ความเป็นมา "ระบบคุณภาพภายนอก"
ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 47 กำหนดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วย ระบบการประกันคุณภาพภายใน (กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา -สกอ.) และระบบการประกันคุณภาพภายนอก (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.)
ดังนั้นมหาวิทยาลัยในฐานะเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งหนึ่งจึงต้องตอบสนองต่อพระราชบัญญัติการศึกษานี้ โดยมหาวิทยาลัยจะต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปีตามตัวบ่งชี้วัดที่ทั้ง สกอ. และ สมศ. กำหนดเสนอต่อองค์กรทั้งสองและมหาวิทยาลัยจะต้องรับการตรวจประเมินจากองค์กรทั้งสอง เพื่อรับรองคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย และเพื่อให้มหาวิทยาลัยมีการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง อันจะส่งผลต่อคุณภาพของบัณฑิตและผลผลิตของมหาวิทยาลัยโดยรวมต่อไป ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้บูรณาการการตอบสนองดังกล่าวนี้ใน"ระบบคุณภาพมหาวิทยาลัยมหิดล" ด้วยการบูรณาการตัวชี้วัดที่ต้องรายงานต่อ สกอ.และสมศ. ไว้ในมาตรฐานคุณภาพข้อที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังต้องตอบสนองต่อการรายงานผลการดำเนินงานในบริบทต่างๆ ต่อองค์กร/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎ/ระเบียบ/ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การรายงานผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ เสนอต่อ "สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)" (มหาวิทยาลัยไม่ต้องรายงานฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นมาหลังจากมหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ) การรายงานการควบคุมภายในเสนอต่อ "คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)" เป็นต้น