วันที่ 28 ตุลาคม 2563 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร เข้าร่วมพิธีเปิดงาน Thailand LAB INTERNATIONAL 2020 & Bio Asia Pacific 2020 โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์พรชัย มาตังคสมบัติ ที่ปรึกษาคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมเป็นเกียรติภายในงาน ณ บริเวณ Bio Square ฮอลล์ EH 103 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
จากนั้น เป็นพิธีลงนามความร่วมมือในการขับเคลื่อน “โครงการ Mahidol-Amata Medi-Town” ภายใต้ความร่วมมือสามฝ่ายระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล อมตะคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และ คุณชัยรัตน์ แสงจันทร์ รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์และบริหารองค์กรและรักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS เป็นผู้แทนลงนามความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเมืองการแพทย์นานาชาติครบวงจรแห่งแรกในเขตพื้นที่ EEC ภายในพื้นที่อมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี
โครงการดังกล่าวนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการทางการแพทย์ในระดับสากล รวมถึงความร่วมมือด้านการผลิตยาและชิ้นส่วนการแพทย์ ด้านการศึกษาและวิจัย โดยเน้นการสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดมาตรฐาน โดยมีเป้าหมายเพื่อขึ้นเป็น World Class Medical Hub แห่งหนึ่งของโลก จะมีการประสานความร่วมมือร่วมกัน ในการเชิญชวนนักลงทุนด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ ยา เซลล์บำบัด วิทยาศาสตร์ชีวภาพ หน่วยวิจัยทางคลินิก และเครื่องมือแพทย์มาลงทุนในเขตอมตะซิตี้ ประสานและบริหารจัดการที่ปรึกษาต่างชาติ เพื่อมาให้ความเห็นต่อการวางผังเมืองการแพทย์ครบวงจร จัดตั้งกรรมการเพื่อส่งเสริมการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เพื่อเชื่อมโยงหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนในเขตพื้นที่ จ.ชลบุรี รวมถึง บริเวณใกล้เคียงเพื่อทำให้เกิดความสมบูรณ์ของเมืองการแพทย์ครบวงจร
ในโอกาสนี้ ยังมีการประกาศความร่วมมือการจัดตั้ง Thailand Life Science Cluster (TLSC) ร่วมกับ 26 หน่วยงาน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดคลัสเตอร์ที่ประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม Life Science ตามยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันวาระหรือสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างที่รองรับสำหรับอุตสาหกรรม Life Science ของประเทศ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ และศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เข้าร่วมอยู่ใน Cluster ดังกล่าว