ค่ารักษาพยาบาล

ค่ารักษาพยาบาลจ่ายได้ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย ดังนี้

1) กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 50,000 บาท
2) กรณีที่ค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาท ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มอีกไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(1) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของอวัยวะภายในหลายส่วน และต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข

(2) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่ง และต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข

(3) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะ และต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ

(4) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง หรือรากประสาท

(5) ประสบภาวะที่ต้องผ่าตัดต่ออวัยวะที่ยุ่งยากซึ่งต้องใช้วิธีจุลศัลยกรรม

(6) ประสบอันตรายจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ความร้อน ความเย็น สารเคมี รังสี ไฟฟ้าหรือระเบิด จนถึงขั้นสูญเสียผิวหนังลึกถึงหนังแท้ตั้งแต่ร้อยละ 25 ของพื้นที่ผิวของร่างกาย

(7) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นซึ่งรุนแรงหรือเรื้อรัง ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

3) กรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายเพิ่มอีกตามข้อ 2 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ โดยรวมค่ารักษาพยาบาลทั้งข้อ 1 และ 2 แล้วต้องไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(1) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ (1) ถึง (6) ตั้งแต่สองรายการขึ้นไป

(2) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ (1) ถึง (6) ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือต้องพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก หอผู้ป่วยวิกฤต หรือหอผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ตั้งแต่ 20 วันขึ้นไป

(3) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของระบบสมองหรือไขสันหลังที่จำเป็นต้องรักษาตั้งแต่ 30 วันติดต่อกัน

(4) การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นซึ่งรุนแรงหรือเรื้อรังตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

(ก)  เป็นผลให้อวัยวะสำคัญล้มเหลว

(ข)  กรณีอื่นนอกจาก (ก) ให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์

4) กรณีค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 1 - 3 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 500,000 บาท
5) กรณีค่ารักษาพยาบาลทุกกรณีไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้น โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวข้างต้นแล้ว ต้องไม่เกิน 1,000,000 บาท เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นที่เพิ่มขึ้นจนสิ้นสุดการรักษา แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท

(1) ลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ ตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษา

(2) ลูกจ้างมีความจำเป็นหรือมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรก แต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ

การจ่ายค่ารักษาพยาบาล ให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน

6) ในกรณีลูกจ้างเป็นผู้ป่วยในมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไป ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าว เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินวันละ 1,300 บาท
7) โดยในปัจจุบันใช้กฎกระทรวง ดังนี้

(1) กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2558 ฉบับลงวันที่ 30 มกราคม 2558 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558

(2) กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ฉบับลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 มีผลใช้บังคับกรณีไม่เกิน 2,000,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559

ค่าทดแทน

1.2.1 ค่าทดแทนกรณีไม่สามารถทำงานได้

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข

  1. จ่ายร้อยละ 70  ของค่าจ้างรายเดือน
  2. ลูกจ้างมีการหยุดพักรักษาตั้งแต่ 1 วัน รวมกันไม่เกิน  1  ปี
  3. มีใบรับรองแพทย์ระบุหยุดพักรักษาตัว
  4. ลูกจ้างหยุดพักรักษาตัวจริงตามใบรับรองแพทย์
  5. ค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดในปัจจุบัน =  20,000 x 70 %  =  14,000  บาท

ตัวอย่างการจ่ายค่าทดแทน

ตัวอย่างที่  1    ลูกจ้างได้รับเงินเดือน  เดือนละ  20,000  บาท  ใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว เป็นระยะเวลา  2  เดือน  ลูกจ้างหยุดงาน  2  เดือน

การคำนวณ 20,000 x 70% =  14,000  บาท
ลูกจ้างหยุดงาน  2  เดือน =  14,000 x 2
ลูกจ้างได้รับค่าทดแทนกรณีหยุดพักรักษาตัว  2  เดือน =  28,000  บาท

ตัวอย่างที่  2    ลูกจ้างได้รับเงินเดือน  เดือนละ  10,000  บาท  ใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวเป็นระยะเวลา  10  วัน  ลูกจ้างหยุดงาน  10  วัน

การคำนวณ 10,000 x 70% =  7,000  บาท
ลูกจ้างหยุดงาน  10  วัน =  7,000 x 10
         30
ลูกจ้างได้รับค่าทดแทนกรณีหยุดพักรักษาตัว  10  วัน =  2,333.30  บาท

ตัวอย่างที่  3    ลูกจ้างได้รับค่าจ้างวันละ  325  บาท  ใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาเป็นระยะเวลา  15  วัน  ลูกจ้างหยุดงาน  12  วัน

การคำนวณ (325 x 26) x 70% =  5,915  บาท
ลูกจ้างหยุดงาน  12  วัน  =  5,915 x 12
         30
ลูกจ้างได้รับค่าทดแทนกรณีหยุดพักรักษา  12  วัน =  2,366  บาท

ตัวอย่างที่  4    ลูกจ้างได้รับค่าจ้างวันละ  325  บาท  ใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาเป็นระยะเวลา  3  วัน  ลูกจ้างหยุดงาน  1  วัน

การคำนวณ (325 x 26) x 70% =  5,915  บาท
ลูกจ้างหยุดงาน  1  วัน  =  5,915 x 1
         30
ลูกจ้างได้รับค่าทดแทนกรณีหยุดพักรักษา  1  วัน =  197.15  บาท
1.2.2 ค่าทดแทนกรณีสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข

มีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี

การประเมินการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย ลูกจ้างต้องได้รับการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษาและอวัยวะคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตราย

เช่น ลูกจ้างแขนขาดระดับข้อศอกจะได้รับค่าทดแทนกรณีสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย = 120 เดือน หรือลูกจ้างมือขาดโดยนิ้วมือทั้ง 5 นิ้วขาด ตั้งแต่ระดับโคนนิ้วของทุกนิ้วขึ้นไปถึงข้อมือ จะได้รับค่าทดแทนกรณีสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย = 108 เดือน

ทั้งนี้ หากลูกจ้างมีการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย เมื่อสิ้นสุดการรักษาสามารถติดต่อเพื่อเข้ารับการประเมินการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาที่นายจ้างมีภูมิลำเนาหรือลูกจ้างทำงานอยู่

1.2.3 ค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข

มีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี

การประเมินการสูญเสียอวัยวะ ลูกจ้างต้องได้รับการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษา และอวัยวะคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตราย

ซึ่งกรณีทุพพลภาพเนื่องจากการทำงาน จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดการรักษาสามารถติดต่อเพื่อเข้ารับการประเมินการเป็นผู้ทุพพลภาพได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาที่นายจ้างมีภูมิลำเนาหรือลูกจ้างทำงานอยู่

1.2.4 ค่าทดแทนกรณีถึงแก่ความตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข

สูญหาย

หมายความว่า การที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างการทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าลูกจ้างถึงแก่ความตาย เพราะประสบเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างนั้น รวมตลอดถึงการที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างเดินทาง โดยพาหนะนั้นได้ประสบเหตุอันตรายและลูกจ้างถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุ

กรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน มีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลา 10 ปี จ่ายให้กับผู้มีสิทธิตามกฎหมาย

ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ได้แก่

  1. มารดา
  2. บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย
  3. สามีหรือภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย
  4. บุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
  5. บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่ยังศึกษาอยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่
  6. บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี และทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย
  7. บุตรของลูกจ้างซึ่งเกิดภายใน 310 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย หรือวันที่เกิดเหตุสูญหาย มีสิทธิรับเงินทดแทนนับแต่วันคลอด
  8. หากไม่มีบุคคลดังกล่าวข้างต้น ให้ผู้อยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายเป็นผู้มีสิทธิ แต่ผู้อยู่ในอุปการะดังกล่าวจะต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะจากลูกจ้างที่ตายหรือสูญหาย

หมายเหตุ  :  ผู้มีสิทธิทุกราย จะได้รับส่วนแบ่งเท่าๆ กัน

ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข

กรณีฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานภายหลังการประสบอันตราย สำหรับลูกจ้างที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ได้รับตามอัตรา ดังนี้

–   ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ โดยให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดำเนินการ ไม่เกิน 24,000 บาท

–   ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบำบัด ไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบำบัด ไม่เกินวันละ 100 บาท แต่รวมแล้ว ไม่เกิน 24,000 บาท

–   ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัด เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน 40,000 บาท หากมีความจำเป็นให้จ่ายเพิ่มได้อีกไม่เกิน 110,000 บาท โดยคณะกรรมการการแพทย์พิจารณา และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเห็นชอบ

–   ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกำหนด แต่รวมแล้วไม่เกิน 160,000 บาท

โดยกฎกระทรวงกำหนดการจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2558 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2558 และใช้บังคับรวมถึงลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ซึ่งอยู่ระหว่างเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานอยู่ในวันก่อนที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ โดยให้ใช้อัตราค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานตามกฎกระทรวงนี้นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไป

โดยลูกจ้างจะได้รับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน จะต้องเข้ารับการฟื้นฟูฯ ที่ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานสำนักงานประกันสังคมเท่านั้น ปัจจุบันมีศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานที่เปิดบริการแล้ว จำนวน 5 แห่ง คือ

–   ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 1 (จังหวัดปทุมธานี)

–   ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 2 (จังหวัดระยอง)

–   ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 3 (จังหวัดเชียงใหม่)

–   ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 4 (จังหวัดขอนแก่น)

–   ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 (จังหวัดสงขลา)

ค่าทำศพ

ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน ได้รับค่าทำศพ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยจ่ายให้ผู้จัดการศพ