มหาวิทยาลัยมหิดลมีนโยบายที่จะมุ่งเน้นการเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-University) และมียุทธศาสตร์ที่สนับสนุนผลงานทางด้านสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ในการผลักดันการบริหารจัดการอาคารและพื้นที่โดยรอบภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับโลกยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ที่นำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการระบบต่าง ๆ ของอาคารและพื้นที่โดยรอบภายในมหาวิทยาลัยมหิดล อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร (Resource Efficiency) รวมทั้งสามารถให้ความรู้แก่ นักศึกษา บุคลากร บุคคลภายนอกที่สนใจเรียนรู้การบริหารจัดการอาคาร การดูแลพื้นที่โดยรอบอาคาร พื้นที่ส่วนกลาง เช่น ระบบบริหารจัดการการใช้พลังงานภายในอาคาร (Energy management) ระบบแสดงผลข้อมูลการใช้น้ำประปาของแต่ละอาคาร (Smart Digital Water Meter) ระบบแสดงปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้า (Automatic Meter Reading) ระบบตรวจวัดระดับน้ำในแหล่งน้ำ (Automatic Water Levels Measurement) ระบบรวบรวมข้อมูลส่วนกลาง (ECO Data Center) เป็นต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลมีการส่งเสริมให้แต่ละอาคารติดตั้งระบบ Smart buildingเพื่อการบริหารจัดการระบบต่าง ๆ ภายในอาคารและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 9 (Industry, Innovation and Infrastructure) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 11 (Sustainable Cities and Communities)
ระบบบริหารจัดการการใช้พลังงานภายในอาคาร (Energy management) เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าลง จากการกำหนดค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) ที่มีผลต่อการคำนวณค่าไฟฟ้ารวมรายเดือน ซึ่งจะขึ้น – ลง ตามการใช้งานระบบไฟฟ้าชั่วขณะทุก ๆ 15 นาที และนำค่าที่สูงสุดภายในเดือนนั้น ๆ มาเป็นฐานในการคำนวณค่าไฟฟ้ารายเดือน และยังสามารถบริหารจัดการ ควบคุมปริมาณการใช้งานระบบปรับอากาศ ซึ่งสัดส่วนการใช้พลังงานหลักอยู่ที่ระบบปรับอากาศร้อยละ 51.63 ระบบไฟฟ้าแสงสว่างร้อยละ 11.92 และระบบอื่น ๆ ร้อยละ 36.44 ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดของอาคาร การคำนวณค่าไฟฟ้าตามอัตราค่าไฟฟ้า TOU (Time of Use Rate – TOU) ที่กำหนดใช้ในปัจจุบันสะท้อนถึงต้นทุนไฟฟ้าอย่างแท้จริงกล่าวคือ ในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง On Peak ค่าไฟฟ้าจะสูง แต่ในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าต่ำ Off Peak ค่าไฟฟ้าจะต่ำ จากการบันทึกข้อมูลการพลังงานไฟฟ้าของอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล ตั้งแต่ปี 2560 – 2561 เพื่อนำมาเปรียบเทียบก่อน และหลังการทำโครงการ โปรแกรมจัดการพลังงานจะกำหนดค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (maximum electricity demand) : >500 kW หมายถึง เครื่องปรับอากาศจะได้รับการควบคุม โดยตัดวงจรไฟฟ้าในส่วนของคอมเพรสเซอร์ให้หยุดการทำงานเมื่อค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด >500 kW ชั่วขณะระหว่าง 3-5 นาที เพื่อควบคุม และลดค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) โดยจะยังคงระดับอุณหภูมิภายในห้องไว้ที่ 22-25 °C เมื่อติดตั้งพร้อมใช้งานได้เปรียบเทียบผลประหยัดพลังงานไฟฟ้าหลังจากติดตั้งโปรแกรมจัดการพลังงาน ในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน 2562 เป็นระยะเวลา 6 เดือนทำให้สามารถควบคุม และลดค่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) ได้กว่า 300 kW./เดือน หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ยร้อยละ 43.22 อีกทั้งยังลดค่าไฟฟ้าเป็นจำนวนเงิน 233,715.39 บาท/เดือน หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ยร้อยละ 37.76 ระยะเวลาคืนทุน (Payback Period) อยู่ที่ 14 เดือนโดยประมาณ การดำเนินโครงการนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 7 (Affordable and Clean Energy) เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายในอาคารอย่างยั่งยืน