ความรู้เกี่ยวกับการทุจริต ตอนที่ 1

ความรู้เกี่ยวกับการทุจริต ตอนที่ 2
18/07/2017
แนวทางการจัดการลดผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม
18/07/2017

ความรู้เกี่ยวกับการทุจริต ตอนที่ 1

“การทุจริต” เป็นภัยร้ายแรงสำคัญที่ทำลายความมั่นคงของชาติ รัฐบาลจึงมีนโยบายว่าจะสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมทั้งพัฒนาความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตลอดจนสนับสนุนการสร้างค่านิยมของสังคมให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและถูกต้องชอบธรรม

ความหมายเกี่ยวกับการทุจริต

คำว่า “ทุจริต” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(1) หมายถึง “เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น”

คำว่า “ทุจริตต่อหน้าที่” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 หมายถึง “การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่ง หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น”

รูปแบบการทุจริต

การทุจริตในวงราชการมีหลายรูปแบบ เช่น
1. ฝ่าฝืน หลีกเลี่ยง หรือบิดเบือนระเบียบแบบแผน หรือกฎข้อบังคับ
2. จูงใจ เรียกร้อง บังคับ ข่มขู่ หน่วงเหนี่ยว กลั่นแกล้ง หรือหาประโยชน์ใส่ตน/พวก
3. การสมยอม รู้เห็นเป็นใจ เพิกเฉย ละเว้นการกระทำในการที่ต้องปฏิบัติ หรือรับผิดชอบ ตามหน้าที่
4. ยักยอก เบียดบังซึ่งทรัพย์สินของราชการ
5. ปลอมแปลง/กระทำใด ๆ อันเป็นเท็จ
6. มีผลประโยชน์ร่วมในกิจการบางประเภทที่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ของตนบันดาลประโยชน์ได้

มูลเหตุการทุจริต

การทุจริตในวงราชการมีมูลเหตุหลายประการ เช่น
1. เจ้าหน้าที่ขาดคุณธรรมและจริยธรรม
2. ขาดกลไกในการลงโทษและการบังคับใช้กฎหมาย
3. ขาดการตรวจสอบ และการควบคุม กำกับ ดูแล
4. เจ้าหน้าที่ได้รับค่าตอบแทน/เงินเดือน ไม่พอกับการครองชีพ และมีปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ
อบายมุข
5. สภาพการทำงานเปิดโอกาส เอื้ออำนวยต่อการกระทำทุจริต กระบวนการปฏิบัติงานมีช่องโหว่

สถานการณ์การทุจริต

จากการเปิดเผยขององค์กรสากลอิสระต่อต้านการคอรัปชั่นทั่วโลก (Transparency International
หรือ TI) ซึ่งเป็นองค์กรที่ต่อสู้กับการคอรัปชั่นเพื่อให้สังคมโลกปราศจากการคอรัปชั่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1993 มีบทบาทในการพัฒนาและเคลื่อนไหวในการต่อต้านการคอรัปชั่นทั่วโลกโดยมีสมาชิกประเทศที่เข้าร่วมกว่า 180 ประเทศทั่วโลก มีสมาชิกจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน ธุรกิจ และสื่อมวลชน ที่ประสานงานกันในการเก็บข้อมูลและจัดอันดับการคอรัปชั่น

พบว่าในปี 2552 ประเทศที่มีการคอรัปชั่น หรือใช้อำนาจในทางที่ผิดน้อยที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.นิวซีแลนด์ 2.เดนมาร์ค 3.สิงคโปร์ 4.สวีเดน 5 สวิสเซอร์แลนด์ สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 84 จาก 180 ประเทศทั่วโลก มีคะแนน 3.4 จากคะแนนเต็ม 10 รายงานพบว่าประเทศไทยมีการคอรัปชั่นในด้านการเมืองเป็นส่วนใหญ่ สำหรับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่มีคะแนนต่ำที่สุดคือ พม่า 1.4 คะแนน จากผลการจัดอันดับโดยทั่วไปแสดงให้เห็นว่าประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับสูงมักจะอยู่ในอันดับที่ดีกว่าประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่น้อยกว่า

ผลการจัดอันดับดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี พ.ศ. 2553 โดยจัดอันดับจากผลสำรวจของสำนักโพลล์ต่างๆ จำนวน 13 แห่ง ในช่วงปี พ.ศ 2552 ถึง 2553 พบว่า ประเทศไทยได้ 3.5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อยู่อันดับที่ 78 จากการจัดอันดับทั้งหมด 178 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 9 จาก 23 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ประเทศที่มีการคอรัปชั่น หรือใช้อำนาจในทางที่ผิดน้อยที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.นิวซีแลนด์ 2.เดนมาร์ค 3.สิงคโปร์ 4.สวีเดน 5.สวิสเซอร์แลนด์ 6.ฟินแลนด์ 7.เนเธอร์แลนด์ 8.ออสเตเรีย 9.แคนาดา 10.ไอซ์แลนด์ จากผลการค้นคว้ารายงานว่าประเทศไทยมีการคอรัปชั่นในด้านการเมืองเป็นส่วนใหญ่ของการคอรัปชั่น ซึ่งส่งผลมวลรวมถึงด้านอื่นๆ ไปด้วย

Tl ชี้ว่าประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกคือกลุ่มที่มีการทุจริตมากที่สุด ในขณะเดียวกันประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาการคอรัปชั่นมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งรวมถึงกรีซ อิตาลีและสหรัฐอเมริกา
ผลกระทบของปัญหาการคอรัปชั่นกระจายไปทุกส่วนของสังคมและบั่นทอนการทางานเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญอื่นๆของโลกทั้งการรับมือกับภาวะโลกร้อนและการลดปัญหาความยากจนซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ

แนวโน้มการทุจริตของประเทศไทย

คดีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต-แห่งชาติ เช่น ทุจริตทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทุจริตการจัดทำบริการสาธารณะ ทุจริตการก่อสร้างสถานที่ราชการ ทุจริตการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ โดยมีผู้กระทำผิด คือ ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน รวมทั้งผู้ดำรงตาแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นซึ่งมีปริมาณเพิ่ม

มากขึ้น สำหรับปัญหาการทุจริตที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบพบมากที่สุดขณะนี้ คือ การคอรัปชั่นเชิงนโยบายและผลประโยชน์ทับซ้อน โดยออกกฎหมายมารองรับในลักษณะถูกกฎหมายแต่ขัดกับผลประโยชน์สาธารณะ เช่น มีการตั้งบริษัทและเสนอโครงการเพื่อทำสัญญากับตนเองซึ่งเป็นนักการเมือง และจากการทำวิจัยเรื่องสถานการณ์การทุจริตในประเทศไทยของ ป.ป.ช. พบว่านักธุรกิจมีการจ่ายเงิน 1-2 % ของรายรับจากธุรกิจ เพื่อต้องการได้รับใบอนุญาต การติดต่อเสียภาษี ความสะดวกสบายในการอนุมัติโครงการ การทุจริตที่สังคมไทยเผชิญอยู่ในขณะนี้คือการทุจริตเชิงนโยบายหรือผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นการคอรัปชั่น ที่บางครั้งถูกกฎหมายแต่ผิดหลักประโยชน์ของสาธารณะและหลักจริยธรรม

แนวโน้มการทุจริตของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

จากข้อมูลการลงโทษข้าราชการของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรณีทุจริตต่อหน้าที่ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2550-2552 พบว่ามีจำนวนผู้ถูกลงโทษไล่ออกและปลดออกจากราชการ จำนวน 37 คน (ปี 2550 =14 คน ปี 2551= 16 คน ปี 2552= 7 คน) โดยส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของสถานีอนามัยและโรงพยาบาลชุมชนที่ปฏิบัติงานด้านการเงิน สาหรับความเสียหายจากการทุจริตระหว่างปี 2549-2552 เป็นเงินจำนวน 62,983,278.81 บาท และในปี 2552 จำนวน 6,643,628.07 บาท สำหรับการลงโทษในปี 2553 ขณะนี้มีจำนวน 7 คน ซึ่งยังมีจำนวนเท่ากับปีที่ผ่านมา สำหรับหน่วยงานที่มีการทุจริตมาก คือ สถานีอนามัย และโรงพยาบาลชุมชน และส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่ในระดับ 4-6 โดยมีพฤติกรรม เช่น

1. เช็ค/ใบถอนเงิน มีการลงนามโดยผู้มีสิทธิเบิกถอนหรือลงนามในเช็คแต่ไม่ได้กรอกชื่อและจำนวนเงินจากนั้นก็มีการเติมจำนวนเงินยักยอกเงินไป หรือมีการเขียนเช็คผิดระเบียบแล้วเติมจำนวนเงินเพิ่มในภายหลังแล้วยักยอกเงินไป มีการแก้ไขจำนวนเงินหรือชื่อผู้รับเงินมีการปลอมมือผู้มีอำนาจลงนามเบิกถอนหรือลงนามในเช็คแล้วเบิกเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว

2. มีการออกเช็คโดยไม่ได้ตกลงกับธนาคารให้โอนเงินระหว่างบัญชี

3. ถอนเงินราชการนำไปใช้ในเรื่องส่วนตัวโดยไม่มีหลักฐานการใช้จ่ายในราชการ

4. รับเงินแล้วเขียนใบเสร็จรับเงินต้นฉบับและสำเนาไม่ตรงกัน แล้วยักยอกเงินส่วนต่าง

5. ทำหลักฐานซื้อ/จ้าง หรือการอบรม ประชุม สัมมนา หรือการเดินทางไปราชการ เป็นเท็จแล้วเบิกเงินนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว

6. เขียนใบเสร็จรับเงินเท็จหรือปลอมใบตรวจรับพัสดุและการจ้างแล้วดำเนินการเบิกจ่ายเงิน

7. รับเงินแล้วไม่นำเข้าบัญชีของทางราชการ

8. นำเอกสารเกี่ยวกับการเงินที่เบิกจ่ายเงินไปแล้ว นำมาหมุนเวียนเบิกจ่ายซ้าอีกครั้ง

การตรวจสอบและป้องกันการทุจริต

1. มีการส่งเสริม ปลูกฝังและสร้างจิตสำนึก จริยธรรมคุณธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต

2. มีการป้องกันและเฝ้าระวังเหตุการณ์และพฤติกรรมที่อาจเป็นภัยต่อการทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น มีการตรวจสอบภายใน หรือควบคุมภายใน อย่างเข้มงวดและจริงจัง

3. มีการจัดการกรณีมีการทุจริตที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น มีการสอบสวนลงโทษทั้งทางอาญาและทางวินัยอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม

4. มีการประชาสัมพันธ์ราชการใสสะอาด เผยแพร่ให้ความรู้เรื่องการทุจริตและโทษที่จะได้รับ

5. มีการสร้างเครือข่ายราชการใสสะอาด เฝ้าระวังการทุจริตโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและภาคประชาชนร่วมมือกัน เช่น แจ้งเบาะแสการทุจริตของเจ้าหน้าที่ให้ทาการตรวจสอบ

ความผิดของผู้ที่กระทำการทุจริต

การทุจริต นั้น อาจทุจริตเป็นตัวเงินหรือเป็นประโยชน์อย่างอื่นก็ได้ ผู้ที่ทำความผิดจะต้องได้รับโทษทางอาญา เช่น มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 157 ดังนี้

มาตรา 147 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท”

มาตรา 157 บัญญัติว่า ” ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจาคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

สาหรับความผิดทางวินัยของผู้ทุจริต พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 85(1) บัญญัติไว้ว่า “การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต” เป็น ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง” ความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ คณะรัฐมนตรีได้มีมติควรให้ลงโทษไล่ออกจากราชการ ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ถูกลงโทษไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ

สำหรับความผิดวินัยอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการทุจริตดังกล่าว มีองค์ประกอบ 2 ประการ คือ

1. มีหน้าที่ราชการที่จะต้องปฏิบัติ หน้าที่ราชการ นั้น อาจเกิดจากกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือตามที่ได้รับมอบหมายก็ได้

2. ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต
การปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการจะต้องเป็นกรณีที่จงใจหรือเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตน ไม่ใช่เป็นเรื่องพลั้งเผลอ หลงลืม หรือเข้าใจผิด คำว่า “ โดยทุจริต” หมายถึง เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งการแสวงหาประโยชน์ดังกล่าวนั้น อาจเป็นเงินทอง สิ่งของ หรือจะเป็นการได้รับบริการ ก็ได้ ทั้งนี้ โดยจะต้องเป็นประโยชน์ที่ไม่ควรได้หรือไม่มีสิทธิที่จะได้รับโดยชอบธรรมหรือชอบด้วยระเบียบหรือกฎหมาย ไม่ว่าตนเองหรือผู้อื่นจะได้ประโยชน์ดังกล่าวก็ตาม

ขออัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ดังนี้
“..ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียว ก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ว่าขอให้มีอันเป็นไป แต่ถ้าไม่ทุจริต สุจริต และมีความตั้งใจ มุ่งมั่นสร้างความเจริญก็ขอให้ต่ออายุได้ถึง 100 ปี ส่วนคนไหนที่มีอายุมากแล้ว ขอให้แข็งแรง ความสุจริตจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นอันตราย… ” “…ภายใน 10 ปี เมืองไทยน่าจะเจริญ ข้อสำคัญ คือ ต้องหยุดการทุจริตให้สำเร็จ และไม่ทุจริตเสียเอง…”

การทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นมะเร็งร้ายของระบบราชการไทยและเป็นภัยต่อประเทศชาติ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ประชาชนหรือภาคเอกชน จะต้องร่วมมือกันในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต การกำหนดช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ของเจ้าหน้าที่ในสังกัด เพื่อให้ทุกฝ่ายได้แจ้งเบาะแสและร่วมมือกันในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เมื่อได้รับแจ้งแล้ว จะดำเนินการตรวจสอบ สืบสวนสอบสวน และลงโทษ ผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป

บทความในตอนต่อไป จะนำเสนอวิธีการป้องกันการทุจริตที่สามารถนำไปใช้ได้กับการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะด้านการเงินและบัญชี ซึ่งเป็นงานที่มีโอกาสเกิดการทุจริตได้สูง หากมีการควบคุมการปฏิบัติงานที่เหมาะสมเพียงพอแล้ว ก็ย่อมจะทำให้โอกาสเกิดการทุจริตคอรัปชั่นลดลงได้

…โปรดติดตามตอนต่อไปเร็วๆ นี้…

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
– กลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม สำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
– องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย
http://www.transparency-thailand.org