“การทุจริต” เป็นภัยร้ายแรงสำคัญที่ทำลายความมั่นคงของชาติ รัฐบาลจึงมีนโยบายว่าจะสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมทั้งพัฒนาความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตลอดจนสนับสนุนการสร้างค่านิยมของสังคมให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและถูกต้องชอบธรรม
ความหมายเกี่ยวกับการทุจริต
คำว่า “ทุจริต” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(1) หมายถึง “เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น”
คำว่า “ทุจริตต่อหน้าที่” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 หมายถึง “การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่ง หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น”
รูปแบบการทุจริต
การทุจริตในวงราชการมีหลายรูปแบบ เช่น
1. ฝ่าฝืน หลีกเลี่ยง หรือบิดเบือนระเบียบแบบแผน หรือกฎข้อบังคับ
2. จูงใจ เรียกร้อง บังคับ ข่มขู่ หน่วงเหนี่ยว กลั่นแกล้ง หรือหาประโยชน์ใส่ตน/พวก
3. การสมยอม รู้เห็นเป็นใจ เพิกเฉย ละเว้นการกระทำในการที่ต้องปฏิบัติ หรือรับผิดชอบ ตามหน้าที่
4. ยักยอก เบียดบังซึ่งทรัพย์สินของราชการ
5. ปลอมแปลง/กระทำใด ๆ อันเป็นเท็จ
6. มีผลประโยชน์ร่วมในกิจการบางประเภทที่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ของตนบันดาลประโยชน์ได้
มูลเหตุการทุจริต
การทุจริตในวงราชการมีมูลเหตุหลายประการ เช่น
1. เจ้าหน้าที่ขาดคุณธรรมและจริยธรรม
2. ขาดกลไกในการลงโทษและการบังคับใช้กฎหมาย
3. ขาดการตรวจสอบ และการควบคุม กำกับ ดูแล
4. เจ้าหน้าที่ได้รับค่าตอบแทน/เงินเดือน ไม่พอกับการครองชีพ และมีปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ
อบายมุข
5. สภาพการทำงานเปิดโอกาส เอื้ออำนวยต่อการกระทำทุจริต กระบวนการปฏิบัติงานมีช่องโหว่
สถานการณ์การทุจริต
จากการเปิดเผยขององค์กรสากลอิสระต่อต้านการคอรัปชั่นทั่วโลก (Transparency International
หรือ TI) ซึ่งเป็นองค์กรที่ต่อสู้กับการคอรัปชั่นเพื่อให้สังคมโลกปราศจากการคอรัปชั่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1993 มีบทบาทในการพัฒนาและเคลื่อนไหวในการต่อต้านการคอรัปชั่นทั่วโลกโดยมีสมาชิกประเทศที่เข้าร่วมกว่า 180 ประเทศทั่วโลก มีสมาชิกจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน ธุรกิจ และสื่อมวลชน ที่ประสานงานกันในการเก็บข้อมูลและจัดอันดับการคอรัปชั่น
พบว่าในปี 2552 ประเทศที่มีการคอรัปชั่น หรือใช้อำนาจในทางที่ผิดน้อยที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.นิวซีแลนด์ 2.เดนมาร์ค 3.สิงคโปร์ 4.สวีเดน 5 สวิสเซอร์แลนด์ สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 84 จาก 180 ประเทศทั่วโลก มีคะแนน 3.4 จากคะแนนเต็ม 10 รายงานพบว่าประเทศไทยมีการคอรัปชั่นในด้านการเมืองเป็นส่วนใหญ่ สำหรับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่มีคะแนนต่ำที่สุดคือ พม่า 1.4 คะแนน จากผลการจัดอันดับโดยทั่วไปแสดงให้เห็นว่าประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับสูงมักจะอยู่ในอันดับที่ดีกว่าประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่น้อยกว่า
ผลการจัดอันดับดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี พ.ศ. 2553 โดยจัดอันดับจากผลสำรวจของสำนักโพลล์ต่างๆ จำนวน 13 แห่ง ในช่วงปี พ.ศ 2552 ถึง 2553 พบว่า ประเทศไทยได้ 3.5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อยู่อันดับที่ 78 จากการจัดอันดับทั้งหมด 178 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 9 จาก 23 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ประเทศที่มีการคอรัปชั่น หรือใช้อำนาจในทางที่ผิดน้อยที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.นิวซีแลนด์ 2.เดนมาร์ค 3.สิงคโปร์ 4.สวีเดน 5.สวิสเซอร์แลนด์ 6.ฟินแลนด์ 7.เนเธอร์แลนด์ 8.ออสเตเรีย 9.แคนาดา 10.ไอซ์แลนด์ จากผลการค้นคว้ารายงานว่าประเทศไทยมีการคอรัปชั่นในด้านการเมืองเป็นส่วนใหญ่ของการคอรัปชั่น ซึ่งส่งผลมวลรวมถึงด้านอื่นๆ ไปด้วย
Tl ชี้ว่าประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกคือกลุ่มที่มีการทุจริตมากที่สุด ในขณะเดียวกันประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาการคอรัปชั่นมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งรวมถึงกรีซ อิตาลีและสหรัฐอเมริกา
ผลกระทบของปัญหาการคอรัปชั่นกระจายไปทุกส่วนของสังคมและบั่นทอนการทางานเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญอื่นๆของโลกทั้งการรับมือกับภาวะโลกร้อนและการลดปัญหาความยากจนซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ