โภชนาการกับโรคมะเร็ง
19/04/2024
มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมงานนิทรรศการแนะแนวหลักสูตรการศึกษาในงาน Dek-D’s TCAS Fair
27/04/2024
โภชนาการกับโรคมะเร็ง
19/04/2024
มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมงานนิทรรศการแนะแนวหลักสูตรการศึกษาในงาน Dek-D’s TCAS Fair
27/04/2024

สุขภาพดีด้วยอาหาร และสมุนไพรในหน้าร้อน

เผยแพร่: 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงนิศารัตน์ ศิริวัฒนเมธานนท์
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อกล่าวถึงฤดูร้อน เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัด ทำให้สภาวะร่างกายเกิดความร้อนและความเจ็บป่วยไม่สบายได้ง่าย การเลือกรับประทานอาหารจึงเป็นสิ่งที่พึงระวัง และการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับหน้าร้อน อาจจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยคลายร้อน ช่วยปรับสมดุลความร้อนความเย็น เพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย สิ่งที่จะช่วยในการปรับสมดุลของร่างกายที่ดีที่สุดและหาง่ายที่สุด คือ การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในทุกวัน หรือการรับประทานอาหารที่มีองค์ประกอบของน้ำในปริมาณมาก ก็จะช่วยรักษาอุณหภูมิ ป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ และแก้อาการอ่อนเพลียที่เกิดจากความร้อนได้

“สมุนไพร” เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยดับร้อน โดยเฉพาะสมุนไพรที่มีรสขมเย็น นอกจากจะมีสรรพคุณในการลดไข้ ลดอาการร้อนใน มีฤทธิ์ระบาย ช่วยต้านอนุมูลอิสระที่มากับแสงแดด ลดการอักเสบของผิวหนัง และป้องกันมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย ตัวอย่างอาหารที่มีรสขมเย็น ได้แก่ มะระ ฟักแม้ว ขี้เหล็ก หัวไชเท้า พืชตระกูลแตงและผลไม้ เช่น แตงโม ซึ่งจะมีฤทธิ์เย็น เหมาะกับการนำมารับประทาน หรือเป็นส่วนประกอบของอาหาร เพื่อลดความร้อนในร่างกาย

สำหรับเครื่องดื่มเพื่อคลายร้อน อาจจะแนะนำเป็นเครื่องดื่มที่ทำมาจากผลไม้ที่มีรสจืดเย็น หรือรสเปรี้ยวอ่อนๆ ที่ไม่แต่งรสให้หวานมากจนเกินไป ได้แก่ น้ำแตงโม น้ำเก๊กฮวย น้ำมะนาว น้ำมะขาม และน้ำจับเลี้ยง ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่มีสรรพคุณแก้ร้อนใน ช่วยทำให้ร่างกายของเราเย็นลงได้

ในช่วงฤดูร้อนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง คือ อาหารที่ปรุงไว้นานแล้ว หรืออาหารชนิดที่ปรุงด้วยมือแบบไม่ผ่านความร้อน เช่น อาหารจำพวก ยำ หรืออาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ ซึ่งพวกนี้เมื่อตั้งทิ้งไว้ในอากาศร้อน จะบูดหรือเสียได้ง่ายกว่าปกติ อาจทำให้ร่างกายได้รับเชื้อที่ทำให้ท้องเสียได้ ส่วนผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง ได้แก่ ทุเรียน ลำไย ขนุน มะม่วงสุกจัด ก็ควรจำกัดปริมาณการรับประทานเช่นกัน เนื่องจากผลไม้พวกนี้เมื่อรับประทานมาก ๆ ร่างกายจะเกิดความร้อน ทำให้เกิดอาการร้อนในได้ง่าย
อาหารหวานและเย็นเป็นของคู่กันกับฤดูร้อน หากต้องการรับประทานและไม่ให้เสียสุขภาพ ควรเลือกอาหารที่มีรสจืด ๆ เย็น ๆ จำพวก ข้าวแช่ หรือผักผลไม้ที่ไม่หวานมากเกินไป เช่น น้ำผลไม้ปั่น เยลลี่ หรือวุ้นที่มีรสหวานน้อย น้ำแข็งใสที่ไม่ใส่เครื่องหวานจัดจนเกินไป เป็นต้น

เมื่ออุณหภูมิอากาศสูงมากขึ้น การใส่ดูแลสุขภาพจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ควรระวังการออกไปเจอแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ เพราะอาจจะทำให้เกิดฮีทสโตรกได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง

ไมเกรน ควรหมั่นสังเกตร่างกายของตนเองเสมอตามหลักธาตุเจ้าเรือนว่าเป็นคนธาตุใด เช่น ธาตุร้อน หรือธาตุเย็น หรือเสียสมดุลในส่วนไหน เช่น หากร่างกายเราร้อนก็จะมีอาการร้อนใน ผิวหนังแดง ลมหายใจร้อน ปัสสาวะร้อน ควรจะเลือกรับประทานอาหารที่มีรสขมเย็นหรือรสเปรี้ยว เพื่อปรับสมดุลในร่างกาย ควรดื่มน้ำให้เยอะๆ เพื่อระบายความร้อนออก ใส่เสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วรู้สึกเย็นสบาย และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ในผู้สูงอายุที่มีธาตุเย็นเด่น มักมีอาการท้องอืด อาหารไม่ค่อยย่อย อาจจะแนะนำให้ลดอาหารที่มีรสขมเย็นลง แล้วเพิ่มอาหารซึ่งให้พลังงาน จะช่วยให้ไม่อ่อนเพลีย ไม่วิงเวียนง่าย อาจเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นพวกเครื่องเทศ หรือพวกพืชที่มีหัวใต้ดิน เป็นต้น

การรับประทานสมุนไพรเพื่อปรับสมดุลของร่างกาย ไม่ควรรับประทานในรูปแบบที่เป็นยา หรือเป็นสารสกัด เนื่องจากจะมีความเข้มข้นของสารสกัดที่มาก และหากรับประทานเป็นประจำ จะทำให้ตับไตทำงานหนักจนเกินไป จนทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้ การรับประทานสมุนไพรในรูปแบบอาหารมีข้อดีคือ ปริมาณที่รับประทานจะถูกจำกัดด้วยขนาดของกระเพาะ เมื่อกินอิ่มแต่พอดี ไม่มากจนเกินไป ส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย

การบริโภคอาหารอย่างระมัดระวังในหน้าร้อนจะช่วยให้ไม่เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งการเลือกอาหารให้เหมาะสมกับฤดูกาลเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม และทุกคนสามารถบริโภคอาหารอย่างถูกวิธีได้ด้วยตนเอง


เรียบเรียงบทความ โดย คุณสาธิดา ศรีชาติ
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป