่อให้สามารถทำงานวิจัยได้อย่างมีเป้าหมาย ได้ทั้งคุณค่า และมูลค่า โดยได้ผลักดันให้มีการสร้างนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง เพื่อประโยชน์แก่คนไทยได้อย่างเป็นธรรม

“หลักการของพ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้แก่นักวิจัย โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อจัดสรรประโยชน์และสิทธิพึงได้ให้กับนักวิจัยอย่างเต็มที่ ด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อให้นักวิจัยมีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ที่มีคุณค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกฎหมายลักษณะดังกล่าวได้มีการประกาศใช้ในสหรัฐอเมริกามาก่อน และส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าในการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมขึ้นอย่างมากในสหรัฐอเมริกา” ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน กล่าว

การประกาศใช้พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ถือเป็น “กฎหมาย” ฉบับแรกของประเทศไทยที่ส่งผลถึงสถาบันการศึกษาและนักวิจัยทุกคนที่จะต้องเรียนรู้และปฏิบัติตาม โดยถือเป็นโอกาสที่ดีและสำคัญในการเริ่มต้น มุ่งหน้าสู่เป้าหมายอย่างมีทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งประโยชน์ที่ได้ ไม่ใช่หยุดอยู่แค่นักวิจัย แต่คือประเทศชาติ ประชาชน และมวลมนุษยชาติ

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วิไล กสิโสภา นักวิชาการสารสนเทศ
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

2.5/5 - (2 votes)
PR
PR