องค์ประกอบของ CoPs : ชุมชนแนวปฏิบัติ

โดเมน (Domain) หรือหัวข้อความรู้

เป็นหัวข้อที่กลุ่มหรือชุมชนจะมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หัวข้อที่ดีจะต้องมีลักษณะดังนี้

    • เป็นหัวข้อที่เกิดจากความต้องการ หรือ แรงปรารถนาจริง (Real Passion) ของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งส่วนใหญ่หัวข้อจะมาจากงานในหน้าที่รับผิดชอบที่ตนเองปฏิบัติอยู่แล้ว เช่นสอนหนังสือให้บริการแก่ผู้ป่วย ปฏิบัติงานด้านพัสดุของหน่วยงานหรือด้านวิเทศสัมพันธ์ เป็นต้น
    • เป็นหัวข้อความรู้ที่ตอบสนองต่อ Core Business/Core Value ขององค์กร ความเข้มแข็งของชุมชนแนวปฏิบัติ ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนขององค์กร ดังนั้น หัวข้อความรู้ของชุมชนจะต้องตอบสนองต่อ Core Business/Core Value ขององค์กรและสมาชิกสามารถใช้ความรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนมาพัฒนาองค์กรได้ Core Business/ Core Value ของ มหาวิทยาลัยมหิดลอาจดูได้จากพันธกิจทั้ง 5 ด้านได้แก่ การเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและการบริหารจัดการที่ดี หรือการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิจัย การเป็นองค์กรที่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว เป็นต้น

ชุมชน (Community)

ในที่นี้ชุมชนได้แก่พันธะทางสังคมที่จะรวบรวมและยึดเหนี่ยวสมาชิกผู้ปฏิบัติงานเข้าไว้ด้วยกันภายใต้โดเมนและแรงปรารถนาเดียวกันในการรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนแนวปฏิบัติไม่ได้มีกฎตายตัวว่าสมาชิกในชุมชนจะต้องมีจำนวนเท่าใดมีตำแหน่งใดบ้าง แต่เพื่อความสะดวกในการก่อตั้งชุมชนแนวปฏิบัติ สมาชิกในชุมชนควรประกอบด้วย

    • คุณอำนวย หรือ Facilitator เป็นผู้ดำเนินการหลัก ทำหน้าที่
      จัดระบบและบริหารทรัพยากรของชุมชน เป็นผู้นำการสนทนาและการสื่อสารระหว่างสมาชิกตามช่องทางต่างๆ ใช้และกระตุ้นให้สมาชิกได้ใช้เครื่องมือเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งทำหน้าที่เสริมแรงให้กับชุมชนในโอกาสต่างๆ
    • คุณ ลิขิต หรือ Community Historian เป็นผู้ที่บันทึก ทำหน้าที่
      เป็นผู้บันทึกสิ่งสำ คัญที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนจับประเด็นและสรุปประเด็นต่างๆ เพื่อรวบรวมไว้เป็น คลังความรู้ (Knowledge Assets) ของชุมชน คุณลิขิตนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นผู้เปลี่ยนความรู้ที่ฝังลึก(Tacit Knowledge) จากการแลกเปลี่ยน ให้เป็นความรู้เชิงประจักษ์ (Explicit Knowledge) ที่สมาชิกสามารถนำไปอ้างอิงและใช้ประโยชน์ในการทำงานได้
    • คุณกิจ หรือ Member เป็นสมาชิกของชุมชน ทำหน้าที่
      แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการทำงานตามหัวข้อความรู้ คุณกิจจะต้องมีส่วนร่วมในการอภิปราย นำเสนอประเด็น วิธีแก้ปัญหา รวมทั้งวิธีการที่ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น คุณกิจในชุมชนควรมีจำนวนที่พอดีไม่มากหรือน้อยเกินไป เพราะหากมีจำนวนน้อยเกินไป ความรู้ที่นำมาแลกเปลี่ยนอาจอยู่ในวงจำกัด แต่ถ้าสมาชิกมีมากเกินไป ความสนิทสนมหรือพันธะระหว่างสมาชิก อาจไม่แข็งแรงพอและเป็นอุปสรรคต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้
    • นอกจากนั้น บางชุมชนอาจมีผู้สนับสนุน (Sponsor) ที่เป็นผู้บริหารขององค์กร หรือมีผู้เชี่ยวชาญ (Expert) ในหัวข้อความรู้นั้นๆเข้ามามีส่วนร่วมเป็นครั้งคราวก็ได้

แนวปฏิบัติ (Practice)

คือผลที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนที่สมาชิกสามารถนำไปปฏิบัติในงานของตนได้จริง โดยทั่วไปแนวปฏิบัตินี้ได้มาจากการบันทึกโดยคุณลิขิต เป็นคลังความรู้ขององค์กรที่ได้จากการสังเคราะห์โดยชุมชนและจัดเก็บ/ปรับปรุง/ถ่ายทอดโดยชุมชนเอง


ชุมชนแนวปฏิบัติจะต้องมีองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้ครบถ้วนและสมดุล จึงจะสามารถดำรงอยู่และขับเคลื่อนการจัดการความรู้ให้กับองค์กรการขาดองค์ประกอบอันใดอันหนึ่งไปจะไม่สามารถสร้างชุมชนให้เกิดความยั่งยืนขึ้นได้ โดเมนที่ขาดแรงปรารถนาหรือเป็นหัวข้อที่ถูกสั่งลงมาจากผู้บริหารจะทำให้ชุมชนไร้พลังและขาดแรงจูงใจ ชุมชนที่ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างสมาชิก ขาดทรัพยากร หรือขาดคุณอำนวยที่เข้มแข็ง ก็จะแยกสลายและไม่สามารถรักษาความเป็นชุมชนไว้ได้ ชุมชนที่ไม่มีการบันทึกแนวปฏิบัติก็ไม่อาจสร้างและนำความรู้ใหม่ที่แลกเปลี่ยนกันไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในองค์กรได้ แม้ว่าชุมชนแนวปฏิบัติสามารถก่อตั้งขึ้นได้โดยง่าย การที่จะให้ชุมชนมีความยั่งยืน และนำความรู้มาใช้เพื่อพัฒนาองค์กร ถือเป็นความท้าทายและต้องอาศัยพลังกาย พลังใจของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการบรรลุประสิทธิผลของการจัดการความรู้ในองค์กร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์รวิน ระวิวงศ์
อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์